รู้หรือไม่ รถหายในคอนโด รปภ.ไ่ม่ต้องรับผิดชอบ
วันนี้มีเหตุการณ์จริงที่เจ้าของห้องจอดรถไว้ในคอนโด แล้วปรากฎว่ารถถูกขโมย เจ้าของร่วมเลยฟ้องนิติบุคคลฯ และ บริษัท รปภ. ที่รับจ้างรักษาความปลอดภัยในคอนโดให้ร่วมกันชดใช้ค่าเสียหาย คดีนี้ศาลฎีกาตัดสินว่านิติบุคคลฯ ไม่มีหน้าที่รักษาทรัพย์สินส่วนบุคคล มีหน้าที่เพียงรักษาทรัพย์สินส่วนกลางเท่านั้น และรถยนต์ซึ่งเป็นทรัพย์สินส่วนบุคคลไม่อยู่ในความรับผิดของนิติบุคคลฯ รวมทั้งการแสดงความคิดเห็นและข้อเสนอแนะ
แนวทางป้องกันการโจรกรรมทรัพย์สินจากคณะกรรมการนิติบุคคลอาคารชุดและเจ้าของร่วม ไม่ก่อให้เกิดหน้าที่ต้องดูแลรักษาความปลอดภัยทรัพย์สินบุคคล อีกทั้งสัญญาว่าจ้าง รปภ. นั้นเป็นการทำแทนเพื่อประโยชน์เจ้าของร่วมทุกคน เพื่อรักษาความปลอดภัยทรัพย์สินส่วนกลาง ไม่ได้ครอบคลุมไปถึงการรักษาความปลอดภัยทรัพย์สินส่วนบุคคลของผู้ใด เพราะฉะนั้นเวลาที่ประชุมเจ้าของร่วม ควรมีมติให้นิติบุคคลฯ ว่าจ้างบริษัท รปภ. โดยระบุข้อสัญญาให้ครอบคลุมถึงการรักษาความปลอดภัยทรัพย์ส่วนบุคคลของเจ้าของร่วมทุกคนที่อยู่ภายในโครงการด้วย คำพิพากษาฎีกาที่ 2369/2557 นิติบุคคลอาคารชุดจำเลยที่ 3 ไม่มีหน้าที่รักษาทรัพย์ส่วนบุคคลมีเพียงหน้าที่ในการจัดการและดูแลรักษาทรัพย์ส่วนกลางของอาคารชุดที่เกิดเหตุ
รวมทั้งมีอำนาจกระทำการใดๆ เพื่อประโยชน์ตามวัตถุประสงค์ตามข้อบังคับและมติของเจ้าของร่วมตามพระราชบัญญัติอาคารชุด พ.ศ.2522 มาตรา 4, 17, 33, 36 และ 37 ซึ่งข้อบังคับของนิติบุคคลอาคารชุดจำเลยที่ 3 ระบุว่า จำเลยที่ 3 มีวัตถุประสงค์เพื่อจัดการดูแลทรัพย์ส่วนกลางของอาคารชุดและให้มีอำนาจกระทำการใดๆ ตามวัตถุประสงค์เพื่อประโยชน์สูงสุดในการพักอาศัยและการใช้ทรัพย์ส่วนกลางร่วมกัน สัญญาที่จำเลยที่ 3 ว่าจ้างจำเลยที่ 2 รักษาความปลอดภัยก็มีข้อความระบุชัดเจนว่า จำเลยที่ 3 จ้างจำเลยที่ 2 รักษาความปลอดภัยให้แก่บรรดาทรัพย์สินของจำเลยที่ 3 ซึ่งหมายถึงทรัพย์ส่วนกลางของอาคารชุดเท่านั้น
จึงไม่รวมไปถึงรถยนต์ซึ่งเป็นทรัพย์ส่วนบุคคลของโจทก์ในความครอบครองของ ส. ด้วย แม้ภายหลังจำเลยที่ 3 ทำสัญญาว่าจ้างรักษาความปลอดภัยแก่บรรดาทรัพย์สินของจำเลยที่ 3 กับจำเลยที่ 2 แล้ว จำเลยที่ 3 ได้แจ้งระเบียบรักษาความปลอดภัยซึ่งได้มาจากการแสดงความคิดเห็นและข้อเสนอแนะแนวทางป้องกันการโจรกรรมทรัพย์สินจากคณะกรรมการนิติบุคคลอาคารชุดและเจ้าของร่วม เช่น การตรวจสอบสติกเกอร์ที่ติดรถยนต์ การรับบัตอนุญาตจอดรถยนต์และการตรวจสอบการขนของเข้าออกอาคารตามระเบียบรักษาความปลอดภัย
แต่เป็นเพียงมาตรการให้เกิดความปลอดภัยหรือความสงบเรียบร้อยในอาคารชุด ทั้งเป็นการควบคุมผู้ใช้สอยอาคารจอดรถซึ่งเป็นทรัพย์ส่วนกลางในอาคารชุดมิให้บุคคลภายนอกเข้ามาใช้ หาได้มีความหมายครอบคลุมไปถึงการรักษาความปลอดภัยแก่ทรัพย์ส่วนบุคคลของผู้ใด เพราะไม่อยู่ในอำนาจหน้าที่ของจำเลยที่ 3 พฤติการณ์เช่นว่านั้นจึงไม่ก่อให้เกิดหน้าที่ของจำเลยที่ 3 ในอันที่จะต้องดูแลรักษาความปลอดภัยแก่รถยนต์อันเป็นทรัพย์ส่วนบุคคลของผู้เป็นเจ้าของร่วม ทั้งสัญญาที่จำเลยที่ 3 ว่าจ้างจำเลยที่ 2 รักษาความปลอดภัยยังมีลักษณะเป็นการทำแทนเพื่อประโยชน์ของเจ้าของร่วมทุกคนในอาคารชุดรวม ทั้ง ส. ผู้ครอบครองรถยนต์ของโจทก์ด้วย
เงินที่ใช้ในการว่าจ้างจำเลยที่ 2 ก็มาจากเงินที่เจ้าของร่วมทุกคนชำระเป็นเงินกองทุนและเงินค่าใช้จ่ายส่วนกลาง จำเลยที่ 3 ซึ่งเป็นตัวแทนของเจ้าของร่วมในการว่าจ้างจำเลยที่ 2 รักษาความปลอดภัย จึงไม่มีหน้าที่ตองรับผิดต่อโจทก์
จากใจ
ZmyHome
กดแชร์เป็นกำลังใจให้ทีมงานด้วยครับ