พฤกษาจี้รื้อเกณฑ์แอลทีวี ฟื้นตลาดอสังหาฯ
ในส่วนของพฤกษาพบว่า มียอดปฎิเสธสินเชื่อเพิ่มขึ้นเป็น 7-8% ส่งผลให้ไตรมาสแรก เปิดตัวโครงการไปเพียงแค่ 5 โครงการ น้อยกว่าช่วงเดียวกันกับปี 2561 ที่เปิดตัวโครงการ 15 โครงการ เนื่องจากสถานการณ์ไม่เอื้อ โดยเฉพาะการได้รับผลกระทบจากมาตรการแอลทีวี จึงอยากให้ธปท.ปรับหลักเกณฑ์ที่เหมาะสมใหม่ อาทิ การตัดผู้กู้ร่วมออกไป โดยให้ผู้กู้ร่วมยังอยู่ในเกณฑ์การขอสินเชื่อบ้านหลังแรก แทนที่จะเข้าข่ายบ้านหลังที่ 2 หรือขยับเกณฑ์คุมเข้มสินเชื่ออสังหาฯจากบ้านหลังที่ 2 เป็นบ้านหลังที่ 3 เพราะปัจจุบันมาตรฐานใหม่ของชีวิตเมือง การมีบ้านหลังที่ 2 ถือเป็นเรื่องปกติ เพื่อลดผลกระทบของตลาดอสังหาฯ
ดูรายละเอียด 5 โครงการเปิดตัวใหม่ปี 62 จาก Pruksa คลิก >> Chapter จุฬา-สามย่าน , Chapter เจริญนคร-ริเวอร์ไซด์ , The Tree จรัญ-บางพลัด , The Privacy เตาปูน อินเตอร์เชนจ์ , Plum Condo ดอนเมือง-แอร์พอร์ท
นางสุพัตรา กล่าวว่า จากผลกระทบดังกล่าว ทำให้พฤกษาต้องปรับกลยุทธ์การตลาดใหม่ ตั้งแต่ไตรมาสที่ 2 โดยเลือกเปิดตัวโครงการใหม่เฉพาะในทำเลที่มีศักยภาพจริง ๆ รวมถึงเร่งขายบ้านที่ยังสร้างไม่เสร็จ เพื่อให้ลูกค้ามีระยะเวลาผ่อนดาวน์นานขึ้นจากภาระเงินดาวน์ที่เพิ่มขึ้น ขณะเดียวกันยังได้ร่วมกับพันธมิตรที่เป็นสถาบันการเงิน จัดแคมเปญต่าง ๆ เพื่อแบ่งเบาภาระให้กับผู้ซื้อบ้าน
นอกจากนี้ยังได้ปรับโครงสร้างแบรนด์ใหม่จาก 48 แบรนด์ให้เหลือ 14 แบรนด์ เพื่อให้ง่ายต่อการบริหารจัดการและทำการตลาดได้ครอบคลุม พร้อมทั้งจัดแคมเปญการตลาด พฤกษา ลีฟวิ่ง เทค โดยนำเทคโนโลยีผสานกับนวัตกรรมทางธรรมชาติมาปรับใช้กับสินค้าของพฤกษาทั้ง 14 แบรนด์ ให้ครอบคลุมที่อยู่อาศัย 4 ด้าน ได้แก่ เทคโนโลยีที่อยู่อาศัยเพื่อสุขภาพ สิ่งแวดล้อม ความปลอดภัย และการเชื่อมต่อกับเทคโนโลยีแบบเรียลไทม์ เช่น การควบคุมระบบต่าง ๆ ภายในบ้าน
พร้อมกันนี้ยังได้ร่วมทำพันธมิตรเปิดตัว Pruksa Official Shop ที่ Shopee พร้อมด้วย Exclusive Deal ซื้อ Pruksa Voucher มูลค่า 10,000 บาท ในราคาพิเศษเพียง 6 บาท โดย Pruksa Voucher สามารถใช้จองโครงการทาวน์โฮม บ้านเดี่ยว และคอนโดกว่า 59 โครงการ มากกว่า 700 ยูนิต ตั้งแต่วันนี้ (6 มิ.ย.) - 6 ก.ค.นี้ นอกจากนี้ลูกค้าที่จองและโอนกรรมสิทธิ์ก่อน 30 ก.ย.นี้ พิเศษ รับเพิ่มอีก 5,000 Coins
นายชาติชาย พยุหนาวีชัย ผู้อำนวยการธนาคารออมสิน เปิดเผยว่า ขณะนี้ยอดปฏิเสธสินเชื่อบ้านของกลุ่มผู้มีรายได้น้อยของธนาคารอยู่ในอัตรา 30% เพิ่มขึ้นเล็กน้อยจากระยะที่ผ่านมา แต่ถือว่าอยู่ในระดับต่ำกว่าธนาคารพาณิชย์อื่น โดยเรื่องของรายได้ของผู้กู้ที่อยู่ในระดับต่ำและมีรายได้ไม่ต่อเนื่องเป็นสาเหตุหลักที่ทำให้ไม่ได้รับอนุมัติสินเชื่อ ธนาคารจึงมีแนวคิดจะออกมาตรการมาช่วยเหลือกลุ่มผู้มีรายได้น้อย วงเงินรวม 2 หมื่นล้านบาท
โดยเบื้องต้นวางไว้ 2-3 แนวทาง คือ 1. ในกลุ่มผู้มีรายได้น้อยที่ประกอบอาชีพอิสระ เช่น พ่อค้า แม่ค้า ธนาคารจะเพิ่มเครดิตด้านการเงินให้ ผ่านการออมก่อนกู้ เช่น ถ้าต้องการกู้บ้านในราคา 1 ล้านบาท อัตราการผ่อนขั้นต่ำโดยเฉลี่ยจะอยู่ที่ 7,000บาทต่อเดือน ธนาคารก็จะให้ออมกับธนาคารเดือนละ 7,000บาท เป็นระยะเวลา 1 ปี เพื่อแสดงให้เห็นว่ามีความสามารถในการผ่อนชำระได้ โดยที่ธนาคารไม่ต้องวิเคราะห์รายได้ของผู้กู้ เป็นต้น
2. ธนาคารจะปล่อยกู้แก่ผู้ประกอบการอสังหาริมทรัพย์ โดยให้ผู้ประกอบการนำเงินกู้ก้อนดังกล่าวไปปล่อยกู้ให้แก่ประชาชนที่ซื้อบ้านเหมือนกับการผ่อนดาวน์ 10% เป็นระยะเวลา 2 ปี โดยในระหว่าง 2 ปีนั้น ผู้กู้จะทยอยผ่อนชำระหนี้ให้แก่ผู้ประกอบการ และเมื่อครบ 2 ปี จะโอนลูกหนี้ผ่อนดาวน์มาเป็นลูกหนี้ของธนาคาร
3. นำรายได้ของผู้กู้ที่จะเกิดขึ้นในอนาคตมาคำนวณเป็นรายได้ของผู้กู้ เช่น กรณีผู้กู้เป็นลูกจ้างบริษัทเอกชน อาจจะได้รับการปรับขึ้นเงินเดือนในอัตรา 5-6% ในระยะ 3 ปีข้างหน้า ดังนั้นรายได้ที่จะนำมาคำนวณเพื่อพิจารณาสินเชื่อก็จะเพิ่มขึ้น เป็นต้น
ที่มา : ศูนย์ข้อมูลอสังหาริมทรัพย์, หนังสือพิมพ์กรุงเทพธุรกิจ