กรุงเทพจตุรทิศ ผ่าผังเมืองใหม่ พลิกโฉมกรุงเทพฯ สู่มหานครโลก
ผังเมืองรวมกรุงเทพฯฉบับใหม่ เน้นเป็นเมือง เอกชนหวั่นเกิดการกระจุกตัวของโครงการมิกซ์ยูสและคอนโดฯราคาแพงในย่านธุรกิจ ชี้ภาพรวมตลาดที่อยู่อาศัยในกรุงเทพฯ มีราคาที่สูงเกินกว่าดีมานด์จะเข้าถึงได้
นายศักดิ์ชัย บุญมา ผู้อำนวยการสำนักผังเมืองกรุงเทพมหานคร (กทม.) เปิดเผยถึงความคืบหน้าการจัดทำแผนแม่บทโครงการวางและจัดทำผังเมืองรวมกรุงเทพฯ ฉบับปรับปรุงครั้งที่ 4 ในเวทีเสวนา "กรุงเทพจตุรทิศ ผ่าผังเมืองใหม่ พลิกโฉมกรุงเทพฯ สู่มหานครโลก" ร่วมกับภาคเอกชนด้านอสังหาริมทรัพย์ ว่า ผังเมืองใหม่ที่จะเกิดขึ้น และคาดจะมีผลบังคับใช้เป็นกฎหมายในช่วงปลายปี 2562 นั้น มีความสำคัญต่อการพัฒนากรุงเทพฯอย่างมาก เพราะถือเป็นการเปลี่ยนแปลงรายละเอียดและข้อกำหนดต่างๆครั้งใหญ่ หลังจากไม่ได้มีการปรับเปลี่ยนมาหลายสิบปี ซึ่งหลักการสูงสุด คือ ต้องการให้กรุงเทพฯเป็นเมืองกระชับ ที่จะกระจายความเจริญออกไปโดยรอบ อ้างอิงตามระบบขนส่งมวลชน แนวรถไฟฟ้าสายต่างๆ (12 สาย) ที่กำลังจะเกิดขึ้น เพื่อรองรับความเป็นศูนย์กลางทางธุรกิจ การค้า และการบริการ เป็นการยกระดับการใช้ประโยชน์ของที่ดินให้มีประสิทธิภาพมากขึ้น ก่อนกำหนดสีของผังเมืองแต่ละจุดให้มีความเหมาะสมตามลักษณะการใช้ที่ดิน เช่น เตรียมปรับรายละเอียดการใช้ประโยชน์ของที่ดินตามแนวรถไฟฟ้าสายสีเขียว ที่จากเดิมในผังเป็นสีเหลือง เปลี่ยนเป็นระดับสีน้ำตาลหรือสีส้ม เป็นที่ดินประเภทที่อยู่อาศัยหนาแน่นปานกลาง-หนาแน่นมาก เป็นต้น
ขณะเดียวกัน ผังเมืองใหม่ ยังมีข้อกำหนดใหม่เกิดขึ้นอีกหลายประการ เช่น การส่งเสริมย่านพระราม 9 (New CBD), กำหนดศูนย์คมนาคมแห่งใหม่บางซื่อ, การเพิ่มประโยชน์การใช้สอยของอาคารรวมต่อพื้นที่ดิน (เอฟเออาร์ โบนัส) และ การเพิ่มระยะส่งเสริมการพัฒนารอบสถานีรถไฟฟ้าในจุดสำคัญ จาก 500 เมตร เป็น 800 เมตร หรือ 1 กิโลเมตร
"ในแง่รายละเอียดที่จะส่งผลต่อเอกชนโดยเฉพาะผู้พัฒนาอสังหาฯ เดิมประเมินจากสีผังของบริเวณที่ดินนั้นๆ ก่อนก่อสร้าง แต่ผังเมืองใหม่จะต้องศึกษาลึกลงไปถึงข้อกำหนดใหม่ๆที่จะเกิดขึ้น หลังจากแต่ละพื้นที่จะมีข้อกำหนดแตกต่างกัน รวมถึงความเชื่อมโยงกับระบบขนส่งที่เกิดขึ้นอีกหลายสายด้วย"
ด้านนายประเสริฐ แต่ดุลยสาธิต ฐานะนายกกิตติมศักดิ์และที่ปรึกษาสมาคมอาคารชุดไทย กล่าวถึงโอกาสและผลกระทบของผังเมืองใหม่ว่า คาดอีก 5-7 ปีจะเห็นชัดถึงความเปลี่ยนแปลงด้านอสังหาฯชัดเจน อย่างไรก็ตาม กังวลว่าการกำหนดให้กรุงเทพฯเป็นเมืองกระชับ เน้นความหนาแน่นในเมือง จะทำให้เกิดการพัฒนาโครงการแนวสูงกระจุกตัวอยู่ในเมืองทั้งหมด จริงอยู่ดีมานด์ในเมืองมีมาก แต่ซัพพลายที่จะตอบรับ กลายเป็นมีแค่คอนโดมิเนียมราคาแพง เช่น ห้องขนาด 30 ตร.ม. ราคาขาย 2.5 แสนบาท/ตร.ม. ตกแล้ว 7.5 ล้านบาทต่อห้อง คนกลุ่มไหนเข้าถึงได้ ผลมาจากที่ดินราคาแพง
ทำเลที่น่าสนใจในการพัฒนาโครงการ ที่มาจากอานิสงส์ของผังเมืองใหม่นั้น คือ บริเวณที่เป็นจุดเชื่อมต่อของรถไฟฟ้าหลายสาย เช่น บริเวณโดยรอบศูนย์พหลโยธิน (สถานีกลางบางซื่อ) และ ห้าแยกลาดพร้าว แต่อย่างไรก็ตาม ต้องการเสนอแนะให้ภาครัฐ แก้ไขร่างผังเมือง และกฎหมายควบคุมอาคาร เพื่อส่งเสริมให้มีการพัฒนาที่อยู่อาศัยในลักษณะอาคารชุดขนาดเล็กในตรอก/ซอย ที่ขนาดเขตทางเล็กด้วยเช่นกัน
ขณะที่ นางสาวอลิวัสสา พัฒนถาบุตร กรรมการผู้จัดการ บริษัท ซีบีอาร์อี ประเทศไทย จำกัด ระบุว่า ปัจจุบันภาพรวมตลาดที่อยู่อาศัยในกรุงเทพฯ มีราคาที่สูงเกินกว่าดีมานด์จะเข้าถึงได้ ยกเว้นกลุ่มผู้มีกำลังซื้อสูง โดยตลอด 5 ปีที่ผ่านมา มีราคาปรับขึ้นเฉลี่ย 45-50% ในเมืองตึกสูงเริ่มที่มากกว่า 2 แสนบาท/ตร.ม. ส่วนโลว์ไรส์ขยับราคาจากในอดีตที่ 1.2 แสนบาท/ตร.ม. มาอยู่ที่ 1.8 แสนบาท/ตร.ม. ในปัจจุบัน โดยกลุ่มสินค้าราคาระดับล่างปรับราคาขึ้นเฉลี่ย 8% ต่อปี ส่วนระดับบนประมาณ 10-12 % ต่อปี ขณะที่รายได้ของผู้ซื้อยังเท่าเดิม หรือลดน้อยลงจากค่าใช้จ่ายที่เพิ่มมากขึ้น
สำหรับอัตราการดูดซับโซนในเมืองเฉลี่ย 74% แต่ยังมีซัพพลายที่ขายไม่ได้อยู่อีกจำนวนมาก ประมาณ 7.7 พันหน่วย ส่วนทำเลรอบนอกอัตราการดูดซับ 69% เหลือขายอีก 3.3 หมื่นหน่วย สะท้อนถึงอัตราการขายที่ลดลง ทั้งๆที่มีความต้องการที่อยู่อาศัย แต่ไม่สามารถซื้อหาได้
"ผังเมืองใหม่ จะเป็นตัวกำหนดว่าพื้นที่ดังกล่าว ควรสร้างที่อยู่อาศัยรูปแบบใดถึงจะเหมาะสม แต่ราคาที่ดินที่สูงขึ้นต่อเนื่อง ทำให้ผู้พัฒนาฯ จำเป็นต้องคำนึงด้วย ว่า ซื้อหาที่ดินมาแพงเกินความเหมาะสมหรือไม่ เพราะอาจทำให้การขายหมดยืดระยะออกไปอีก จาก 1 ปี กลายเป็น 3 ปี เช่น ทำเลสายสีม่วง, รังสิตปทุมธานี"
ด้านทำเลที่น่าสนใจในการพัฒนาอสังหาฯ ตามผังเมืองใหม่นั้น ต้องเน้นพื้นที่ 1. เกาะแนวรถไฟฟ้า 2. มีราคาที่ดินไม่สูงเกินไป 3. มีซัพพลายในพื้นที่น้อย และจุดสำคัญคือ 4. ต้องมีโครงการขนาดใหญ่อย่างมิกซ์ยูส ที่รวมโรงแรม ศูนย์การค้าเกิดขึ้น ดึงความคักคึก เช่น ย่านปทุมวัน-สามย่าน มีความหนาแน่นของคอนโดฯน้อย ใกล้รถไฟฟ้า แต่ก็มีข้อจำกัด คือ ความห่างของสถานรัฐเองควรพิจารณาเรื่องนี้
ราคาที่ดินพหลฯพุ่ง แรงเทียบชั้นสุขุมวิท
พลัส เผยผลสำรวจพบคอนโดย่านพหลโยธิน-ห้าแยกลาดพร้าว ราคาย้อนหลัง 4 ปีขยับ 8% ขณะที่ราคาที่ดินใกล้เคียงย่านสุขุมวิท
นายอนุกูล รัฐพิทักษ์สันติ กรรมการผู้จัดการ บริษัท พลัส พร็อพเพอร์ตี้ เปิดเผยผลสำรวจพบว่าราคาเฉลี่ยของคอนโดมิเนียมเปิดใหม่ย่านพหลโยธินปัจจุบันอยู่ที่ 1.51.7 แสนบาท/ตารางเมตร สูงกว่าโครงการเก่าประมาณ 8% ซึ่งในช่วง 4 ปีที่ผ่านมาปรับตัวเพิ่มขึ้นประมาณ 8% ต่อปี อีกทั้งคาดว่าในอนาคตคอนโดใกล้สถานีรถไฟฟ้าบีทีเอสจะมีแนวโน้มราคาเพิ่มขึ้นอีก เนื่องจากข้อจำกัดของที่ดินสำหรับพัฒนาโครงการใหม่ ซึ่งราคาที่ดินที่อยู่ใกล้สถานีรถไฟฟ้าบีทีเอสนับตั้งแต่ปี 2556 เริ่มต้นที่ 5 แสน-1 ล้านบาท/ตารางวา ราคาในปัจจุบันจึงขยับเข้าใกล้ราคาที่ดินทำเลสุขุมวิท
นอกจากนี้ ที่ดินย่านพหลโยธินยังถูกแบ่งเป็นที่ดินแปลงเล็กที่เป็นอุปสรรคต่อการพัฒนาโครงการขนาดใหญ่ ดังนั้นความต้องการที่เพิ่มขึ้นบนที่ดินที่หายากมากขึ้นนี้ จึงเป็นความท้าทายของผู้ประกอบการ ปัจจัยที่ส่งผลให้ราคาคอนโดมิเนียมย่านพหลโยธินปรับตัวเพิ่มขึ้นต่อเนื่องนั้น เนื่องจากสามารถเดินทางได้โดยรถไฟฟ้าบีทีเอส เชื่อมต่อไปยังสถานีรถไฟฟ้าใต้ดินเอ็มอาร์ที มีห้างค้าปลีกสมัยใหม่และคอมมูนิตี้มอลล์ ซึ่งเป็นศูนย์รวมธนาคาร ร้านอาหาร และซูเปอร์มาร์เก็ต
อย่างไรก็ตาม ที่ผ่านมาทำเลพหลโยธินมีความต้องการซื้อเพิ่มขึ้นเฉลี่ย 8.4% ต่อปี และมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง เป็นความต้องการซื้อเพื่ออยู่อาศัยจริงมากกว่าการซื้อเพื่อลงทุน เนื่องจากปัจจุบันมีอาคารสำนักงานจำนวนมาก จึงเกิดความต้องการซื้อเพื่อการอยู่อาศัยจริง (เรียลดีมานด์) ของกลุ่มพนักงานออฟฟิศที่มองหาคอนโดที่ไม่ไกลจากที่ทำงาน และยังมีความต้องการจากกลุ่มผู้อยู่อาศัยดั้งเดิม ที่จะขยายครอบครัว แต่ยังคงต้องการอาศัยอยู่ในบริเวณที่อยู่อาศัยปัจจุบัน คอนโดมิเนียมจึงเป็นอีกทางเลือก โดยผลตอบแทนปล่อยเช่าอยู่ที่ 5-7% ต่อปี
ที่มา : หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ( 20 September 2018 )
http://www.reic.or.th/news/News_Detail.aspx?newsid=57418
ติดตามข่าวสาร บ้าน คอนโค ที่ดิน อสังหาฯ เเละอัพเดท ราคาบ้าน ราคาคอนโด เพื่อให้ทั้งผู้ซื้อและผู้ขายเห็นภาพที่แท้จริงของตลาด และตัดสินใจได้ถูกต้อง ก่อนใครที่ ZmyHome