• 20 ส.ค. 2562

"พ.ร.บ.ภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง"ใหม่ เริ่มใช้ 1 ม.ค.63 อะไรบ้าง? ที่เจ้าของบ้านต้องรู้

          พ.ร.บ.ภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง พ.ศ.2562 จะเริ่มบังคับใช้จริงในวันที่ 1 ม.ค.2563 ที่จะถึงนี้ ทดแทนการเก็บภาษีโรงเรือนและภาษีบำรุงท้องที่ที่เคยเรียกเก็บกันมานาน เจ้าของบ้าน เจ้าของที่ดิน จะได้รับผลกระทบอย่างไร ZmyHome.com สรุปมาให้เข้าใจง่าย ๆ ที่นี่ครับ

          "ภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง" ได้รับการประกาศในราชกิจจานุเบกษาเมื่อเดือนมีนาคมที่ผ่านมา เพื่อนํามาใช้แทน "ภาษีโรงเรือนและที่ดิน" ตามพระราชบัญญัติภาษีโรงเรือนและที่ดิน พ.ศ. 2475 และ "ภาษีบํารุงท้องที่" ตามพระราชบัญญัติภาษีบํารุงท้องที่ พ.ศ. 2508 เพื่อไม่ให้ซ้ำซ้อนกัน โดยรายได้จากการจัดเก็บภาษีที่ดินฯ ทั้งหมดจะเป็นขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) เพื่อนําไปใช้พัฒนาท้องถิ่น โดยไม่ต้องนําส่งเป็นรายได้แก่รัฐบาลส่วนกลาง

          ผู้เสียภาษีที่ดินฯ ได้แก่ บุคคลธรรมดา หรือนิติบุคคลที่เป็นเจ้าของ ที่ดิน สิ่งปลูกสร้าง ห้องชุด หรือผู้ครอบครอง/ทําประโยชน์ในที่ดินหรือสิ่งปลูกสร้างที่เป็นทรัพย์สินของรัฐ
.
          การคำนวณภาษี จะใช้คำนวณแบบขั้นบันไดตามฐานภาษีแต่ละขั้น โดยใช้สูตร "มูลค่าของฐานภาษี x อัตราภาษี = ค่าภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง" มูลค่าของฐานภาษี หาได้จากมูลค่าทั้งหมดของที่ดิน สิ่งปลูกสร้างและห้องชุด โดยคํานวณจากราคาประเมินของกรมธนารักษ์ ซึ่งจะประกาศใหม่ทุก 4 ปี และก็ตรงกับปี 2563 ที่จะถึงนี้เช่นกัน

          พ.ร.บ.ฉบับนี้ ได้ให้สิทธิประโยชน์กับ"บุคคลธรรมดา"ที่เป็นเจ้าของที่ดินหรือสิ่งปลูกสร้าง ให้หักมูลค่าของฐานภาษีที่ได้รับยกเว้นได้ดังต่อไปนี้:-
  • ถ้าบุคคลฯ ใช้ในการประกอบเกษตรกรรม ได้รับการยกเว้นภาษีที่ดินฯ ใน 3 ปีแรก (2563-2565) และได้สิทธิหักมูลค่าฐานภาษี 50 ล้านบาท
  • ถ้าบุคคลธรรมดา เป็นเจ้าของ"บ้านหลังแรกและที่ดิน" ที่มีชื่อในทะเบียนบ้าน ได้สิทธิหักมูลค่าฐานภาษี 50 ล้านบาท
  • ถ้าบุคคลธรรมดา เป็นเจ้าของ"เฉพาะบ้านหลังแรก" ที่มีชื่อในทะเบียนบ้าน ได้สิทธิหักมูลค่าฐานภาษี 10 ล้านบาท
          เช่น หากเราเป็นเจ้าของบ้านหลังแรกและที่ดินราคาประเมินรวม 55 ล้านบาท มูลค่าฐานภาษีที่เราจะให้คำนวณภาษีที่ดินฯ จะเท่ากับ 55 - 50 = 5 ล้านบาท

          อัตราภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง จะแบ่งตามประเภทการใช้งานเป็น 4 ประเภท คือ
  1. การเกษตรกรรม เช่น ไร่นา สวนผลไม้ ฟาร์มปศุสัตว์ อัตราภาษีสูงสุดไม่เกิน 0.15% ของฐานภาษี
  2. ที่อยู่อาศัย เช่น บ้านพร้อมที่ดิน คอนโดมิเนียม อัตราภาษีสูงสุดไม่เกิน 0.3% ของฐานภาษี
  3. ประเภทอื่น ๆ คือ ที่ดินที่ใช้เพื่อวัตถุประสงค์ที่ไม่ใช่เพื่อการเกษตรกรรมและอยู่อาศัย อาจใช้งานเชิงพาณิชย์ อุตสาหกรรม ปล่อยเช่า หรืออื่น ๆ ที่ไม่ใช่เพื่ออยู่อาศัย อัตราภาษีสูงสุดไม่เกิน 1.2% ของฐานภาษี
  4. รกร้างว่างเปล่า ประเภทนี้เสียภาษีแพงที่สุด เพราะถือว่าไม่ได้มีการพัฒนาหรือใช้ประโยชน์ใด ๆ อัตราภาษีจะจัดเก็บเท่ากับประเภทอื่น ๆ แต่หากทิ้งร้างไว้ต่อไป ทุก ๆ 3 ปีจะเพิ่มอัตราภาษีขึ้นอีก 0.3% โดยมีอัตราภาษีสูงสุดไม่เกิน 3% ของฐานภาษี ซึ่งจะทำให้นักลงทุนที่ดินเพื่อเก็งกำไร เป็นกลุ่มได้รับผลกระทบจากพ.ร.บ.ฉบับนี้มากที่สุด
          อัตราภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้างในแต่ละประเภทการใช้งาน มีอัตราเป็นขั้นบันไดดังนี้


          1. ที่ดินหรือสิ่งปลูกสร้างที่ใช้ประโยชน์ในการประกอบเกษตรกรรม อัตราเสียภาษีในช่วง 2 ปีแรก ให้ใช้อัตราภาษีตามมูลค่าของฐานภาษี หลังจากหักส่วนที่ได้รับยกเว้นตามมาตรา ๔๐ แล้ว ดังนี้
  • ส่วนที่ไม่เกิน 75 ล้านบาท อัตราภาษีต่อปี 0.01% = ล้านละ 100 บาท
  • ส่วนที่เกิน 75 แต่ไม่เกิน 100 ล้านบาท อัตราภาษีต่อปี 0.03% = ล้านละ 300 บาท
  • ส่วนที่เกิน 100 แต่ไม่เกิน 500 ล้านบาท อัตราภาษีต่อปี 0.05% = ล้านละ 500 บาท
  • ส่วนที่เกิน 500 แต่ไม่เกิน 1,000 ล้านบาท อัตราภาษีต่อปี 0.07% = ล้านละ 700 บาท
  • ส่วนที่เกิน 1,000 ล้านบาท อัตราภาษีต่อปี 0.10% = ล้านละ 1,000 บาท
          2. ที่ดินและสิ่งปลูกสร้างที่เจ้าของซึ่งเป็นบุคคลธรรมดาใช้เป็นที่อยู่อาศัยและมีชื่ออยู่ในทะเบียนบ้าน ให้ใช้อัตราภาษีตามมูลค่าของฐานภาษี หลังจากหักส่วนที่ได้รับยกเว้น 50 ล้านบาท ตามมาตรา ๔๑ แล้ว ดังนี้
  • ส่วนที่ไม่เกิน 25 ล้านบาท อัตราภาษีต่อปี 0.03% = ล้านละ 300 บาท
  • ส่วนที่เกิน 25 แต่ไม่เกิน 50 ล้านบาท อัตราภาษีต่อปี 0.05% = ล้านละ 500 บาท
  • ส่วนที่เกิน 50 ล้านบาทขึ้นไป อัตราภาษีต่อปี 0.10% = ล้านละ 1,000 บาท
          3. สิ่งปลูกสร้างที่เจ้าของซึ่งเป็นบุคคลธรรมดาใช้เป็นที่อยู่อาศัยและมีชื่ออยู่ในทะเบียนบ้าน ให้ใช้อัตราภาษีตามมูลค่าของฐานภาษี หลังจากหักส่วนที่ได้รับยกเว้น 10 ล้านบาท ตามมาตรา ๔๑ แล้ว ดังนี้
  • ส่วนที่ไม่เกิน 40 ล้านบาท อัตราภาษีต่อปี 0.02% = ล้านละ 200 บาท
  • ส่วนที่เกิน 40 แต่ไม่เกิน 65 ล้านบาท อัตราภาษีต่อปี 0.03% = ล้านละ 300 บาท
  • ส่วนที่เกิน 65 แต่ไม่เกิน 90 ล้านบาท อัตราภาษีต่อปี 0.05% = ล้านละ 500 บาท
  • ส่วนที่เกิน 90 ล้านบาทขึ้นไป อัตราภาษีต่อปี 0.10% = ล้านละ 1,000 บาท
          4. ที่ดินหรือสิ่งปลูกสร้างที่ใช้ประโยชน์เป็นที่อยู่อาศัยกรณีอื่นนอกจากการใช้ประโยชน์เป็น
ที่อยู่อาศัยตาม (2) และ (3)
 ให้ใช้อัตราภาษีตามมูลค่าของฐานภาษี ดังนี้
  • มูลค่าของฐานภาษีไม่เกิน 50 ล้านบาท อัตราภาษีต่อปี 0.02% = ล้านละ 200 บาท
  • ส่วนที่เกิน 50 แต่ไม่เกิน 75 ล้านบาท อัตราภาษีต่อปี 0.03% = ล้านละ 300 บาท
  • ส่วนที่เกิน 75 แต่ไม่เกิน 100 ล้านบาท อัตราภาษีต่อปี 0.05% = ล้านละ 500 บาท
  • ส่วนที่เกิน 100 ล้านบาทขึ้นไป อัตราภาษีต่อปี 0.10% = ล้านละ 1,000 บาท
          5. ที่ดินหรือสิ่งปลูกสร้างที่ใช้ประโยชน์อื่นนอกจากการประกอบเกษตรกรรมและเป็นที่อยู่อาศัย ให้ใช้อัตราภาษีตามมูลค่าของฐานภาษี ดังนี้
  • มูลค่าของฐานภาษีไม่เกิน 50 ล้านบาท อัตราภาษีต่อปี 0.3% = ล้านละ 3,000 บาท
  • เกิน 50 แต่ไม่เกิน 200 ล้านบาท อัตราภาษีต่อปี 0.4% = ล้านละ 4,000 บาท
  • เกิน 200 แต่ไม่เกิน 1,000 ล้านบาท อัตราภาษีต่อปี 0.5% = ล้านละ 5,000 บาท
  • เกิน 1,000 แต่ไม่เกิน 5,000 ล้านบาท อัตราภาษีต่อปี 0.6% = ล้านละ 6,000 บาท
  • เกิน 5,000 ล้านบาทขึ้นไป อัตราภาษีต่อปี 0.7% = ล้านละ 7,000 บาท
          6. ที่ดินหรือสิ่งปลูกสร้างที่ทิ้งไว้ว่างเปล่าหรือไม่ได้ทำประโยชน์ตามควรแก่สภาพ ให้ใช้อัตราภาษีตามมูลค่าของฐานภาษี ดังนี้
  • มูลค่าของฐานภาษีไม่เกิน 50 ล้านบาท อัตราภาษีต่อปี 0.3% = ล้านละ 3,000 บาท
  • เกิน 50 แต่ไม่เกิน 200 ล้านบาท อัตราภาษีต่อปี 0.4% = ล้านละ 4,000 บาท
  • เกิน 200 แต่ไม่เกิน 1,000 ล้านบาท อัตราภาษีต่อปี 0.5% = ล้านละ 5,000 บาท
  • เกิน 1,000 แต่ไม่เกิน 5,000 ล้านบาท อัตราภาษีต่อปี 0.6% = ล้านละ 6,000 บาท
  • เกิน 5,000 ล้านบาทขึ้นไป อัตราภาษีต่อปี 0.7% = ล้านละ 7,000 บาท
          ในช่วง 3 ปีแรก (2563-2565) เพื่อเป็นการบรรเทาการชำระภาษี พ.ร.บ.ให้ยกเว้นการจัดเก็บภาษีสำหรับที่ดินเกษตรกรรมตามที่บอกไว้ข้างบน ส่วนเจ้าของที่อยู่อาศัยหรือที่ดินประเภทอื่น พ.ร.บ.ก็ช่วยในกรณีได้รับการประเมินภาษีในจำนวนที่สูงกว่าภาษีโรงเรือนและที่ดินหรือภาษีบำรุงท้องที่ที่ต้องเสียหรือพึงชำระในปีก่อน โดยให้ชำระภาษีตามปีก่อน เหลือจำนวนภาษีใหม่เท่าใด ให้ชำระเพิ่ม 25% ของจำนวนภาษีที่เหลือในปีที่ 1, 50% ในปีที่ 2 และ 75% ในปีที่ 3 ตามลำดับ 

          ส่วนเจ้าของบ้านที่รู้สึกว่าการคำนวณภาษีเป็นเรื่องยาก อยากบอกว่าไม่ต้องกังวลครับ เพราะเป็นหน้าที่ของเจ้าหน้าที่ อปท.ที่ต้องประเมินให้เราทุกเดือนมกราคมและคำนวณให้เสร็จภายในเดือนกุมภาพันธ์ของทุกปี แล้วส่งหนังสือประเมินภาษีให้กับเรา เพื่อเอาไปเสียภาษีภายในสิ้นเดือนเมษายนเท่านั้นเองครับ


จากใจ
ZmyHome
ฝากกดแชร์เป็นกำลังใจด้วยนะครับ
  • ค้นหาบ้านคอนโด

    ต้องการซื้อ หรือเช่า บ้าน คอนโด ตรวจ สอบราคา เช็คค่าเช่า ติดต่อตรงกับเจ้า ของตัวจริง ทุกทำเล ทั่วประเทศ

    ค้นหา
  • ลงประกาศ

    ต้องการขาย หรือปล่อยเช่า บ้าน คอนโด เพียงคุณเป็นเจ้าของตัวจริง และพร้อมที่จะลงประกาศอย่างมีคุณภาพ เพื่อให้ผู้ซื้อศึกษา อย่างสะดวกที่สุด ก็ลงประกาศ ได้เลย

    ลงประกาศ