ตั้งราคาขายบ้านยังไงให้ได้ราคาดี และขายได้เมื่อต้องการ
1. เลือกบ้านหรือคอนโดที่เป็นตัวเปรียบเทียบที่คล้ายคลึงกับบ้านของคุณที่สุด โดยคุณสามารถเริ่มต้นได้จากเว็บไซต์ที่เชื่อถือได้ เลือกดูประกาศที่เพิ่งประกาศได้ไม่นาน ทั้งในโครงการเดียวกันกับของคุณและโครงการใกล้เคียง 4-5 แห่ง (เลือกโครงการหรือบ้านที่มีเหมาะสมกับผู้ซื้อกลุ่มเดียวกันกับบ้านของคุณ) ถ้าโครงการของคุณเป็นโครงการระดับกลาง ก็ไม่ควรเปรียบเทียบกับโครงการระดับบน
2. ศึกษารายละเอียดของบ้านหรือห้องชุดที่เป็นตัวเปรียบเทียบให้ครบถ้วน ทั้งลักษณะและราคารวมภาษีที่ผู้ซื้อจะต้องจ่าย (ค่าใช้จ่ายที่ผู้ซื้อจะต้องจ่ายทั้งหมด) ลักษณะของบ้านหรือคอนโดที่ต้องดูอย่างมาก ประกอบด้วย ระยะห่างจากรถไฟฟ้า สภาพแวดล้อม ปีที่สร้างเสร็จ ชั้น ทิศ จำนวนห้องนอน ลักษณะพื้นที่ใช้สอย จุดเด่นพิเศษ และความเก่าใหม่ คุณอาจทำตารางเปรียบเทียบ โดยใส่ข้อมูลปัจจัยทั้งหมดนี้ให้ครบถ้วน และให้คะแนนถ่วงน้ำหนักปัจจัยต่าง ๆ จะให้ดีควรโทรสอบถามด้วยว่าทรัพย์สินที่เราเปรียบเทียบนั้นยังขายอยู่หรือไม่ ราคายังยืนยันตามนั้นหรือเปล่า และขายมานานหรือยัง
3. สอบถามราคาจากนิติบุคคลหรือนายหน้าที่ชำนาญในพื้นที่ เพราะนิติบุคคลมักจะพอทราบราคาของบ้านหรือห้องชุดที่เพิ่งมีการซิ้อขายหรือกำลังประกาศขายบ้าง โดยพวกเขาอาจสามารถให้ความเห็นได้ว่าราคาที่เหมาะสมสำหรับบ้านหรือคอนโดของเราอยู่ที่ประมาณเท่าไหร่ พยายามคุยกับทั้ง 4-5 โครงการที่เราเปรียบเทียบและขอดูทรัพย์สินที่ประกาศขายถ้าทำได้ อย่าลืมถามด้วยว่า โดยปกติแล้วมีคนเข้ามาหาซื้อในโครงการนั้น ๆ บ่อยแค่ไหน ราคาที่กำหนดนี้น่าจะใช้เวลานานแค่ไหนถึงจะขายได้ และที่สำคัญที่สุดห้องชุดที่ขายได้ล่าสุดขายได้ราคาประมาณเท่าไหร่ และมีจุดเด่นอะไรที่ทำให้ห้องชุดนั้นขายได้และห้องชุดนั้น ๆ ประกาศขายไว้นานเท่าไหร่
4. ว่าจ้างผู้ประเมินราคาทรัพย์สิน ถ้าคุณไม่อยากใช้เวลากับการหาข้อมูลดังกล่าวข้างต้น คุณอาจว่าจ้างบริษัทประเมินราคาทรัพย์สินให้ช่วยประเมินราคาบ้านหรือคอนโดของคุณ โดยอาจเลือกใช้บริษัทที่เคยประเมินให้คุณเมื่อตอนขอเงินกู้เพื่อซื้อบ้าน หรือบริษัทที่รับรองโดย กลต. โดยค่าใช้จ่ายอาจอยู่ในช่วงประมาณ 10,000-20,000 บาท
5. หาข้อมูลบนเว็บไซต์ ZmyHome เนื่องจาก ZmyHome เห็นความสำคัญเรื่องการศึกษาตลาดและเปรียบเทียบราคา จึงพยายามให้การลงประกาศบนเว็บไซต์มีมาตรฐานเพื่อให้ทั้งผู้ซื้อผู้ขาย เข้าใจราคาตลาดได้ง่ายขึ้น และได้รับข้อมูลครบถ้วนในการพิจารณาราคา โดยประกาศบนเว็บไซต์จะให้ผู้ขายรับผิดชอบค่าใช้จ่ายด้านภาษีเหมือนๆ กัน นอกจากนี้เรายังรวบรวมข้อมูลประกาศในโครงการเดียวกันให้อยู่ในรูปตาราง แสดงจำนวนวันในประกาศ และจำนวนคนที่ติดต่อเจ้าของบ้าน ซึ่งข้อมูลเหล่านี้จะช่วยให้คุณเห็นได้ว่าราคาระดับไหนเป็นที่สนใจของผู้ซื้อ
6. เผื่อเวลาประกาศขายไว้แต่เนิ่น ๆ เพื่อให้เราได้มีโอกาสศึกษาตลาดและปรับราคาให้เหมาะสม โดยเราสามารถตั้งราคาเผื่อจากที่คิดว่าเหมาะสมได้ และดูผลตอบรับว่ามีผู้ซื้อสนใจมากน้อยเพียงใด ในต่างประเทศที่ตลาดซื้อขายบ้านมีสภาพคล่องสูงกว่าประเทศไทย (ใช้เวลาขายบ้านเพียง 1-3 เดือน) รัฐบาลจะกำหนดให้มีการเปิดเผยราคาซื้อขายบ้านต่อสาธารณะ เช่น หนังสือพิมพ์ท้องถิ่น หรือมีแหล่งอ้างอิงที่ผู้ซื้อและผู้ขาย หรือนายหน้าที่มีใบอนุญาตประกอบวิชาชีพสามารถเข้าถึงได้ FHFA’s House Price Calculator ของอเมริกาจะมีโปรแกรมช่วยคำนวณราคาขายบ้านของคุณได้ หากคุณให้ข้อมูลราคาซื้อบ้านของคุณกับระบบเมื่อคุณซื้อบ้าน หรือถ้าคุณใช้บริการนายหน้าคุณสามารถขอรายงานเปรียบเทียบราคาบ้าน (Comparative Market Analysis : CMA) ซึ่งรายงานนี้จะมีราคาซื้อขายบ้านย้อนหลังให้ผู้ขายได้ประเมินราคาที่เหมาะสม โดยผู้ซื้อไม่จำเป็นต้องใช้นายหน้ารายนั้นก็ได้ เพราะ CMA เป็นข้อมูลที่ตัวแทนสามารถเข้าถึงข้อมูลนี้ได้ไม่ยากและคุณยังสามารถขอข้อมูลได้จากนายหน้าหลาย ๆ รายอีกด้วย (อ้างอิงจากเว็บไซต์ forsalebyowner.com)
อย่างไรก็ตามระบบต่างๆ เหล่านี้ยังไม่มีในเมืองไทย ทั้ง ๆ ที่การตัดสินใจซื้อขายบ้านเป็นการตัดสินใจครั้งสำคัญของคนส่วนใหญ่ ซึ่ง ZmyHome อยากเสนอให้รัฐเห็นความสำคัญกับการให้ข้อมูลต่าง ๆ เหล่านี้ เพื่อพัฒนาตลาดอสังหาริมทรัพย์ของเมืองไทยครับ
ขอให้ทุกคนโชคดีในการขายบ้านนะครับ
จากใจ
ZmyHome
ฝากกดแชร์เป็นกำลังใจให้ด้วยครับ