ซื้อคอนโดแล้วโดนลอยแพ…. ทำยังไงดี
แต่รู้ไหมครับ… การจ่ายก่อนเห็นห้องจริงเนี่ย โอกาสที่เงินจะปลิวหายไปก็มีเหมือนกัน
ปัจจุบันปัญหาของการซื้อขายอสังหาริมทรัพย์มีทั้ง การโฆษณาเกินจริง คุณภาพไม่ได้มาตรฐาน และ "โครงการอสังหาฯ สร้างไม่เสร็จ ไม่มีการดำเนินการต่อ"
ในส่วนของปัญหา "โครงการอสังหาฯ สร้างไม่เสร็จ ไม่มีการดำเนินการต่อ" นั้น หากมีการทำสัญญามาตรฐานระหว่างผู้ซื้อและผู้ขายก็จะลดปัญหาในส่วนนี้ไปได้ซึ่งสัญญานี้จะเป็นหลักประกันให้ได้ว่า หากเกิดปัญหาขึ้น ทางโครงการจะมีทางออกให้ผู้บริโภคอย่างไร
สัญญามาตรฐานคืออะไรล่ะ
สัญญามาตรฐาน คือ
"สัญญาที่มีคำมั่นว่าจะดำเนินการก่อสร้างอาคารชุดให้แล้วเสร็จ ระบุให้ผู้ซื้อมีสิทธิบอกเลิกสัญญาได้ และยังมีสิทธิเรียกเงินที่ชำระไปแล้วคืนได้พร้อมดอกเบี้ยปรับ หากผู้ขายหรือผู้ประกอบธุรกิจไม่สามารถดำเนินโครงการอาคารชุดให้แล้วเสร็จภายในกำหนดสัญญา"
หรือผู้ซื้อคาดหมายได้ว่าจะไม่แล้วเสร็จภายในระยะเวลาที่กำหนด
หรือผู้ซื้อเห็นว่าผู้ประกอบธุรกิจไม่อาจปฏิบัติตามสัญญาต่อไปได้
ผู้ซื้อมีสิทธิที่จะบอกเลิกสัญญาได้ และยังให้สิทธิผู้ซื้อดำเนินคดีตามกฎหมายได้ด้วย
แล้ว.. ถ้าเราถูกลอยแพล่ะ?
หากโครงการที่เราซื้อไว้หยุดชะงัก สร้างไม่เสร็จ ตามกำหนดการ และไม่มีแววว่าจะดำเนินการต่อ ให้ลองตรวจสอบสัญญาดูว่าครบกำหนดสัญญาแล้วหรือไม่ หากครบแล้ว เราสามารถเรียกคืนค่าเสียหายได้ดังนี้
1. ทำหนังสือเป็นลายลักษณ์อักษรถึงผู้ประกอบการหรือคู่กรณี เพื่อให้แก้ไขปัญหาที่เกิดขึ้น หากมีการแก้ไขปัญหาจนผู้บริโภคพอใจแล้ว ก็จะถือว่าปัญหานั้นสิ้นสุดลงแล้ว
2. ร้องเรียนต่อหน่วยงานที่เกี่ยวข้องทั้งรัฐและเอกชน ตลอดจนองค์กรวิชาชีพต่างๆ เช่น สำนักงานคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค (สคบ.) และศูนย์พิทักษ์สิทธิผู้บริโภค โดยยื่นหลักฐานเอกสารต่างๆ เช่น ใบเสร็จ ใบโฆษณา เอกสารการทำสัญญา เพื่อเข้าสู่มาตรการเจรจาไกล่เกลี่ย และหาข้อยุติในการแก้ไขปัญหากับคู่กรณี หากได้รับการตอบรับที่ดี กรณีนั้นๆ ก็ถือว่าสิ้นสุดเช่นเดียวกัน
3. การรวมกลุ่มของผู้เสียหาย เพื่อรณรงค์และผลักดันให้เกิดการแก้ไขปัญหา
4. การฟ้องผู้บริโภค หรือการให้ข่าวต่อสาธารณะชนหรือการร้องเรียนกับสื่อมวลชน เพื่อเผยแพร่ในที่สาธารณะ
5. ฟ้องศาลเป็นคดีผู้บริโภค เพื่อเรียกร้องให้ผู้ประกอบการชดเชยค่าเสียหาย
ก่อนซื้อคอนโดทำยังไงให้ไม่โดนลอยแพ?
ทางรศ.สิริวัฒน์ ไชยชนะ เลขาธิการวิศวกรรมสถานแห่งประเทศไทย(วสท.) ได้พูดถึงหลักการพิจารณาก่อนการซื้อโครงการอสังหาริมทรัพย์ไว้ดังนี้
"1. อันดับแรก ผมยังเชื่อว่าแบรนด์ของบริษัทเจ้าของโครงการ ก็มีส่วนในการตัดสินใจและน่าเชื่อถือได้ถึง 50%
2. ก่อนตัดสินใจซื้อ ก็ควรจะไปดูโครงการจริง ประเมินด้วยสายตาว่า โครงสร้างเกิดการร้าวทรุดแตกจุดไหนหรือไม่
3. หากเป็นไปได้ ก็ควรจะพาผู้ที่มีความรู้ความเชี่ยวชาญด้านวิศวกรรมการก่อสร้าง เพื่อตรวจสอบมาตรฐานของโครงสร้างในเบื้องต้น ก่อนตัดสินใจ
4. หากเป็นไปได้ก็ซื้อโครงการที่สร้างเสร็จแล้ว หรือควรเลือกซื้อโครงการที่ก่อสร้างงานวิศวกรรมและงานสถาปัตยกรรมเสร็จแล้ว โอกาสที่จะโดนปล่อยลอยแพก็น้อย"
อีกทั้ง ทางสำนักคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค และศูนย์พิทักษ์สิทธิผู้บริโภค มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค ได้เสนอแนะว่า
"1. ก่อนที่ผู้บริโภคจะตัดสินใจวางเงินจอง เงินมัดจำ เงินดาวน์ และทำสัญญาจะซื้อจะขาย ควรตรวจสอบรายละเอียดเกี่ยวกับผู้ประกอบธุรกิจ หรือเจ้าของโครงการให้ถูกต้องชัดเจนว่า ผู้ประกอบธุรกิจเคยถูกร้องเรียนมาแล้วหรือไม่
2. ชื่อและที่อยู่ของผู้ประกอบธุรกิจ ถ้าเป็นนิติบุคคล ควรตรวจสอบว่าได้จดทะเบียนเป็นบริษัท หรือห้างหุ้นส่วนจำกัดถูกต้องหรือไม่
3. มีทุนจดทะเบียนเท่าไร ทุนที่ชำระแล้วเท่าไร ใครเป็นกรรมการผู้จัดการ หรือกรรมการผู้มีอำนาจลงนามผูกพันบริษัท
4. ที่ดินที่ตั้งโครงการมีโฉนดถูกต้องหรือไม่ ตรวจเลขที่โฉนด ใครเป็นผู้มีชื่อในโฉนดที่ดิน ได้รับอนุญาตให้จัดสรรที่ดินหรือยัง
5. ผู้ประกอบธุรกิจหรือเจ้าของโครงการได้รับอนุญาตก่อสร้างถูกต้องหรือไม่ และที่สำคัญ
6. สัญญาที่คุณกำลังจะเซ็นนั้น เป็นสัญญามาตรฐานหรือไม่"
"ดังนั้น ผู้บริโภคอย่าตัดสินใจซื้อบ้าน โดยเชื่อจากคำโฆษณาเพียงอย่างเดียว และควรต้องเก็บเอกสารคำโฆษณา และเอกสารอื่นๆ ที่เกี่ยวข้องกับโครงการเอาไว้ เพื่อใช้เป็นหลักฐานในการดำเนินคดีกับผู้ประกอบธุรกิจ ในกรณีที่ถูกเอารัดเอาเปรียบและโดนละเมิดสิทธิ"
ผู้เขียน: อ๋อม
เรียบเรียงจาก: ไทยรัฐออนไลน์, Pantip.com