• 6 มี.ค. 2561

วิธีจัดการสิงห์อมควันแบบซอฟท์ ๆ

หากคุณเป็นคนหนึ่งที่กังวลสารพัดกับการอยู่คอนโดมิเนียม หนึ่งในนั้นคือความเป็นส่วนตัว เพราะคอนโดมิเนียมนั้นมีเพื่อนบ้านทั้งบน-ล่าง-ซ้าย-ขวา รอบด้านไปหมด นอกจากจะส่งเสียงรบกวนกันบ้างในยามวิกาลแล้ว บางครั้งก็มาทั้งกลิ่น แสง สี เสียง ครบถ้วน แล้วคนอย่างเราจะทำอย่างไรเมื่อต้องย้ายไปอยู่คอนโด

ปกติแล้วคอนโดมิเนียมแต่ละแห่งจะมีกฎที่แตกต่างกันออกไป เช่น ห้ามเลี้ยงสัตว์ ห้ามสูบบุหรี่ในบริเวณคอนโด ห้ามส่งเสียงดังยามวิกาล เป็นต้น ก่อนจะเลือกซื้อ เลือกเช่าก็รบกวนพิจารณากฎระเบียบกันก่อน ข้อไหนรับได้ ข้อไหนรับไม่ได้ ค่อยตัดสินใจเลือกคอนโดใหม่ แต่หากใครที่หลวมตัวเข้าไปแล้ว เพื่อนบ้านก็เป็นสิงห์อมควัน พ่นควันบุหรี่อยู่บริเวณระเบียงของเขา แต่กลิ่นกลับลอยมาเรานั้น วิธีแก้ไขอันดับแรกเลยก็คือ แจ้งเรื่องกับนิติคอนโด เพื่อให้เขาดูแล จัดการ พูดคุยทำความเข้าใจกัน หากแจ้งไปแล้ว กลิ่นควันก็ยังคงลอยมา ครั้นจะให้ย้ายคอนโดหนีก็ดูจะเป็นการขี่ช้างจับตั๊กแตนจนเกินไป แนะนำให้เริ่มปฏิบัติการข้อต่อมา คือ ยามประชุมลูกบ้านที่คอนโดมิเนียม ให้คุณเสนอกฎระเบียบข้อบังคับเพิ่มเติม เพื่อสุขภาพของตนคุณ และความเป็นระเบียบเรียบร้อยของคอนโด เราเชื่อว่าอย่างน้อยคุณต้องมีแนวร่วมคน(พ่าย)แพ้ควันบุหรี่อยู่บ้าง จัดทำป้ายเชิญชวน ข้อความจูงใจในการรณรงค์ให้เลิกบุหรี่ และหากสุดท้ายแล้วทำอย่างไรๆ ก็ไม่เป็นผล พูดดีก็แล้ว แจ้งเรื่องนิติก็แล้ว แม้กระทั่งตรากฎระเบียบ ควันก็ยังลอยมารบกวนคุณ

แนะนำให้ทำการแจ้งร้องเรียนตามพระราชบัญญัติการสาธารณสุข พ.ศ.2535 ตามบทบัญญัติมาตรา 25 กำหนดว่า “ในกรณีที่มีเหตุอันอาจก่อให้เกิดความเดือดร้อน แก่ผู้อยู่อาศัยบริเวณใกล้เคียง หรือผู้ต้องประสบกับเหตุนั้น ดังต่อไปนี้ ให้ถือว่า เป็นเหตุรำคาญ โดยข้อที่เข้ากฎหมายคือ ข้อ 4 (๔) การกระทำใดๆ อันเป็นเหตุให้เกิดกลิ่น แสง รังสี เสียง ความร้อน สิ่งมีพิษ ความสั่นสะเทือน ฝุ่น ละออง เขม่า เถ้า หรือกรณีอื่นใด จนเป็นเหตุให้เสื่อมหรืออาจเป็นอันตรายต่อสุขภาพ ทั้งนี้ ต้องมีลักษณะที่กระทำการ เป็นการประจำ จนเกิดสภาวะที่กระทบต่อการดำรงชีพเป็นการประจำ จนเกิดสภาวะที่กระทบต่อการดำรงชีพ โดยปกติสุขของประชาชนข้างเคียง

โดยไปแจ้งได้ที่กระทรวงสาธารณสุข ทางกระทรวงสาธารณสุขจะส่งเรื่องไปยังเขตของคอนโดให้มาชี้แจงกับนิติบุคคลของคอนโดเพื่อบังคับให้ห้องนั้นยุติเหตุดังกล่าว แต่เนื่องจากบทบัญญัติมาตรา 25 ที่ใช้เป็นหลักในการวินิจฉัยนั้น ต้องบ่งชี้ได้ว่า การกระทำดังกล่าวก่อให้เกิดผลกระทบที่เป็นอันตรายต่อสุขภาพ ซึ่งในขณะนี้ไม่มีหลักฐานมาตรฐาน หรือเครื่องมือที่สามารถชี้ชัดได้อย่างชัดเจนว่ากรณีใดเป็นเหตุรำคาญ โดยจะต้องใช้องค์ความรู้ทางด้านการสาธารณสุข การสุขาภิบาล และการอนามัยสิ่งแวดล้อม จึงเป็นเรื่องจำเป็นที่นักวิชาการสุขาภิบาล นักวิชาการสิ่งแวดล้อม และนักวิชาการสาธารณสุข จะต้องร่วมกันพิจารณากำหนดหลักเกณฑ์มาตรฐาน หรือแนวทางการวินิจฉัย หรือหาเครื่องมือในการตรวจสอบ ปัญหาเหตุรำคาญที่ชัดเจนต่อไปในอนาคต

เพื่อประโยชน์ในการคุ้มครองประชาชน และปฏิบัติการให้เป็นไปตามกฎหมายได้ง่ายขึ้น ส่วนใหญ่แล้วเรื่องมักจะไม่ถึงกระทรวงสาธารณสุข เพราะเมื่อมีการพูดคุยกับนิติบุคคลของคอนโด ก็มักจะช่วยไกล่เกลี่ยและหาทางออกที่ดีต่อกันทั้งสองฝ่าย อยากให้เอาใจเขามาใส่ใจเรา การอยู่ร่วมกันจะได้มีความสุขมากขึ้นนะคะ

By : MissG จากใจ ZmyHome ฝากกดแชร์เป็นกำลังใจให้ด้วยครับ
บทความอื่นๆ
  • ค้นหาบ้านคอนโด

    ต้องการซื้อ หรือเช่า บ้าน คอนโด ตรวจ สอบราคา เช็คค่าเช่า ติดต่อตรงกับเจ้า ของตัวจริง ทุกทำเล ทั่วประเทศ

    ค้นหา
  • ลงประกาศ

    ต้องการขาย หรือปล่อยเช่า บ้าน คอนโด เพียงคุณเป็นเจ้าของตัวจริง และพร้อมที่จะลงประกาศอย่างมีคุณภาพ เพื่อให้ผู้ซื้อศึกษา อย่างสะดวกที่สุด ก็ลงประกาศ ได้เลย

    ลงประกาศ