ลุ้นไฟเขียว EIA ไฮสปีดอีอีซี
นายวรวุฒิ มาลา รักษาการผู้ว่าการการรถไฟแห่งประเทศไทย (ร.ฟ.ท.) เปิดเผย "ประชาชาติธุรกิจ" ว่า วันที่ 24 มิ.ย.จะมีการประชุมคณะกรรมการ (บอร์ด) สิ่งแวดล้อมแห่งชาติ พิจารณารายงานผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อม (EIA) โครงการรถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบิน ดอนเมือง สุวรรณภูมิ อู่ตะเภา ระยะทาง 220 กม. วงเงิน 224,544 ล้านบาท และในวันเดียวกัน คณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (อีอีซี) จะประชุมพิจารณาประเด็นต่าง ๆ ของโครงการทั้งหมด เพื่อเตรียมการลงนามกับกลุ่มกิจการร่วมค้า บริษัท เจริญโภคภัณฑ์โฮลดิ้ง จำกัด และพันธมิตร (กลุ่ม ซี.พี.) ปลายเดือน มิ.ย.ถึงต้น ก.ค.นี้
"EIA คาดว่าไม่น่ามีปัญหาเพราะผ่านคณะกรรมการผู้ชำนาญการแล้ว โดยเฉพาะช่วงเขาชีจรรย์จะมีเจาะอุโมงค์ เพียงแต่แจ้งให้ ซี.พี.ทราบ และแนบท้ายในสัญญาก่อสร้าง ตอนนี้รอสรุปการส่งมอบพื้นที่จะต้องทำให้สอดคล้องกับแผนการก่อสร้างของ ซี.พี. น่าจะได้ข้อสรุปหลัง 24 มิ.ย."
นายสุจิตต์ เชาว์ศิริกุล รองผู้ว่าการกลุ่มบริหารรถไฟฟ้า ร.ฟ.ท. กล่าวว่า การส่งมอบพื้นที่ก่อสร้างให้ ซี.พี. จะหารือ ร่วมกันอีกครั้งวันที่ 27 มิ.ย.นี้ จะดูว่าจุดไหนต้องแก้ไขเพิ่มเติม เบื้องต้น ร.ฟ.ท.ได้กำหนดกรอบเวลาเคลียร์พื้นที่ที่เป็นอุปสรรคโครงการออกเป็น 3 ประเภทแนบไปด้วย จะใช้เวลาดำเนินการ 2-3 ปี ได้แก่ 1.พื้นที่เวนคืนตาม พ.ร.ฎ.เวนคืน ขอเวลา 2 ปี 2.พื้นที่บุกรุก ขอเวลา 2-2 ปี ครึ่ง 3.พื้นที่ติดสัญญาเช่ากว่า 300-400 สัญญาและระบบสาธารณูปโภค ขอเวลา 2 ปี
"พื้นที่ที่เป็นอุปสรรคโครงการนี้คิดเป็น 20% ของพื้นที่ก่อสร้างทั้งหมดกว่า 10,000 ไร่ หรือ 2,000 ไร่ มีที่ดิน 80% ที่พร้อมส่งมอบให้ ซี.พี.นำไปก่อสร้างได้ทันที เช่น สถานีมักกะสัน 100 ไร่ แต่ ซี.พี.อาจเห็นต่าง อยากจะขอให้ส่งมอบพื้นที่ให้ 100% ซึ่งคงเป็นไปไม่ได้"
ด้านแหล่งข่าวจากกลุ่ม ซี.พี.กล่าวว่า ร.ฟ.ท.ให้โจทย์มาว่าจะเริ่มสร้างตรงไหนก่อนหลัง จะได้เคลียร์พื้นที่ให้ เพราะประเมินแล้วพื้นที่มีปัญหา ต้องใช้เวลาเคลียร์ 2-3 ปี ทำให้การก่อสร้างตลอด 220 กม.เป็นแบบฟันหลอ แต่เอกชนต้องกู้เงินมาก่อสร้างและต้องสร้างให้เสร็จใน 5 ปี จึงต้องการให้ส่งมอบพื้นที่ให้ได้ทั้งหมด เพื่อจะได้เข้าสำรวจออกแบบก่อสร้าง
ทั้งหมดขึ้นอยู่กับ ซี.พี.ว่าจะรับข้อเสนอของ ร.ฟ.ท.หรือไม่ เพราะในสัญญาจะได้แค่ขยายเวลาก่อสร้าง ไม่มีค่าชดเชยหากมีค่าใช้จ่ายเกิดขึ้นระหว่างก่อสร้าง เป็นความเสี่ยงของเอกชน เหมือนกับโครงการแอร์พอร์ตลิงก์ที่ติดเวนคืน จนทำให้ บมจ.ซิโน-ไทย เอ็นจิเนียริ่ง แอนด์ คอนสตรัคชัน ขาดทุนไปร่วม 1,700 ล้านบาท
"ตลอดแนวมีพื้นที่มีปัญหา 2,250 ไร่ ติดเวนคืน 850 ไร่ ผู้บุกรุกส่วนใหญ่แถวดอนเมือง-หัวหมาก 1,000 ไร่ ติดสัญญาเช่ากว่า 300 สัญญา ร่วม 400 ไร่ ต้องทุบตอม่อโฮปเวลล์กว่า 200 ต้น ใช้เงินทุบหลัก 100 ล้านบาท และยังมีทางเดินเชื่อมของสายสีแดงที่กำลังสร้าง อาจต้องทุบทิ้งบางส่วนเพราะกีดขวาง ด้านจุดทับซ้อนกับรถไฟความเร็วสูงไทย-จีน ช่วงดอนเมือง-บางซื่อ และอุโมงค์คลองแห้งช่วงจิตรลดาซ้อนทับสายสีแดง หากไฮสปีดเชื่อม 3 สนามบินสร้างก่อน จะดำเนินการให้ไปก่อนกว่า 7,000 ล้านบาท การเซ็นสัญญาคาดว่าจะเป็นภายในเดือน มิ.ย.นี้ แต่ขึ้นอยู่กับ EIA และการส่งมอบพื้นที่จะเคลียร์กับ ร.ฟ.ท.ได้เร็วแค่ไหน" แหล่งข่าวกล่าว
รายงานข่าวแจ้งว่า เมื่อวันที่ 24 มิถุนายน 2562 มีการประชุมคณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ มีพลเอกประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี เป็นประธานในที่ประชุม โดยได้มีการพิจารณารายงานผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อมของโครงการรถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบินดอนเมือง สุวรรณภูมิ อู่ตะเภา ระยะทาง 220 กิโลเมตร วงเงินลงทุน 224,544 ล้านบาท โดยที่ประชุมมีมติอนุมัติโครงการเป็นที่เรียบร้อยแล้ว หลังใช้เวลาพิจารณาประมาณ 10 นาที ทั้งนี้มีข้อเสนอแนะเพิ่มเติมเรื่องแผนการจัดทำแผนฉุกเฉิน กู้ภัยและอุบัติเหตุ หลังจากนี้ เหลือการพิจารณาแผนส่งมอบพื้นที่ระหว่างการรถไฟแห่งประเทศไทย (ร.ฟ.ท.) กับกลุ่ม ซี.พี. เมื่อได้ข้อยุติร่วมกันแล้วถึงจะมีการเซ็นสัญญาก่อสร้างต่อไป คาดว่าไม่เกินต้น ก.ค.นี้
ที่มา : หนังสือพิมพ์ประชาชาติธุรกิจ, ศูนย์ข้อมูลอสังหาริมทรัพย์