ลงทุนกับคอนโดใกล้รถไฟฟ้านอกเมือง
การขยายจำนวนของสถานีรถไฟฟ้าฝั่งชานเมืองตามแผนพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานของรัฐบาล ทำให้เกิดพื้นที่สำหรับการพัฒนาโครงการอสังหาริมทรัพย์เพิ่มขึ้นอย่างมากมาย อย่างที่ไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อนในประเทศไทย
เหตุการณ์ดังกล่าวทำให้เกิดการเพิ่มจำนวนของที่อยู่อาศัยประเภทคอนโดมิเนียมจำนวนมาก ซึ่งแต่ละโครงการมีพื้นที่ห้องเริ่มต้นที่ประมาณ 21 ตารางเมตร จนถึง 50 ตารางเมตร จำนวนยูนิตต่อโครงการก็มากถึง 750 ยูนิตขึ้นไป บางโครงการมีห้องชุดรวมกันกว่า 2,000 ยูนิต
เหตุการณ์ดังกล่าวนำมาถึงคำถามที่ว่า ตลาดที่อยู่อาศัยเกิดฟองสบู่แล้วหรือยัง เรายังลงทุนในคอนโดมิเนียมได้หรือไม่
ก่อนตอบคำถามดังกล่าวขอเล่าถึงการขยายตัวของรถไฟฟ้าและเหตุการณ์ที่ตามมาของส่วนต่อขยายเส้นแบริ่ง จากสถานีอ่อนนุช ได้แก่สถานี บางจาก ปุณณวิถี อุดมสุข บางนา และ แบริ่ง การเพิ่มของสถานีรถไฟฟ้า 5 สถานีเปิดพื้นที่ให้เกิดโครงการคอนโดมิเนียมตลอดแนวถนนสุขุมวิทจนถึงซอยแบริ่งกว่า 30 โครงการ
ในช่วงแรกของการรับข่าวการขยาย นักลงทุนแห่กันจองสิทธิ์ซื้อห้องชุดเป็นจำนวนมาก การเก็งกำไร การขายใบจองเกิดขึ้นอย่างน่าตื่นเต้น แน่นอนว่าคนที่ทำกำไรได้ก็สร้างกระแสถือโอกาสในการลงทุน เพื่อดึงให้เกิดกระแสตื่นตัวขึ้นไปอีก
กระแสความต้องการอย่างล้นหลามทำให้นักพัฒนาโครงการทั้งในและนอกตลาดกระโดดเข้ามาเปิดโครงการกันอย่างมากมาย ใบจองเริ่มขายไม่ได้ การขายก็เริ่มไม่ได้กำไร แถมนักเก็งกำไรยังต้องเสี่ยงกับการโดนบังคับโอนเมื่อโครงการสร้างเสร็จ ปริมาณห้องชุดพักอาศัยล้นตลาด ในเวลานั้นการก่อสร้างรถไฟฟ้ายังไม่เสร็จและเลื่อนกำหนดการเปิดเดินรถออกไปอีก หลายโครงการต้องปิดตัวลงและปัจจุบันเห็นซากของห้องตัวอย่างที่ปิดตัวไป โครงการถูกขายจนปัจจุบัน ในเวลานั้นเราสามารถเข้าใจสถานการณ์ได้อย่างง่ายดายว่า ตลาดชะลอตัวและเกิดสภาวะฟองสบู่ในพื้นที่ดังกล่าวอย่างชัดเจน
อย่างไรก็ดี เมื่อรถไฟฟ้าเริ่มให้บริการหลังจากเลื่อนกำหนดการหลายครั้ง กลุ่มผู้อยู่อาศัยจริงเริ่มเข้ามาดูดซับปริมาณห้องชุดจากนักลงทุนในรูปของการเข้าอยู่อาศัยหรือเช่าห้องพักจากทั้งชาวไทยและชาวต่างชาติ ปัจจุบันสถานการณ์ฟองสบู่และการชะลอตัวเริ่มคลี่คลาย เนื่องจากการเข้ามาของ อุปสงค์ ราคาห้องชุดต่อตารางเมตรปรับตัวสูงขึ้น ถ้านับจากวันแรกจนถึงปัจจุบันราคานับว่าปรับตัวสูงขึ้นจากประมาณ 60,000 บาทต่อตารางเมตร มาถึง 90,000 บาทโดยเฉลี่ย โดยบางโครงการมีราคาขายอยู่ที่ 120,000 บาทด้วยซ้ำไป จึงเห็นได้ว่านักลงทุนที่สามารถประคองตัวอยู่รอดจนผ่านพ้นช่วงดังกล่าวก็สามารถทำกำไรได้อย่างน่าพอใจ หากแต่บางคนที่ต้องทิ้งเงินดาวน์และขายห้องชุดออกไปในราคาต่ำก็ต้องเจ็บตัวกันไป
วันนี้เรากำลังจะได้เห็นเหตุการณ์ดังกล่าวเกิดขึ้นอีกครั้ง หากแต่ไม่ใช่เกิดขึ้นจากการขยายตัวของรถไฟฟ้าสายเดียว แต่เป็นหลายๆ สาย ทั้งทิศตะวันตก ทิศเหนือ ทิศตะวันออกเฉียงเหนือ ทิศตะวันตกเฉียงเหนือ นับรวมสถานีใหม่กว่า 100 สถานี
อย่างไรก็ดี ไม่ได้หมายความว่านักลงทุนทุกคนจะขาดทุนกันหมด เพราะปัจจุบันก็มีคนที่สามารถทำกำไรจากเหตุการณ์ดังกล่าวได้เป็นจำนวนมาก หากเขามีความเข้าใจในจังหวะ เวลา และความเหมาะสมของราคาในการลงทุน หากมองในภาพกว้างสำหรับประเทศไทย การพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน โดยเฉพาะระบบขนส่งทางราบ จะนำประโยชน์กับประเทศในระยะยาวอย่างแน่นอน หลังจากรถไฟฟ้าสร้างเสร็จเปิดดำเนินการ การปรับตัวของอุปสงค์ และ อุปทาน จะเกิดขึ้น และเมื่อเกิดความสมดุล สภาวะชะลอตัวของตลาดอสังหาริมทรัพย์ที่คนกังวลอยู่ก็จะผ่อนคลายลง
โดยสภาวะฟองสบู่และตามมาด้วยการชะลอตัวของตลาด ก็จะย้ายไปยังพื้นที่อื่นต่อไปเป็นวัฏจักร หากแต่คราวนี้จำนวนสถานีรถไฟฟ้า และพื้นที่เปิดใหม่เพิ่มขึ้นมากกว่าเดิมถึง กว่า 20 เท่า
จากใจ
ZmyHome
ฝากกดแชร์เป็นกำลังใจให้ด้วยครับ