• 30 เม.ย. 2563

นอกจากค่าห้องที่ต้องจ่ายแล้ว ยังมีค่าอะไรอีกที่ต้องเตรียม?

          ค่าโน้นนี่ ต่าง ๆ นานาในการซื้อบ้าน คอนโด ที่เราเองอาจจะคาดไม่ถึง ถ้าตัดสินใจซื้อได้แล้วว่า คอนโดนี้แหละที่ใช่และถูกใจ จะได้เตรียมวางแผนการเงินของเราเองด้วยว่าจะต้องเตรียมเงินในส่วนไหนบ้าง ที่ต้องจ่าย ก่อนที่จะได้เข้าอยู่จริง

1. ค่าจองทำสัญญา
 
          เงินจองที่เคยได้ยินกันคือเงินมัดจำในการจองห้องนั้น ๆ ส่วนมากขึ้นอยู่กับที่โครงการกำหนด หรือถ้าโครงการใจดีกว่านั้นก็จะขึ้นอยู่กับการตกลงของเราและโครงการ เราอาจจะได้จองถูกกว่าคนอื่นในบางเคส ส่วนมากก็จะเป็นหลักหมื่นขึ้นไป ไปจนถึงแสนก็มี ซึ่งหลังจากวางเงินจองแล้ว เราจะต้องทำสัญญาจะซื้อจะขาย มีรายละเอียดต่าง ๆ ว่าใครรับผิดชอบเงินเท่าไหร่ เราควรจะเช็คอ่านให้ดีก่อนจะเซ็น และจะมีสัญญาให้กับเราที่เป็นคนซื้อ และตัวสัญญาที่จะอยู่กับคนขายด้วย ถือเป็นหลักฐานไว้คนละฉบับ

2. เงินดาวน์

          เงินดาวน์คือ เงินสดที่เรามีไว้อยู่แล้ว เป็นเงินก้อนนึงสำหรับการดาวน์ห้อง คล้ายเป็นเงินจองอีกขั้นนึง แต่จะมากกว่าเงินจอง ส่วนมากจะประมาณ 5-10 % ของราคาห้อง เช่นจะซื้อคอนโด 2 ล้านบาท ต้องมีเงินดาวน์ 100,000 - 200,000 บาท เป็นต้น

3. ค่าประเมินราคา ขอสินเชื่อ

          เงินส่วนนี้ คือเงินที่เราจะยื่นกู้เงินธนาคารมาซื้อบ้าน แล้วธนาคารจะคิดกำหนดวงเงินกู้ที่เราสามารถผ่อนได้ ค่าใช้จ่ายในการประเมินราคาจะอยู่ที่ 1,000 - 3,000 บาท แล้วแต่ธนาคาร แต่ถ้าเรายื่นขอสินเชื่อไปหลาย ๆ ที่ก็เท่ากับว่าเราต้องเสียเงินส่วนนี้หลายที่ไปด้วย ซีมายโฮมเราเลยแนะนำให้ยื่น 2-3 ที่ก็พอครับ เผื่อเลือกไว้ว่าธนาคารแรกไม่ผ่านก็ยังมีสำรอง หรือถ้าผ่านหมดทุกธนาคารก็จะได้มีข้อเปรียบเทียบเงื่อนไขเรื่องดอกเบี้ยที่ต้องผ่อนในอนาคต 

4. ค่าจดจำนอง

          คิดเป็น 1% ของวงเงินจำนอง หรือประมาณ 1% ของยอดเงินกูที่ขอสินเชื่อกับธนาคาร เช่นได้วงเงินกู้ 2,000,000 บาท ต้องเตรียมเงินจำนอง 20,000 บาท จากนั้นก็มีค่าอากรเสมป์ 0.50% ของราคาซื้อ-ขาย อันนี้เราต้องคุยกับคนขายและควรจะระบุในสัญญาให้ชัดเจนว่าใครคือคนรับผิดชอบค่าโอน 

5. ค่าโอนกรรมสิทธิ์

          ค่าโอนฯ นี้ต้องจ่ายให้กับกรมที่ดินเหมือนกับค่าจำนอง โดยค่าโอนฯนี้จะคิดค่าจดทะเบียนสิทธิ 2% จากราคาประเมิน เงินส่วนนี้เราเองก็ต้องตกลงกับคนซื้อ คนขายว่าใครจะเป็นคนจ่าย ส่วนมากจะแบ่งกันจ่ายคนละ 1%

6. ค่าเบี้ยประกันภัยบ้าน

          ค่าประกันนี้ใครหลาย ๆ คนอาจจะนึกไม่ถึง แต่จริง ๆ แล้วเราควรจะทำประกันเอาไว้ด้วย เผื่อเกิดอะไรไม่คาดฝันกับบ้านของเราจะได้มีเงินคุ้มครอง แต่ส่วนมากธนาคารจะเรียกเก็บรวมกับค่าผ่อนบ้านอยู่แล้ว โดยค่าเบี้ยประกันจะขึ้นอยู่กับราคาของบ้าน

7. ค่ามิเตอร์น้ำไฟ 

          ส่วนนี้ก็ต่างกันไปในแต่ละบ้าน แต่ละประเภท ขึ้นอยู่กับมาตรวัด ขนาดมิเตอร์ และกระแสน้ำ ไฟ ที่ปล่อยได้ รวมๆ แล้วอยู่ประมาณหลักพันถึงหมื่น 
 
8. ค่าส่วนกลาง

          เฉพาะโครงการที่มีส่วนกลางที่ต้องใช้ร่วมกัน เช่น บ้านจัดสรร คอนโด จะเรียกเก็บเพื่อเอาไว้บำรุงรักษาพื้นที่ส่วนกลาง เช่น สระว่ายน้ำ ลานจอดรถ ค่าแม่บ้าน ค่าเจ้าหน้าที่รักษาความปลอดภัย ต่าง ๆ ซึ่งค่าใช้จ่ายส่วนนี้จะขึ้นอยู่กับแต่ละโครงการว่ากี่บาท และคอนโดจะเก็บตามขนาดห้องที่อยู่ เช่น ค่าส่วนกลาง 50 บาทต่อตารางเมตร แล้วห้องเรา 30 ตารางเมตร ก็ต้องจ่าย 1,500 บาทต่อห้องต่อเดือนนั่นเอง

9. ค่าตกแต่งบ้าน เฟอร์นิเจอร์

          งบส่วนนี้เราเองควรจะมีเงินกันไว้สักก้อน เพราะส่วนมากเราจะได้ห้องเปล่า หรือบางที่ขายพร้อมเฟอร์นิเจอร์บางชิ้น ก็ยังต้องมีของบางอย่างที่เราจำเป็นต้องซื้อใหม่ ซื้อเพิ่มอยู่ดี ส่วนนี้ก็ขึ้นอยู่กับกำลังจ่ายของเราเอง จะเอาสไตล์ไหน เรียกช่างมาเลย หรือใครสะดวกช้อปแบบตามใจฉันก็พุ่งตัวไปอิเกีย อินเด็กซ์ได้เลย แล้วก็อย่าลืมพวกเครื่องใช้ไฟฟ้าต่าง ๆ เช่น แอร์ พัดลม เตารีด บลาๆๆ ด้วยครับ

ที่มา : ธนาคารอาคารสงเคราะห์
  • ค้นหาบ้านคอนโด

    ต้องการซื้อ หรือเช่า บ้าน คอนโด ตรวจ สอบราคา เช็คค่าเช่า ติดต่อตรงกับเจ้า ของตัวจริง ทุกทำเล ทั่วประเทศ

    ค้นหา
  • ลงประกาศ

    ต้องการขาย หรือปล่อยเช่า บ้าน คอนโด เพียงคุณเป็นเจ้าของตัวจริง และพร้อมที่จะลงประกาศอย่างมีคุณภาพ เพื่อให้ผู้ซื้อศึกษา อย่างสะดวกที่สุด ก็ลงประกาศ ได้เลย

    ลงประกาศ