• 22 พ.ค. 2562

ผังเมืองใหม่พลิกโฉมกรุงเทพฯ เปิดทำเลตัดถนน 203 สาย

          เปิดพิมพ์เขียวผังเมืองใหม่พลิกโฉมกรุงเทพฯ ดีเดย์ 24 พ.ค. ซาวเสียงคนกรุง คาดบังคับใช้ปลายปี '63 ทำเลรถไฟฟ้าทุกสีสุดฮอต "มักกะสัน-พระราม 9-จตุจักร" ขึ้นแท่นซีบีดีใหม่ "ตลิ่งชัน-บางแค" ปูสีเหลืองแทนสีเขียวลาย ขีดรัศมีพัฒนารอบสถานี 650-800 เมตร บูม 50 จุดต่อเชื่อม ลุยขยายซอย เวนคืน ตัดถนนใหม่ 203 สาย เพิ่มมูลค่าที่ดิน ผุด 4 สะพานข้ามเจ้าพระยาทะลวงรถติด

          แหล่งข่าวจากสำนักผังเมืองกรุงเทพมหานคร (กทม.) เปิดเผยว่า วันที่ 24 พ.ค.นี้ จะจัดประชุมรับฟังความคิดเห็นจากประชาชนเรื่องร่างผังเมืองรวมกรุงเทพมหานคร ฉบับปรับปรุงครั้งที่ 4 ที่แก้ไขจากฉบับปี 2556 ซึ่งบังคับใช้อยู่ในปัจจุบันให้สอดคล้องกับสภาพพื้นที่และการใช้ประโยชน์ที่ดิน

          อัพโซนแนวรถไฟฟ้า

          "ร่างผังเมืองฉบับใหม่ วางคอนเซ็ปต์ เป็นโพลีเซ็นทริกหรือมีหลาย ๆ ศูนย์กลาง ส่งเสริมพัฒนาแนวรถไฟฟ้าเป็นหลัก โดยเฉพาะใจกลางเมืองเป็นศูนย์กลางธุรกิจให้เมืองกระชับ เช่น พระราม 9 มักกะสัน จตุจักร จะเป็นศูนย์กลางธุรกิจแห่งใหม่ ซึ่งย่านพระราม 9 ปรับสีน้ำตาล (ที่อยู่อาศัยหนาแน่นมาก) เป็นสีแดง (พาณิชยกรรม) เพิ่มพื้นที่สีแดงโซนนานา และสุขุมวิทตอนปลาย กำหนดบริเวณคลองสาน ย่านถนนพระราม 1 เป็นพื้นที่พาณิชยกรรมพิเศษด้านนวัตกรรมสร้างสรรค์"

          แหล่งข่าวกล่าวว่า พื้นที่แนวรถไฟฟ้าสายใหม่ที่กำลังก่อสร้าง ทั้งสายสีชมพู (แคราย-มีนบุรี) สายสีเหลือง (ลาดพร้าว-สำโรง) สายสีส้ม (ศูนย์วัฒนธรรม-มีนบุรี) สายสีเขียว (หมอชิต-สะพานใหม่-คูคต และแบริ่ง-สมุทรปราการ) เช่น เขตลาดพร้าว วังทองหลาง บางกะปิ บึงกุ่ม คันนายาว สวนหลวง ศรีนครินทร์ ปรับจากสีเหลือง (ที่อยู่อาศัยหนาแน่นน้อย) เป็นสีส้ม (ที่อยู่อาศัยหนาแน่นปานกลาง) ตลอดแนวถนนรามคำแหงจากริมถนน 500 เมตร ปรับจากสีเหลืองเป็นสีส้ม

          ขยายพื้นที่สีน้ำตาลแนวถนนพหลโยธินช่วงห้าแยกลาดพร้าวถึงแยกรัชโยธิน, ขยายพื้นที่สีส้มแยกหลักสี่ แจ้งวัฒนะ, ขยายพื้นที่สีส้มแนวคลองประปา, ปรับสีเหลืองริมถนนวิภาวดีรังสิต ตรงข้ามนอร์ธปาร์คเป็นสีส้ม, ปรับพื้นที่ริมถนนรามอินทราจากเดิมสีเหลืองเป็นสีส้มตลอดแนว

          บูมรอบสถานี 800 เมตร

          "จะส่งเสริมพัฒนาพื้นที่รอบสถานีรถไฟฟ้าที่เชื่อมต่อ 2 สาย ในรัศมี 800 เมตรของรถไฟฟ้า 10 สาย ประมาณ 50 สถานีร่วม ส่วนสถานีอื่น ๆ จะส่งเสริมในรัศมี 500 เมตร 650 เมตร และ 800 เมตร ขึ้นอยู่กับความลดหลั่นของระยะห่าง เดิมให้ในรัศมี 500 เมตร เพื่อเพิ่มความหนาแน่นรอบสถานีและให้ที่ดินในซอยพัฒนาได้เต็มที่"

          ส่วนทำเลปลายทางรถไฟฟ้าจะกำหนดเป็นซับเซ็นเตอร์ (ศูนย์ชุมชนเมือง) เช่น มีนบุรี ลาดกระบัง บางนา ศรีนครินทร์ บางขุนเทียน บางแค ตลิ่งชัน สะพานใหม่ โดยบางซื่อเป็นศูนย์กลางธุรกิจ การเดินทางและสมาร์ทซิตี้ ย่านมักกะสันเป็นเกตเวย์อีอีซี ขณะที่ตากสิน-วงเวียนใหญ่ เป็นจุดเชื่อมรถไฟฟ้าบีทีเอส สายสีทอง และสีม่วงใต้

          ให้ FAR สูงสุด 1 : 10

          การกำหนด FAR (อัตราส่วนพื้นที่อาคารรวมต่อพื้นที่ดิน) และ OSR (อัตราส่วนของพื้นที่ว่างอาคารรวม) ยังเหมือนเดิมสูงสุด FAR 1 : 10 คือ พื้นที่ พ 8 (พาณิชยกรรม) และมีโบนัสเพิ่ม หากเอกชน เพิ่มพื้นที่สีเขียว ที่จอดรถ สร้างอาคารประหยัดพลังงาน

          ปูสีเหลือง "ตลิ่งชัน-บางแค"

          แหล่งข่าวกล่าวอีกว่า จะยกเลิกพื้นที่ฟลัดเวย์ตลิ่งชัน และบางแค จากสีเขียวลายขาว (ที่ดินประเภทอนุรักษ์ชนบทและเกษตรกรรม) เป็นสีเหลือง สีแดง และสีส้มบางส่วน รับกับผังเมืองรวมจังหวัดนนทบุรี และรถไฟฟ้า 3 สาย คือ สายสีแดง (ตลิ่งชัน-ศิริราช-ศาลายา) สีส้ม (ศูนย์วัฒนธรรม-ตลิ่งชัน) สายสีน้ำเงินส่วน ต่อขยาย (บางซื่อ-ท่าพระ และหัวลำโพงบางแค) ที่อนาคตจะขยายไปถึงพุทธมณฑลสาย 4 มีตลิ่งชันเป็นจุดเชื่อม

          "ฟลัดเวย์ฝั่งตะวันออกจะปรับลดเช่นกัน โดยลดพื้นที่สีเขียวลายขาวเขตมีนบุรี คลองสามวา หนองจอก จากเดิมมี 148 ตร.กม. เหลือ 53.23 ตร.กม. โดยเพิ่มพื้นที่สีเขียว และสีเหลือง แต่ยังคงบางส่วนไว้เป็นทางระบายน้ำ เพื่อรับน้ำจากอยุธยาลงสู่อ่าวไทย"

          ขยายซอย ตัดถนนใหม่

          แหล่งข่าวกล่าวอีกว่า ในผังเมืองใหม่จะเพิ่มโครงข่ายถนนจาก 136 สาย เป็น 203 สาย ทั้งก่อสร้างใหม่และปรับปรุงถนนซอยเดิมที่คับแคบให้เป็นถนนตามขนาด 12 เมตร 16 เมตร 20 เมตร 30 เมตร 40 เมตร 50 เมตร และ 60 เมตร เพื่อเป็นถนนสายรองเชื่อมกับถนนสายหลัก เข้าสู่สถานีรถไฟฟ้าได้ง่ายขึ้น โดยกำหนดรูปแบบถนนไว้ 7 ขนาด ประกอบด้วย

          1. ถนนแบบ ก ขนาดเขตทาง 12 เมตร 78 สาย เช่น ขยายซอยพหลโยธิน 52, ซอยวัชรพล 4, ซอยเสนวัฒนา 12, ซอยคู้บอน 27 แยก 40, ซอยวิภาวดีรังสิต 60, ซอยพหลโยธิน 49/2, ซอยโยธินพัฒนา 3 แยก 2, ซอยโยธินพัฒนา 7 แยก 2, ซอยลาดพร้าว 101, ซอยลาดพร้าว 37, ซอยลาดพร้าว 41, ซอยลาดพร้าววังหิน 27, ซอยเสรีไทย 50, ซอยรามคำแหง 43/1, ซอยลาดพร้าว112, ซอยปรีดีพนมยงค์ 31, ซอยสุขุมวิท 101, ขยายถนนสวนผัก ถนนทุ่งมังกร ถนนชัยพฤกษ์ ถนนฉิมพลี ถนนเพชรเกษม ที่สร้างใหม่ เช่น ถนนจรัญสนิทวงศ์-ถนนเลียบใต้ทางด่วนศรีรัช-วงแหวนตะวันตก

          2. ถนนแบบ ข ขนาดเขตทาง 16 เมตร จำนวน 83 สาย เช่น ขยายถนนเลียบคลองสอง, ซอยพหลโยธิน 54/1, ถนนจามจุรี, ซอยรามอินทรา 65 แยก 4 และซอยคู้บอน 27, ซอยรามอินทรา 14 (ซอยมัยลาภ), สร้างถนนใหม่ช่วงประเสริฐมนูกิจ ตัดกับ สุคนธสวัสดิ์ บรรจบซอยมัยลาภ, ขยาย ซอยรามคำแหง 184 ซอยโชคชัยปัญจทรัพย์ ซอยเคหะร่มเกล้า 4 ถนนเคหะร่มเกล้า, ถนนราษฎร์พัฒนา, ซอยอารีย์สัมพันธ์ ซอยราชครู, สร้างใหม่จากถนนวัฒนธรรมบรรจบถนนเทียนร่วมมิตร, สร้างใหม่ถนนร่มเกล้าบรรจบถนน เจ้าคุณทหาร, ขยายถนนบางแวกบรรจบ พุทธมณฑลสาย 1, ซอยสุขุมวิท 26, ถนนเจริญรัถ, ถนนพระรามที่ 2 ซอย 39 ซอยอนามัย งามเจริญ 25 แยก 1 ซอย อนามัยงามเจริญ 25 แยก 2-3 ซอยรวงโพธิ์ล่าง สร้างใหม่ถนนเอกชัยบรรจบกาญจนาภิเษก, สร้างถนนท่าข้ามบรรจบถนนพระรามที่ 2

          3. ถนนแบบ ค ขนาดเขตทาง 20 เมตร 12 สาย เป็นถนนสร้างใหม่ เช่น ถนนคลองเปรมประชากรตัดกับแนวเขตผังเมืองรวมด้านเหนือ และแนวรถไฟฟ้าสายสีเขียวบรรจบถนนลำลูกกา, ต่อเชื่อมรามอินทราบริเวณถนนลาดปลาเค้า บรรจถนนเทพารักษ์ ฯลฯ

          4. ถนนแบบ ง เขตทาง 30 เมตร 18 สาย อาทิ ขยายถนนไมตรีจิต, ถนนคู้คลองสิบ, ถนนร่มเกล้า, ถนนเทิดดำริ, ถนนกระรามที่ 6 ริมคลองประปาฝั่งซ้าย, สร้างใหม่จากถนนสุวินทวงศ์บรรจบถนนราษฎร์อุทิศ, ต่อเชื่อมถนนกรุงเทพฯ-นนทบุรีช่วงตัดกับประชาราษฎร์สาย 2 บรรจบถนนอำนวยสงคราม, เชื่อมถนนนิคมมักกะสันกับถนนจตุรทิศ

          5. ถนนแบบ จ เขตทาง 40 เมตร 6 สาย อาทิ ขยายถนนคลองเก้า, ขยายถนนทหาร ถนนประดิพัทธิ์, สร้างใหม่ถนนเชื่อมรัตนโกสินทร์สมโภชกับนิมิตรใหม่, เชื่อมถนนฉลองกรุงกับจุดตัดมอเตอร์เวย์

          ขีดแนวใหม่เพชรเกษม-สุขสวัสดิ์

          6. ถนนแบบ ฉ ขนาดเขตทาง 50 เมตร 4 สาย ได้แก่ สร้างใหม่จาก พุทธมณฑลสาย 2 เชื่อมถนนสาย จ 2 ของนนทบุรีและซอยศาลาธรรมสพน์เชื่อมถนนสาย ฉ จากนนทบุรี, ขยายถนนรามคำแหงจากคลองบ้านม้า- คลองลาดบัวขาว สร้างแนวใหม่จากเพชรเกษมบริเวณจุดตัดพุทธมณฑลสาย 1 ตัดถนนกัลปพฤกษ์ ถนเอกชัย ถนนพระรามที่ 2 ถนนพุทธบูชา บรรจบถนนสุขสวัสดิ์กับวงแหวนอุตสาหกรรม

          และ 7. ถนนแบบ ช เขตทาง 60 เมตร 2 สาย เป็นถนนใหม่ ได้แก่ ถนน ช 1 สร้างจากถนนนวมินทร์บรรจบบางนาตราด และพุทธมณฑลสาย 2 ตัดถนนพรานนก-พุทธมณฑลสาย 4

          สร้างสะพาน 4 แห่ง

          นอกจากนี้ยังกำหนดโครงการสะพานข้ามแม่น้ำเจ้าพระยาใหม่ 4 แห่ง ได้แก่ สะพานเกียกกาย สะพานท่าดินแดง สะพานจันทร์ สะพานถนนลาดหญ้า เพื่อแก้ปัญหาการจราจร

          หลังรับฟังความคิดเห็นของประชาชนแล้ว จะนำข้อเสนอทั้งหมดให้คณะกรรมการผังเมือง กทม.พิจารณา จากนั้น ยังมีขั้นตอนดำเนินการอีก คาดประกาศบังคับใช้ได้คือปี 2563
 
ภาพจาก plan4bangkok.com


ที่มา : ศูนย์ข้อมูลอสังหาริมทรัพย์
  • ค้นหาบ้านคอนโด

    ต้องการซื้อ หรือเช่า บ้าน คอนโด ตรวจ สอบราคา เช็คค่าเช่า ติดต่อตรงกับเจ้า ของตัวจริง ทุกทำเล ทั่วประเทศ

    ค้นหา
  • ลงประกาศ

    ต้องการขาย หรือปล่อยเช่า บ้าน คอนโด เพียงคุณเป็นเจ้าของตัวจริง และพร้อมที่จะลงประกาศอย่างมีคุณภาพ เพื่อให้ผู้ซื้อศึกษา อย่างสะดวกที่สุด ก็ลงประกาศ ได้เลย

    ลงประกาศ