รถไฟฟ้าสีน้ำเงิน จุดพลุคอนโดฝั่งธนฯรอบ 2
ทั้งนี้ ภาวะตลาดที่อยู่อาศัยแนวสูงที่มีการขยายตัวร้อนแรงตลอด 5 ปีก่อนหน้าเริ่มชะลอตัวลง เมื่อธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ออกมาแสดงความกังวลเกี่ยวกับซัปพลายที่ขยายตัวสูง จนอาจเกิดภาวะโอเวอร์ซัปพลายในช่วง 2 ปีก่อนนี้ และยิ่งชะลอตัวหนักในช่วงปลายปี 61 ต่อเนื่องมาถึงครึ่งแรกของปี 62 นี้ จากการบังคับใช้มาตรการ LTV เมื่อวันที่ 1 เม.ย.ที่ผ่านมา
เปิดใช้สายน้ำเงินหนุนตลาดห้องชุดฝั่งธนฯ คึกคัก เชื่อเพิ่มอัตราการระบายออกซัปพลายในพื้นที่
ล่าสุดหลังข่าวการเปิดให้บริการรถไฟฟ้าสายสีน้ำเงิน ได้กลับมาสร้างความคึกคักให้แก่โครงการคอนโดฯ ในแนวรถไฟฟ้าสายสีน้ำเงินอีกครั้ง โดย ดร.เกษรา ธัญลักษณ์ภาคย์ รองประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท เสนา ดีเวลลอปเม้นท์ จำกัด (มหาชน) หรือ SENA กล่าวว่า การเปิดใช้รถไฟฟ้าสายสีน้ำเงิน แน่นอนว่าจะส่งผลดีต่อตลาดอสังหาฯ โดยเฉพาะตลาดคอนโดฯ เพราะสายสีน้ำเงินแม้จะเปิดหน้าดินหรือทำเลใหม่ ๆ ไม่มาก เพราะมีการเปิดหน้าดินไปแล้วตั้งแต่ช่วงที่มีข่าวการลงทุนก่อสร้างรถไฟฟ้าสายสีน้ำเงิน แต่จะมีผลดีต่อการระบายซัปพลายในพื้นที่มากกว่า เนื่องจากสายสีน้ำเงินช่วงหัวลำโพง-บางแคนี้ วิ่งผ่านเมืองเก่า ชุมชนเก่า เช่น ถนนอิสรภาพ ถนนพรานนก ซึ่งยังไม่เคยมีรถไฟฟ้าวิ่งผ่าน จึงมั่นใจว่าจะช่วยกระตุ้นตลาดคอนโดฯ กลับมาอีกรอบหนึ่ง ผลที่ตามมาคือ การขายจะง่ายขึ้น
ส่วนในเรื่องราคาที่ดินแนวรถไฟฟ้าหลังการเปิดให้บริการรถไฟฟ้าสายสีน้ำเงินนั้น เชื่อว่าจะยังไม่ปรับตัวขึ้นเพราะในช่วงก่อนหน้านี้ราคาที่ดินมีการปรับตัวติดต่อกันมาค่อนข้างมาก ในขณะเดียวกันราคาที่ดินก็ไม่น่าจะปรับตัวลง ส่วนราคาขายคอนโดฯ ในแนวรถไฟฟ้าดังกล่าว ทั้งโครงการเดิมที่มีการเปิดขายไปแล้ว หรือโครงการใหม่ ๆ ที่จะเข้าไปเปิดตัวน่าจะยังไม่ปรับตัวขึ้น เนื่องจากภาวะตลาดปัจจุบันไม่เอื้อต่อการปรับตัวของราคาขายห้องชุด ซึ่งแน่นอนว่าส่วนหนึ่งเกิดจากผู้พัฒนาโครงการยังระมัดระวังในการทำตลาด
สำหรับจุดที่น่าจะมีการเปิดตัวโครงการหนาแน่นนั้น เชื่อว่าปัจจุบันการเลือกทำเลพัฒนาโครงการของผู้ประกอบการจะไม่กระจุกที่ใดที่หนึ่งเช่นเดียวกับช่วงแรกที่มีข่าวการลงทุนก่อสร้างรถไฟฟ้า แต่ผู้พัฒนาจะพิจารณาถึงปัจจัยแวดล้อมของแต่ละทำเลว่า มีสิ่งอำนวยความสะดวกรองรับไลฟ์สไตล์การใช้ชีวิตของกลุ่มลูกค้าเป้าหมายเพียงพอหรือไม่ เช่น มีห้างสรรพสินค้า มีโรงพยาบาล มีร้านค้า ร้านอาหาร และมีสวนสาธารณะในพื้นที่ที่จะเข้าไปพัฒนามากน้อยอย่างไร
"ปัจจัยด้านสิ่งอำนวยความสะดวกมากกว่า ที่จะเป็นตัวดึงดูด หรือปัจจัยที่ทำให้ผู้พัฒนาโครงการตัดสินใจเข้าไปลงทุนพัฒนาโครงการใหม่ในแต่ละทำเล เพราะแม้ว่าคอนโดฯ ที่เปิดตัวอยู่ติดกับสถานีรถไฟฟ้า แต่เมื่อพิจารณาดูแล้วต้องยอมรับว่าในบางโครงการที่เปิดตัวติดสถานีรถไฟฟ้าเหมือนกัน แต่ก็ไม่ขายดีเท่ากัน เพราะสิ่งอำนวยความสะดวกแตกต่างกัน และอีกปัจจัยที่จะทำให้ขายดีหรือไม่ดีคือราคาขายและสิ่งที่โครงการให้เมื่อเทียบกับโครงการในพื้นที่เดียวกัน"
ซัปพลายสะสมสายสีน้ำเงินกว่า 48,384 ยูนิต
ด้านนายสุรเชษฐ กองชีพ กรรมการผู้จัดการ บริษัท ฟีนิกซ์ พร็อพเพอร์ตี้ ดีเวลล็อปเม้นท์ แอนด์ คอนซัลแทนซี่ จำกัด ผู้ให้บริการข้อมูลวิจัยและที่ปรึกษาโครงการตลาดอสังหาฯ กล่าวว่า รถไฟฟ้าสายสีน้ำเงินส่วนต่อขยาย มีจุดเริ่มต้น 2 จุด คือ สถานีเตาปูนมาตามถนนประชาราษฎร์สาย 2 ข้ามแม่น้ำเจ้าพระยาแล้วลงมาตามแนวถนนจรัญสนิทวงศ์มาสิ้นสุดที่สถานีท่าพระ อีกจุดคือ สถานีหัวลำโพงแล้วผ่านมาทางใต้ดินตามแนวถนนเจริญกรุงและลอดผ่านแม่น้ำเจ้าพระยา จากนั้นมาขึ้นสู่เส้นทางลอยฟ้า ย่านถนนอิสรภาพและมาบรรจบกับเส้นทางที่มาจากสถานีเตาปูนที่สถานีท่าพระ จากนั้น เลยไปตามถนนเพชรเกษมสิ้นสุดที่สถานีบางแค โดย เส้นทางรถไฟฟ้าสายสีน้ำเงินที่มาจากหัวลำโพง จะเปิดให้บริการอย่างเป็นทางการในวันที่ 12 ส.ค. 62 และ ในปี 63 เส้นทางสายสีน้ำเงินจากเตาปูนจะเปิดให้บริการ
สำหรับรถไฟฟ้าสายสีน้ำเงินมีระยะทาง 27 กิโลเมตร 19 สถานี ซึ่งยาวมาก ดังนั้น พื้นที่ตามแนวเส้นทางรถไฟฟ้าสายสีน้ำเงินจึงมีพื้นที่ให้พัฒนาเยอะมาก แม้ว่าพื้นที่ส่วนหนึ่งจะอยู่ในเขตที่มีข้อจำกัดในการพัฒนาค่อนข้างมาก เช่น พื้นที่ตามแนวถนนเจริญกรุง พื้นที่แนวเส้นทางรถไฟฟ้าสายสีน้ำเงิน จึงเป็นพื้นที่ที่มีคอนโดฯ เปิดขายสะสมมากที่สุด เมื่อเทียบกับพื้นที่ตามแนวเส้นทางรถไฟฟ้าที่กำลังก่อสร้างอื่น ๆ โดย ณ ปัจจุบันมีคอนโดฯ สะสมในตามแนวเส้นทางรถไฟฟ้าสายสีน้ำเงินประมาณ 48,384 ยูนิต ซึ่งเริ่มเปิดขายตั้งแต่ปี 52 เพราะทั้งเส้นทางมีความชัดเจนมากก่อสร้างแล้ว ผู้ประกอบการจึงเลือกพื้นที่ตามแนวถนนเพชรเกษม จรัญสนิทวงศ์ และประชาราษฎร์สาย 2 เพื่อพัฒนาคอนโดฯ โดยในช่วงปี 52-53 คอนโดฯ ที่เปิดขายมีราคาเฉลี่ย 71,000 บาทต่อตารางเมตร (ตร.ม.) แต่ในช่วง 1-2 ปีที่ผ่านมา เปิดขายกัน ในราคาเฉลี่ย 88,000 บาทต่อ ตร.ม.แต่ก็มีหลายโครงการมีอัตราการขายสูง หรือปิดการขายไปในช่วงที่ผ่านมา มีเพียงโครงการที่เปิดขายในระดับราคามากกว่า 90,000 บาทต่อ ตร.ม. ที่ยังเหลือขายในปัจจุบัน
แนวถนนเพชรเกษมแชมป์คอนโดฯ เปิดขายมากสุด 94%
นายสุรเชษฐ กล่าวว่า สำหรับแนวทางรถไฟฟ้าสายสีน้ำเงิน ช่วงบางซื่อ-ท่าพระ จะมีจำนวนคอนโดฯสะสมมากกว่าแนวเส้นทางรถไฟฟ้าหัวลำโพง-บางแคอย่างชัดเจน เพราะแนวเส้นทางช่วงบางซื่อ-ท่าพระ มีหลายโครงการที่เปิดขายก่อนหน้ามีการก่อสร้าง โดยเฉพาะพื้นที่แนวถนนจรัญสนิทวงศ์ ซึ่งมีผู้ประกอบการเข้ามาซื้อที่ดินและเปิดขายคอนโดฯนานกว่า 10 ปีแล้ว พื้นที่ตามแนวถนนประชาราษฎร์สาย 2 เป็นอีกพื้นที่ที่มีคอนโดฯ เปิดขายจำนวนมากในช่วงก่อนปี 55 ในขณะที่แนวเส้นทางช่วงหัวลำโพง-หลักสอง มีบางพื้นที่ที่หาที่ดินเพื่อพัฒนาคอนโดฯ ได้ยาก เช่น แนวถนนเจริญกรุง หรือช่วงที่ลอดผ่านแม่น้ำเจ้าพระยา เป็นต้น โดยตามแนวเส้นทางช่วงบางซื่อ-ท่าพระ มีคอนโดฯ สะสมประมาณ 32,452 ยูนิต ส่วนพื้นที่ตามเส้นทางรถไฟฟ้าช่วงหัวลำโพง-บางแคมีประมาณ 15,886 ยูนิต
ขณะที่เลียบถนนจรัญสนิทวงศ์ เป็นพื้นที่ที่ยังพอมีที่ดินเหลือให้พัฒนาอยู่มากกว่า แต่มีอุปสรรคสำคัญ คือพื้นที่ตลอดแนวถนนจรัญสนิทวงศ์มีการพัฒนาอย่างต่อเนื่องมายาวนานหลายปีก่อนหน้าแล้ว และพื้นที่ทั้งสองฝั่งก็เป็นอาคารพาณิชย์เกือบทั้งหมด แต่ก็ยังพอมีที่ดินเหลือให้พัฒนาคอนโดฯ อยู่บ้าง อีกทั้งเป็นถนนที่ขนานแม่น้ำเจ้าพระยา ซึ่งเป็นจุดขายที่สำคัญ สำหรับตลาดคอนโดฯ อีกทั้งพื้นที่ตามแนวถนนประชาราษฎร์สาย 2 และจรัญสนิทวงศ์เป็นพื้นที่ที่มีศักยภาพอยู่แล้วมีโครงการพื้นที่ค้าปลีก โรงพยาบาล สถานศึกษา และโครงการขนาดใหญ่ที่กำลังจะพัฒนาอยู่ในพื้นที่ ซึ่งเป็นปัจจัยดึงดูดกลุ่มผู้ซื้อ ขณะที่พื้นที่แนวเส้นทางหัวลำโพง- บางแค แม้จะมีโรงพยาบาลขนาดใหญ่ หรือศูนย์การค้า แต่ก็มีบางพื้นที่ที่ไม่สามารถหาที่ดินได้ มีเพียงพื้นที่ตามแนวถนนเพชรเกษมเท่านั้น ที่ยังมีที่ดินเหมาะกับการพัฒนาคอนโดฯ และเป็นพื้นที่สิ่งอำนวยความสะดวกรองรับผู้อยู่อาศัย อีกทั้งการเชื่อมต่อการเดินทางกับเส้นทางอื่น ๆ ก็สะดวก ไม่ต่างจากพื้นที่ตามแนวถนนจรัญสนิทวงศ์
ส่วนพื้นที่แนวรถไฟฟ้าช่วงหัวลำโพง-บางแค ที่จะทดลองเดินรถไฟฟ้าวิ่งในเดือน ก.ค. เป็นพื้นที่ตามแนวเส้นทางรถไฟฟ้าสายสีน้ำเงินที่มีคอนโดฯ อยู่ประมาณ 15,886 ยูนิต หรือ 33% ของคอนโดฯ ทั้งหมดที่เปิดขายในพื้นที่ตามแนวรถไฟฟ้าสายสีน้ำเงินทั้ง 2 ช่วง โดยเป็นโครงการที่เปิดขายในช่วงปี 60 มากที่สุด เพราะมีคอนโดฯมากกว่า 5,230 ยูนิตเปิดขายในปีนี้ และพื้นที่ตามแนวถนนเพชรเกษมเป็นพื้นที่ที่มีคอนโดฯ เปิดขายมากที่สุด เนื่องจากตั้งแต่อดีตถึงเดือน พ.ค.62 มีคอนโดฯเปิดขายมาแล้วกว่า 18,640 ยูนิต หรือประมาณ 94% เนื่องจากพื้นที่อื่น ๆ ตามแนวรถไฟฟ้าสายสีน้ำเงินช่วงหัวลำโพง-บางแค ไม่มีพื้นที่ในการพัฒนาคอนโดฯ หรือสามารถพัฒนาได้เฉพาะคอนโดฯ ขนาดเล็กเท่านั้น
ห้องชุด "บางซื่อ-ท่าพระ" เกิน 3 ล้านขายยาก
อัตราการขายเฉลี่ยของโครงการคอนโดมิเนียมที่เปิดขายในพื้นที่ตามแนวเส้นทางรถไฟฟ้าสายสีน้ำเงินช่วงหัวลำโพง-บางแคอยู่ที่มากกว่า 85% แต่ยังคงมีคอนโดฯเหลือขายอยู่ไม่น้อย ในปัจจุบันราคาขายเฉลี่ยคอนโดฯในพื้นที่นี้อยู่ที่ประมาณ 82,000 บาทต่อตร.ม. หรือไม่เกิน 3 ล้านบาทต่ออยู่นิต (1 ห้องนอนขนาด 30-35 ตร.ม.) ซึ่งเป็นระดับราคาและขนาดยอดนิยมของตลาดคอนโดฯกรุงเทพฯ ส่วนโครงการที่ขายราคาสูงกว่านี้จะขายได้ยากและยังคงเหลือขายอยู่ในปัจจุบันแม้ว่าจะเปิดขายมามากกว่า 2 ปีแล้วก็ตาม ส่วนพื้นที่ตามแนวรถไฟฟ้าช่วงบางซื่อ-ท่าพระ มีอัตราการขายเฉลี่ยที่ต่ำกว่าชัดเจน เพราะมีคอนโดฯ มากกว่าและมีหลายโครงการที่มีอัตราการขายต่ำมาก เนื่องจากราคาขายบางโครงการที่สูงกว่า ค่าเฉลี่ยและเป็นราคาที่ผู้ซื้อฝั่งธนบุรีคิดว่าสูงเกินไป
คาดปี 62 คอนโดฯ ฝั่งธนบุรีเปิดใหม่ 3,000 ยูนิต ราคาที่ดินจรัญฯ แตะ 300,000 บาทต่อ ตร.ว.
นายสุรเชษฐกล่าวต่อว่า แม้ว่าตลาดคอนโดฯ ในพื้นที่ฝั่งธนบุรีจะเป็นตลาดที่มีกำลังซื้อไม่มากและราคาขายต่ำกว่าฝั่งพระนคร แต่ก็ยังเป็นพื้นที่ที่ผู้ประกอบการให้ความสนใจในการเข้ามาเปิดขายโครงการใหม่ โดยในปี 62 คาดว่าจะมีคอนโดฯอีกประมาณ 2,500-3,000 ยูนิตเปิดขายใหม่โดยเป็นโครงการที่อยู่ตามแนวถนนเพชรเกษมและคาดว่าจะมีอีกเมื่อเส้นทางรถไฟฟ้าเปิดให้บริการแบบครบวงจรในอนาคต แต่ผู้ประกอบการต้องคำนึงถึงราคาขายของคอนโดมิเนียมในพื้นที่นี้ด้วยว่า ไม่ควรสูงเกินไป เพราะในพื้นที่ที่ไกลออกไปยังคงหาทาวน์เฮาส์หรือบ้านพร้อมที่ดินในราคาที่ไม่เกิน 4 ล้านบาทต่อยูนิตได้อยู่และเป็นข้อเปรียบเทียบสำคัญที่มีผลให้คอนโดมิเนียมที่เปิดขายในราคาประมาณ 3 ล้านบาทต่อยูนิตขึ้นไปขายได้ช้าในพื้นที่ฝั่งธนบุรี แม้ว่าจะเป็นโครงการที่อยู่ไม่ไกลจากสถานีรถไฟฟ้าก็ตาม
ราคาที่ดินของพื้นที่ตามแนวเส้นทางรถไฟฟ้าสายสีน้ำเงินทั้ง 2 ช่วงปรับเพิ่มขึ้นมากกว่า 10% ในช่วง 3-4 ปีที่ผ่านมา เพราะเมื่อการก่อสร้างของเส้นทางรถไฟฟ้าสายสีน้ำเงินเริ่มเดินหน้าเป็นรูปธรรมในปี 55 เพราะแม้จะเริ่มก่อสร้างจริงในปี 53 แต่อุปสรรคหลายอย่างและปัญหาน้ำท่วมในปี 54 มีผลให้การก่อสร้างหยุดชะงักมาโดยตลอด โดยราคาที่ดินในช่วงปี 55-56 อยู่ที่ประมาณ 100,0000-300,000 บาทต่อตารางวา (ตร.ว.) ในพื้นที่ตามแนวถนนจรัญสนิทวงศ์อาจจะมีมากกว่า 300,000 บาท ต่อ ตร.ว.แต่ก็เพียงแค่บางพื้นที่ หรือไม่เกิน 200,000 บาทในพื้นที่ตามแนวถนนเพชรเกษม แต่เมื่อการก่อสร้างเดินหน้าชัดเจนและกำหนดเปิดให้บริการใกล้เข้ามาแล้ว ราคาที่ดินในปี พ.ศ.2562 อยู่ที่มากกว่า 200,000 บาทต่อตารางวาขึ้นไปตลอดพื้นที่ทั้ง 2 ช่วง อาจจะมีต่ำกว่านี้ก็เป็นในบางพื้นที่ โดยที่ดินที่อยู่ใกล้สถานีรถไฟฟ้าส่วนใหญ่มีราคาขายมากกว่า 300,000 บาต่อตารางวาขึ้นไป และคงมากกว่านี้ขึ้นไปอีกในอนาคต
นอกจากเส้นทางรถไฟฟ้าสายสีน้ำเงินจะเป็นเส้นทางที่ต่อขยายจากเส้นทางรถไฟฟ้าสีน้ำเงินเดิมแล้วยังเป็นเส้นทางรถไฟฟ้าที่มีการเชื่อมต่อกับเส้นทางรถไฟฟ้าอื่น ๆ ด้วยในอนาคต เช่น
- สถานีรถไฟฟ้าเตาปูน ซึ่งเป็นสถานีร่วมกับเส้นทางรถไฟฟ้าสายสีม่วง ซึ่งตอนนี้เป็นพื้นที่ที่มีโครงการคอนโดฯ หนาแน่นพื้นที่หนึ่ง และเป็นพื้นที่ที่มีการเปลี่ยนแปลงมากแห่งหนึ่งของ กทม.ในรอบ 10 ปี
- สถานีรถไฟฟ้าสิรินธร ที่เป็นสถานีรถไฟฟ้าร่วมทางรถไฟฟ้าสายสีแดงอ่อนซึ่งเป็นเส้นทางรถไฟฟ้าที่เปิดให้บริการแล้วเพียงแต่ยังไม่เต็มระบบ ซึ่งคาดว่าต้องรอให้สถานีกลางบางซื่อเปิดให้บริการแบบสมบูรณ์ก่อนจึงจะสามารถเปิดให้บริการแบบเต็มรูปแบบได้ อีกทั้งจะมีการต่อขยายเส้นทางนี้ออกไปทางตะวันตกถึงศาลายาในอนาคต
- สถานีรถไฟฟ้าบางขุนนนท์ ซึ่งในอนาคตเมื่อเส้นทางรถไฟฟ้าสายส้มตะวันตกเสร็จสมบูรณ์จะเป็นสถานีร่วมอีก 1 สถานีที่มีความน่าสนใจ เนื่องจากเส้นทางรถไฟฟ้าสายสีส้มเป็นเส้นทางรถไฟฟ้าที่วิ่งผ่านใจกลางกรุงเทพมหานครจากตะวันตกไปตะวันออกซึ่งเป็นเส้นทางรถไฟฟ้าเส้นทางเดียวที่มีเส้นทางในลักษณะนี้ ดังนั้น สถานีรถไฟฟ้าบางขุนนนท์เป็นอีกสถานีที่มีความน่าสนใจในอนาคต
นายสุรเชษฐ กล่าวอีกว่า ขณะที่สถานีรถไฟฟ้าท่าพระ สถานีร่วมของเส้นทางรถไฟฟ้าสายสีน้ำเงินแม้ว่าจะเป็นสถานีที่ไม่ได้ร่วมกับเส้นทางอื่น แต่ด้วยความที่เส้นทางรถไฟฟ้าสายสีน้ำเงินช่วงบางซื่อ-ท่าพระมาสิ้นสุดที่ตรงนี้นั้นจึงเป็นอีกสถานีที่น่าสนใจแน่นอน เพราะเส้นทางช่วงบางซื่อ-ท่าพระก็เรียบเสมือนเส้นทางรถไฟฟ้าอีก 1 เส้นทางเพราะมาจากพื้นที่ที่แตกต่างกัน ส่วนสถานีรถไฟฟ้าบางหว้า สถานีร่วมของเส้นทางรถไฟฟ้าขนาดใหญ่อีก 1 สถานีเพราะเป็นสถานีที่ผู้โดยสารของสายสีน้ำเงินสามารถเข้าสู่ระบบรถไฟฟ้าเพื่อเดินทางเข้าพื้นที่ใจกลางกรุงเทพมหานครได้สมบูรณ์แบบที่สุดเพราะเส้นทางรถไฟฟ้าสายสีเขียวที่มาสิ้นสุดที่สถานีบางหว้าเป็นเส้นทางรถไฟฟ้าสายหลักของกรุงเทพมหานคร
การเกิดจุดตัดเส้นทางเดินรถ หรือสถานีรถไฟฟ้าร่วมต่าง ๆ ทำเลนั้นน่าสนใจ เพราะศักยภาพของพื้นที่ อีกทั้งการเปลี่ยนแปลงผังเมืองและข้อกำหนดในการพัฒนาต่าง ๆ ของผังเมืองกรุงเทพมหานครในบางพื้นที่ซึ่งช่วยเพิ่มศักยภาพของพื้นที่รอบ ๆ สถานีรถไฟฟ้าร่วมต่าง ๆ แน่นอนในอนาคต ซึ่งไม่เพียงแต่เพิ่มศักยภาพเท่านั้น แต่ยังมีผลโดยตรงต่อราคาที่ดินในพื้นที่ เพราะเมื่อศักยภาพของที่ดินเปลี่ยนไปมากขึ้น ราคาที่ดินย่อมสูงขึ้นตามไปด้วย แต่ทั้งนี้และทั้งนั้นการที่สถานีรถไฟฟ้าใดก็ตามจะมีศักยภาพเพิ่มขึ้นได้แบบชัดเจน ต้องอาศัยการเปลี่ยนแปลงในด้านกฎหมาย โดยเฉพาะผังเมืองประกอบด้วย ถ้าไม่มีการเปลี่ยนแปลงก็คงไม่เห็นการเปลี่ยนแปลงในพื้นที่ต่าง ๆ ที่กล่าวมาแล้ว
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า นอกจากแนวรถไฟฟ้าสายสีน้ำเงินช่วงจรัญสนิทวงศ์ เพชรเกษม บางแคแล้ว ทำเลย่านตลาดพลู ก็เป็นอีกหนึ่งทำเลที่ได้รับอานิสงส์ไปเต็ม ๆ เนื่องจากเป็นชุมชนเก่าแก่และยังมีที่ดินดิบอีกไม่น้อยที่สามารถพัฒนาคอนโดฯ ได้ ทำให้ย่านตลาดพลูกลายเป็นอีกทำเลสำคัญที่ได้รับความสนใจจากผู้ประกอบการอสังหาฯ โดยก่อนหน้านี้ อสังหาฯรายใหญ่อย่างเสนาฯ ก็ได้ซื้อที่ดินพร้อมเตรียมเปิดตัวคอนโดฯ ร่วมทุนโครงการ ขณะที่ ศุภาลัย เป็นอีกเจ้าที่เตรียมเปิดตัวโครงการใหม่ภายใต้ชื่อ "ศุภาลัย ลอฟท์ สถานีตลาดพลู" ล่าสุด "อัลติจูด ดีเวลลอปเม้นท์" ก็เตรียมเปิดตัวคอนโดฯ ร่วมทุนญี่ปุ่น ภายใต้ชื่อ "อัลติจูด ยูนิคอร์น สาทร-ท่าพระ" ซึ่งมีที่ตั้งโครงการอยู่ติดกับสถานีตลาดพลู
ที่มา : หนังสือพิมพ์ผู้จัดการรายวัน 360 องศา, ศูนย์ข้อมูลอสังหาริมทรัพย์