ประเดิม 3 พันล้าน ปตท.ปั้นสมาร์ทซิตี้
การพัฒนาเมืองใหม่อัจฉริยะหรือสมาร์ทซิตี้ ถือเป็นหนึ่งในการขับเคลื่อนยุทธศาสตร์ไทยแลนด์ 4.0 ที่รัฐบาลให้ความสำคัญ โดยดึงเอาหน่วยงานหรือองค์กรที่มีศักยภาพเข้ามาร่วมดำเนินงาน ซึ่งบริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) ถือเป็นหน่วยงานหนึ่งที่ขณะนี้การดำเนินงานมีความคืบหน้าไปมาก โดยเฉพาะการอนุมัติงบดำเนินการด้านเทคโนโลยีและวิศวกรรมของบอร์ด ปตท.วงเงิน 41,175 ล้านบาท ที่หลายฝ่ายมองว่า เพื่อนำมาใช้สำหรับการพัฒนาสมาร์ทซิตี้ ใน 3 พื้นที่ ได้แก่ เขตนวัตกรรมระเบียงเศรษฐกิจภาคตะวันออกหรืออีอีซีไอ, ศูนย์คมนาคมบางซื่อ, และมิกซ์ยูสริมถนนวิภาวดีรังสิต ฝั่งตรงข้ามมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์
อัดก้อนแรก 3 พันล้าน ปั้นสมาร์ทซิตี้
นางหงษ์ศรี เจริญวราวุฒิ ผู้อำนวยการโครงการพัฒนาพื้นที่วังจันทร์วัลเลย์ เพื่อเขตนวัตกรรมระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) เปิดเผยว่า ขณะนี้ปตท.พร้อมพัฒนาพื้นที่อีอีซีไอ เป็นสมาร์ทซิตี้ โดยจะใช้งบเบื้องต้นราว 3 พันล้านบาท เพื่อใช้สำหรับการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน และระบบรองรับการเป็นสมาร์ทซิตี้ ซึ่งขณะนี้ได้มีการเปิดหน้าดินเป็นระยะเพื่อรองรับการก่อสร้างแล้ว ซึ่งจะแล้วเสร็จในปี 2564 เพื่องรองรับนักลงทุนที่จะเข้ามาสร้างนวัตกรรมต้นแบบ โดยในช่วงเดือนสิงหาคม 2562 นี้ ปตท.จะดำเนินการเปิดตัวอีอีซีไออย่างเป็นทางการ และออกทีโออาร์เพื่อเชิญชวนนักลงทุนทั้งในและต่างประเทศเข้าร่วมประมูล ลงทุนในพื้นที่พาณิชยกรรมและที่อยู่อาศัยบนเนื้อที่กว่า 100 ไร่ ที่ประกอบไปด้วย ศูนย์การค้า โรงแรม โรงเรียนนานาชาติ คอนโดมิเนียมหรืออพาร์ตเมนต์ รวมทั้งแหล่งนันทนาการต่าง ๆ เป็นต้น ทั้งนี้เพื่อรองรับนักนวัตกรรมและบุคลากร ที่จะเข้ามาทำงานในพื้นที่อีอีซีไอ
เนรมิต 2 พันไร่เป็นเมืองอัจฉริยะ
นอกจากนี้ ปตท.ยังมีแผนที่จะพัฒนาพื้นที่ย่านบางซื่อหรือศูนย์คมนาคมบางซื่อเนื้อที่กว่า 2 พันไร่เป็นเมืองใหม่อัจฉริยะ ซึ่งขณะนี้อยู่ระหว่างรอผลการศึกษาขององค์การความร่วมมือระหว่างประเทศแห่งญี่ปุ่น (ไจก้า) ที่จะสรุปผลการศึกษา แผนแม่บทพัฒนาพื้นที่ย่านบางซื่อ ที่จะแล้วเสร็จในเดือนกรกฎาคม 2562 นี้ และหลังจากนั้นจะนำมาพิจารณาดูว่ารูปแบบการพัฒนาจะเป็นอย่างไร รวมทั้งรูปแบบการลงทุนว่าการรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) จะให้สิทธิ ปตท.ร่วมลงทุนด้วยหรือไม่ เนื่องจาก รฟท.มีการจัดตั้งบริษัทลูกขึ้นมาดำเนินงานอสังหาริมทรัพย์อยู่แล้ว
ทั้งนี้ที่ผ่านมา รฟท.ได้ลงนามความร่วมมือเกี่ยวกับการพัฒนาโครงการเมืองอัจฉริยะ และการพัฒนาระบบรางสนับสนุนและขนส่งสินค้ากับปตท.ไปแล้ว เพื่อศึกษาและจัดทำแผนการดำเนินงานให้สอดคล้องกับแผนแม่บทการพัฒนาพื้นที่โดยรอบศูนย์การคมนาคมพหลโยธินให้เป็นเมืองอัจฉริยะ (Smart City) ภายใต้การบริหารพลังงานและสิ่งแวดล้อมเพื่อผลต่อการพัฒนาที่ยั่งยืน รวมทั้งศึกษาและจัดทำแผนการดำเนินงานการพัฒนาขนส่งสินค้าของกลุ่ม ปตท. และพัฒนาธุรกิจสนับสนุนการใช้ประโยชน์ทางราง โดยจะมีการวางระบบโครงสร้างพื้นฐานสาธารณูปโภค และสาธารณูปการแบบองค์รวม ตลอดจนศึกษาความเป็นไปได้ (Feasivility Study) รวมถึงรูปแบบทางธุรกิจ (Business Model) ที่เหมาะสม และจัดทำแผนการดำเนินงาน หรือจะเป็นการเปิดประมูลให้ผู้สนใจทั้งในและต่างประเทศเข้ายื่นประมูล ซึ่งในส่วนนี้ ปตท.ก็พร้อมดำเนินการอยู่แล้ว เพราะถือว่าเป็นทิศทางหนึ่งของ ปตท.ที่จะดำเนินงานด้านนี้อยู่แล้ว
พัฒนาที่ติด ถ.วิภาวดีฯ 70 ไร่ ออกแบบเสร็จปีนี้
ก่อนหน้านี้ ไจก้าเคยเสนอผลการศึกษาเบื้องต้นมาใน 5 ปีแรก ไจก้าให้เริ่มพัฒนาโซน A 35 ไร่ ติดสถานีกลางบางซื่อ โซน D บางส่วนจะพัฒนาเป็นทางเดินลอยฟ้าเชื่อมระหว่างบางซื่อกับหมอชิตเก่า และโซน D ย่านตึกแดง 119 ไร่ เป็นลำดับแรก พัฒนาเป็นพื้นที่เชิงพาณิชย์ มีศูนย์การค้า โรงแรม สำนักงาน รองรับรถไฟฟ้าสายสีแดงตลิ่งชัน-บางซื่อ-รังสิต จะเปิดบริการในปี 2563 ถัดจากนั้นอีก 5 ปี จะพัฒนาโซน B (จตุจักร) โซน G ย่าน กม.11 และโซน C ตรง บขส. มีที่อยู่อาศัย สำนักงาน ศูนย์แสดงสินค้าและการประชุม ที่เหลือจะพัฒนาช่วง 5 ปีสุดท้าย เช่น โซน D อยู่ติดโรงซ่อมด้านการพัฒนาไจก้าเสนอ 2 แนวทาง คือ โดยรายบุคคลแบบเฉพาะเจาะจง และการพัฒนาแบบบูรณาการ
ขณะที่นายวิทวัส สวัสดิ์ชูโต ประธานเจ้าหน้าที่เทคโนโลยีและวิศวกรรม บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า นอกจาก 2 พื้นที่ที่ปตท.จะพัฒนาให้เป็นเมืองใหม่อัจฉริยะแล้ว บอร์ดปตท.ยังได้อนุมัติให้พื้นที่ของ ปตท.ที่มีอยู่ราว 70 ไร่ ติดถนนวิภาวดีรังสิต นำสินทรัพย์ที่มีอยู่มาใช้ให้เกิดประโยชน์สูงสุด โดยจะพัฒนาเป็นโครงการแบบมิกซ์ยูส ที่มีทั้งอสังหาริมทรัพย์เพื่อการอยู่อาศัย เป็นอาคารชุด อาคารสำนักงาน ศูนย์การค้า และโรงแรม อยู่ภายในโครงการเดียวกัน เป็นต้น ซึ่งขณะนี้อยู่ระหว่างการออกแบบตัวโครงการอยู่ คาดว่าจะแล้วเสร็จภายในปีนี้ และหลังจากนั้นจะเป็นขั้นตอนก่อสร้างต่อไป
อย่างไรก็ตาม ยังบอกไม่ได้ว่า โครงการพัฒนาเมืองใหม่ย่านบางซื่อและโครงการมิกซ์ยูส จะใช้เงินลงทุนเท่าใด เพราะต้องรอผลศึกษาของไจก้าที่ต้องสรุปรูปแบบการพัฒนาและรูปแบบการลงทุนจะเป็นอย่างไรออกมาก่อน ซึ่งเข้าใจเบื้องต้นว่าน่าจะเป็นลักษณะรัฐต่อรัฐ ส่วนโครงการมิกซ์ยูส ก็ต้องรอการออกแบบว่าจะเป็นอย่างไร แต่โครงการเมืองใหม่อัจฉริยะทั้ง 3 แห่งนี้ ถือว่าเป็นโครงการที่จะช่วยพัฒนาประเทศ ซึ่งอยากจะผลักดันให้เกิดเป็นรูปธรรมขึ้นมาให้ได้โดยเร็ว
ที่มา : หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ, ศูนย์ข้อมูลอสังหาริมทรัพย์.