ธอส.โชว์สินเชื่อ นิวไฮ รอบ65ปี ธปท.หวั่นอสังหาฯหนี้เน่า
นายฉัตรชัย ศิริไล กรรมการผู้จัดการ ธนาคารอาคารสงเคราะห์ (ธอส.) กล่าวว่า ยอดปล่อยสินเชื่อของ ธอส. ล่าสุด ณ วันที่ 19 ก.ย.อยู่ที่ระดับ 1.54 แสนล้านบาท ถือเป็น ระดับสูงสุดในรอบ 65 ปีนับตั้งแต่ก่อตั้ง ธอส. มา และคาดว่าทั้งปียอดปล่อยสินเชื่อใหม่ ของ ธอส. จะอยู่ที่ระดับ 2.2 แสนล้านบาท สูงกว่าเป้าหมายซึ่งตั้งไว้ที่ 1.89 แสนล้านบาท
สาเหตุที่สินเชื่อของธนาคารขยายตัวได้ต่อเนื่อง ส่วนหนึ่งเป็นผลจากการ ตรึงดอกเบี้ยไว้ระดับต่ำตามนโยบายรัฐที่ไม่ต้องการให้ ธอส. ทำกำไรสูงสุด รวมถึง การปรับวิธีการพิจารณาสินเชื่อสำหรับลูกค้า กลุ่มรายได้น้อยและปานกลาง โดย ธอส.ยืนยันว่า ในปี 2561 จะยังไม่ปรับขึ้นดอกเบี้ยอย่างแน่นอน เพื่อไม่ให้เป็นภาระแก่ลูกค้า
ส่วนหนี้ไม่ก่อให้เกิดรายได้ (เอ็นพีแอล) ล่าสุดอยู่ที่ 4.4% ของสินเชื่อรวม ถือเป็นระดับสูงกว่าเป้าหมาย ณ สิ้นปีที่กำหนดไว้ ที่ 4.06% ซึ่งล่าสุดคณะกรรมการ ธอส. ได้อนุมัติขาย เอ็นพีแอล แก่บริษัทบริหารสินทรัพย์ กรุงเทพพาณิชย์ จำกัด (มหาชน) หรือ BAM อีกประมาณ 1 พันล้านบาท ซึ่งจะช่วยให้ เอ็นพีแอล ของ ธอส. ลดลงอีกประมาณ 0.1%
นอกจากนี้ ธอส. เตรียมเสนอแผนบริหารเอ็นพีแอลหลังพระราชบัญญัติ ธนาคารอาคารสงเคราะห์ผ่านการพิจารณาของสภานิติบัญญัติแห่งชาติ จะทำให้ปี 2562 ธอส. สามารถขยายขอบเขตการทำธุรกิจ ได้หลายมิติ เช่น การทำสลากออมทรัพย์ การขายหนี้ เอ็นพีแอล และการบริหารจัดการสินทรัพย์รอการขาย (เอ็นพีเอ)
นายฉัตรชัย กล่าวด้วยว่า ธนาคาร ยังได้จัดทำ แอพพลิเคชั่น GHB ALL รวมทุกบริการของ ธอส. ไว้ในมือลูกค้า ซึ่งแอพพลิเคชั่นถูกออกแบบมาจากข้อมูลความต้องการของลูกค้านำมาจัดทำเป็นฟังก์ชันการใช้งานที่จำเป็น เพื่ออำนวยความสะดวกลูกค้าได้อย่างครบวงจร อาทิ ชำระเงินกู้ โอนเงิน ดูใบเสร็จค่าบ้าน และจองคิวใช้บริการที่สาขา ซึ่งจะทำให้ ธอส. ขยายช่องทางการให้บริการดิจิทัลที่ตอบโจทย์ ไลฟ์สไตล์ประชาชนในยุค 4.0 และจะพร้อมให้ประชาชนได้ดาวน์โหลดบนสมาร์ทโฟนทั้งระบบ iOS และ Android ตั้งแต่วันที่ 1 พ.ย.นี้ เป็นต้นไป
โดยลูกค้าที่ทำธุรกรรมการเงินผ่าน GHB ALL จะได้รับบริการที่มีความครบถ้วน สะดวก รวดเร็ว และปลอดภัยในแอพพลิเคชั่น เดียว สำหรับในเฟสแรก GHB ALL สามารถอำนวยความสะดวกให้กับลูกค้าได้ 6 บริการ ประกอบด้วย 1. ด้านเงินฝาก (เช็คยอด/ดู statement) 2.โอนเงินภายในและต่างธนาคาร 3.สมัครและโอนเงินผ่าน PromptPay 4.ตรวจสอบสถานะสินเชื่อ 5. ชำระเงินกู้โดยหักบัญชี ธอส. และ 6. สร้าง QR Code เพื่อชำระเงินกู้
นายวิรไท สันติประภพ ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) เปิดเผยว่า เร็ว ๆ นี้จะเรียกทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้องกับภาคอสังหาริมทรัพย์มาปรึกษาหารือ หลังจากคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) มีความกังวลต่อภาวะการแข่งขันสูงในตลาดสินเชื่อเพื่อที่อยู่อาศัยของสถาบันการเงิน ส่งผลให้มาตรฐานการปล่อยสินเชื่อลดลง และพบการปล่อยสินเชื่อเกินมูลค่าบ้าน รวมทั้งขณะนี้มียอดคงค้างของอาคารชุดในบางพื้นที่จำนวนมาก อาจมีความเสี่ยงต่อระบบการเงินและระบบสถาบันการเงินได้ในอนาคต จึงต้องเรียกหารือก่อนออกมาตรการที่เหมาะสมมาดูแลต่อไป
ทั้งนี้ในปีที่ผ่านมาได้ใช้มาตรการดูแลเสถียรภาพของระบบสถาบันการเงินและระบบเศรษฐกิจ (แมคโคร พรูเด็นเชี่ยล) เพื่อดูแลการปล่อยสินเชื่อส่วนบุคคลของภาคสถาบันการเงิน และควบคุมวงเงินสินเชื่อของธุรกิจบัตรเครดิตให้อยู่ในวงจำกัด เพื่อแก้ไขปัญหาการก่อหนี้ครัวเรือนเพิ่มมากขึ้น ซึ่งส่วนใหญ่ของประเทศเศรษฐกิจเกิดใหม่จะใช้มาตรการ เช่น แมคโครพรูเด็นเชี่ยล กับนโยบายการเงิน ใช้เสริมซึ่งกันและกัน
"เบื้องต้นพบว่า มีความเสี่ยงหลายลักษณะ เช่น คอนโดเงินทอน เป็นแคมเปญทางการตลาดของสินเชื่อที่อยู่อาศัยเพื่อให้วงเงินกู้เกินราคาบ้าน ทำให้เกิดดีมานด์เทียม ส่งเสริมการเก็งกำไรทั้งที่ผู้ซื้อไม่มีกำลังซื้อพอ นำไปสู่การเกิดหนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ (เอ็นพีแอล) ในบางกลุ่ม"
แหล่งข่าวจากธนาคารพาณิชย์ กล่าวว่า สัญญาณความเปราะบางของสินเชื่อที่อยู่อาศัยที่ ธปท. เป็นห่วง ได้รับรู้มาสักระยะในตลาดอสังหาริมทรัพย์ หลังจากคณะกรรมการนโยบายสถาบันการเงิน (กนส.) และ กนง. ประชุมเมื่อเดือน ก.ค.ที่ผ่านมา พบความเสี่ยงในตลาดอสังหาริมทรัพย์ และการประชุม กนง. เมื่อวันที่ 8 ส.ค.ที่ผ่านมา ได้เป็นห่วงและย้ำเตือนอีกครั้ง เช่นเดียวกับ กนง. รอบล่าสุดวันที่ 9 ก.ย. 61 ซึ่งยังไม่เห็นการลดลงของความเสี่ยงดังกล่าว
นายณัฐพล ลือพร้อมชัย ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการใหญ่ สายงานสินเชื่อเพื่อที่อยู่อาศัย ธนาคารกรุงศรีอยุธยา กล่าวว่า ธนาคารกรุงศรีฯเตรียมข้อมูลมานำเสนอ ธปท. หากเรียกหารือ และเชื่อว่าทุก ๆ ธนาคารก็มีความพร้อมเช่นกัน ที่ผ่านมาได้มีสัญญาณมาจาก ธปท. บ้างแล้ว แต่ครั้งนี้ถือว่าชัดเจนกว่าทุกครั้ง ส่วนกรณีการปล่อยสินเชื่อเกินมูลค่าบ้าน (โลน ทู แวลู) ที่เป็นปัญหาบางรายสถาบันการเงินปล่อยสินเชื่อถึง 120% ปัจจุบัน ธปท.กำหนดไม่ให้เกิน 90% ของมูลค่าหลักประกันเท่านั้น และยังมีบางรายปล่อยสินเชื่อบ้านรวมกับการต่อเติมบ้าน จึงเห็นด้วยกับ ธปท. ที่จะออกแนวปฏิบัติเป็นมาตรฐานเหมือนกันในระบบสถาบันการเงิน
นอกจากนี้ยังพบเห็นความเสี่ยงในภาคอสังหาริมทรัพย์ โดยมีขบวนการชักจูงให้ประชาชนลงทุนเก็งกำไรที่อยู่อาศัย เช่น คอนโดเงินเหลือ พฤติกรรมคือมีผู้เป็นคนกลางติดต่อโครงการอสังหาริมทรัพย์ขอเป็นนายหน้าซื้อทรัพย์แบบยกลอตหลายหลัง โดยขอราคาลดพิเศษ จากนั้นนำมาปล่อยให้ผู้ลงทุนซื้อในราคาลดเพื่อปล่อยเช่าพร้อมการันตีผลตอบแทน 6-7% โดยนายหน้าจะได้ส่วนต่างไป และปล่อยให้ผู้หลงเชื่อไปลงทุนรับความเสี่ยงเอง
ที่มา : หนังสือพิมพ์กรุงเทพธุรกิจ ( 25 September 2018 )
ที่มา : http://www.reic.or.th/news/News_Detail.aspx?newsid=57448
ติดตามข่าวสาร บ้าน คอนโค ที่ดิน อสังหาฯ เเละอัพเดท ราคาบ้าน ราคาคอนโด เพื่อให้ทั้งผู้ซื้อและผู้ขายเห็นภาพที่แท้จริงของตลาด และตัดสินใจได้ถูกต้อง ก่อนใครที่ ZmyHome