• 10 เม.ย. 2561

รู้ไว้ก่อนดึงเบรกมือ จอดรถขวางหน้าบ้านคนอื่น ผิดกฎหมาย!!

เชื่อว่าหลายคนที่พักอาศัยอยู่ตามบ้าน หรือหมู่บ้านต่าง ๆ น่าจะเคยพบเจอกับปัญหาเรื่องการจอดรถยนต์ โดยเฉพาะบ้านที่ติดตามแหล่งชุมชนใกล้พื้นที่สาธารณะ ดังที่พบกันตามหน้าข่าวจนเกิดปัญหาการกีดขวางทางเข้า-ออกของบ้านผู้เสียหาย เพื่อสนองความสะดวกสบายของตนเองโดยไม่ได้สนใจว่าจะส่งผลกระทบต่อผู้อื่น จึงทำให้เรื่องนี้เป็นประเด็นใหญ่โตที่สะท้อนภาพของคนที่อาศัยอยู่ที่บ้าน แต่กลับไม่สามารถออกจากบ้านของตนเองได้ ทั้งที่บ้านควรจะเป็นแหล่งพักพิงที่อยู่อย่างสบายใจ การเดินทางเข้า-ออกก็ไม่น่าจะติดปัญหาอะไร แต่พออยู่ในแหล่งชุมชน ร้านค้า ปัญหาเหล่านี้จึงแทรกซึมเข้ามา รวมถึงการกีดขวางการจราจร

ดังนั้น จึงอยากให้ทุกคนมาเปิดใจและเรียนรู้ถึงข้อกฎหมาย รวมถึงการเอาใจเขามาใส่ใจเรา เพื่อที่ต่อไปจะได้ไม่ทำตัวมักง่ายจนสร้างความเดือดร้อนให้กับผู้อื่น ข้อกฎหมายกรณีรถจอดขวางหน้าบ้าน ปิดทางเข้า-ออก และกีดขวางการจราจรนั้น

สามารถแบ่งออกได้เป็นถึง 4 กรณีด้วยกันที่ผู้ใช้รถใช้ถนนควรรู้

กรณีที่ 1 การจอดรถขวางทางเข้า-ออกหน้าบ้าน ไม่ว่าจะเป็นในพื้นที่ส่วนบุคคล หรือที่สาธารณะนั้น จะถือเป็นการก่อความเดือดร้อนรำคาญใจให้กับผู้อื่น โดยมีความผิดตามกฎหมายอาญา มาตรา 397 โทษจำคุกไม่เกิน 1 เดือน และปรับไม่เกิน 10,000 บาท ซึ่งผู้เสียหายสามารถฟ้องเรียกค่าเสียหายทางแพ่งได้ ตามมาตรา 420 แต่ถ้าหากเป็นที่สาธารณะยังสามารถเพิ่มโทษทางอาญาตาม พ.ร.บ.จราจรทางบก ทั้งนี้ กรณีดังกล่าวเจ้าหน้าที่ตำรวจสามารถออกใบสั่งและยกรถได้ หากการจอดรถนั้นก่อให้เกิดความเสียหายหรือทำให้ประชาชนได้รับความเดือดร้อน ซึ่งผู้เสียหายมีสิทธิแจ้งความร้องทุกข์ได้ด้วย แต่ด้วยขั้นตอนและกระบวนการทางกฎหมายมักจะกินระยะเวลานาน ทำให้ผู้เสียหายไม่ค่อยฟ้องร้อง ส่งผลให้ความเคยชินกัดกินเป็นความมักง่ายของผู้มาจอดรถและเกิดเป็นกรณีเหล่านี้อยู่บ่อยครั้ง

กรณีที่ 2 ไม่ได้จอดรถขวางหน้าบ้าน แต่จอดด้านข้างกำแพง สลับฟันปลา หรือทำให้ผู้อื่นสัญจรไม่สะดวก ถ้าหากว่าพื้นที่นั้นเป็นพื้นที่สาธารณะ และเป็นพื้นที่ห้ามจอด ผู้จอดรถจะมีความผิดตามกฎหมายจราจรทางบก แต่ถ้าหากพื้นที่ส่วนนั้นไม่ได้เป็นพื้นที่ห้ามจอด แต่กลับสร้างความเดือดร้อนให้ผู้อื่น ผู้เสียหายก็สามารถฟ้องร้องดำเนินคดีได้ทั้งแพ่งและอาญาเช่นกัน

กรณีที่ 3 ถ้าบ้านมีอยู่ก่อนมีแหล่งการค้า และแหล่งการค้าทำให้ประชาชนเดือดร้อน จากการจอดกีดขวาง หากเป็นโครงการของภาครัฐจะถือว่ารัฐลิดรอนสิทธิ์ประชาชน แต่หากแหล่งการค้านั้นดำเนินการโดยเอกชน อาจเข้าข่ายการเปลี่ยนแปลงตามยุคสมัย ซึ่งการบังคับใช้กฎหมายจะไม่สามารถเทียบกับกรณีของภาครัฐ และจะต้องเข้ากระบวนการพิจารณาเป็นกรณีไป โดยศาลอาจขอให้เลิกกิจการ หรือเยียวยาความเสียหายให้กับผู้เสียหายที่ได้รับความเดือดร้อน

กรณีที่ 4 การนำกรวยหรือสิ่งของอื่น ๆ ไปตั้งขวางพื้นที่ไม่ให้ใครมาสร้างความเดือดร้อน กรณีนี้หากเป็นพื้นที่ส่วนบุคคลก็สามารถทำได้โดยไม่ผิด แต่ถ้าหากพื้นที่นั้นเป็นที่สาธารณะ เช่น ถนนสัญจร เจ้าของบ้านจะไม่สามารถทำได้ เนื่องจากจะขัดต่อ พ.ร.บ.รักษาความเป็นระเบียบเรียบร้อยเช่นกัน เมื่อรู้แบบนี้แล้ว วันหลังการเดินทางสัญจรและจะไปจอดรถที่ไหนที่อาจจะสร้างความเดือดร้อนให้กับเจ้าของบ้านก็ควรจะหลีกเลี่ยง หรืออย่างน้อยก็แสดงออกถึงความถ้อยทีถ้อยอาศัยและไม่ไปรบกวนให้เจ้าของบ้านเกิดความรำคาญใจ ซึ่งจะส่งผลให้เป็นความมักง่ายและก่อเกิดเป็นนิสัยที่ไม่ดีในที่สุด

จากใจ ZmyHome ฝากกดแชร์เป็นกำลังใจให้ด้วยครับ
บทความอื่นๆ
  • ค้นหาบ้านคอนโด

    ต้องการซื้อ หรือเช่า บ้าน คอนโด ตรวจ สอบราคา เช็คค่าเช่า ติดต่อตรงกับเจ้า ของตัวจริง ทุกทำเล ทั่วประเทศ

    ค้นหา
  • ลงประกาศ

    ต้องการขาย หรือปล่อยเช่า บ้าน คอนโด เพียงคุณเป็นเจ้าของตัวจริง และพร้อมที่จะลงประกาศอย่างมีคุณภาพ เพื่อให้ผู้ซื้อศึกษา อย่างสะดวกที่สุด ก็ลงประกาศ ได้เลย

    ลงประกาศ