ปลดล็อกคอนโดเลี้ยงนกนางแอ่น เคลียร์ปมกม.ดันตลาดหมื่นล้าน
นายกมลศักดิ์ เลิศไพบูลย์ นายกสมาคมผู้ประกอบการธุรกิจรังนกแอ่น (ประเทศไทย) กล่าวกับ “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า ขณะนี้ พ.ร.บ.สงวนและคุ้มครองสัตว์ป่า พ.ศ.2562 ฉบับแก้ไขใหม่ ได้ประกาศในราชกิจจานุเบกษาไปแล้วเมื่อวันที่ 29 พฤษภาคมที่ผ่านมา โดยมาตรา 14 ระบุให้ผู้เลี้ยงรังนกบ้านสามารถไปยื่นขอ “ใบอนุญาต” เก็บและครอบครองรังนกบ้าน หรือรังนกคอนโดได้อย่างถูกต้องตามกฎหมาย
“แม้ว่า กม.ยังไม่มีผลบังคับใช้ แต่ก็มีการก่อสร้างบ้านรังนกใหม่ขึ้นกันทั่วประเทศประมาณ 100 หลังต่อเดือน การเลี้ยงนกแอ่นขยายตัวไปถึง 50 จังหวัดทั่วประเทศไทย โดยเฉพาะอย่างยิ่งภาคตะวันออก ภาคกลาง ไม่ใช่ภาคใต้แล้ว ภาคอีสานยิ่งเยอะมาก ทั้งประเทศมีการสร้างบ้านรังนกมากกว่า 10,000 หลัง มีปริมาณรังนกบ้านดิบประมาณ 10 ตันต่อเดือน หรือประมาณ 120 ตันต่อปี ที่ผ่านมามีการซื้อขายในลักษณะใต้ดินส่งออกไปจีน ทางสมาคมจึงผลักดันให้เกิดตลาดประมูลรังนก 13 แห่งในหลายจังหวัด”
โดยตลาดประมูลรังนกแอ่นขนาด 1,000 กก.ต่อครั้ง อยู่ที่จันทบุรี-กทม.-ราชบุรี-สุราษฎร์ธานี ราคาประมูลรังนกดิบเคลื่อนไหวอยู่ประมาณ 25,000 บาท/กก. ภาพรวมมีเม็ดเงินผ่านตลาดประมูล 3,000 กว่าล้านบาท/ปี ที่ผ่านมามีการส่งออกไปจีนได้ราคาประมาณ 80,000 บาท/กก. แต่คนจีนรับไปขายต่อเพิ่มเป็น 300,000-400,000 บาท/กก. ทำให้ส่วนภาพรวมตลาดรังนกทั่วประเทศมีมูลค่ารวมกว่า 15,000-16,000 ล้านบาท (รวมตลาดรังนกพร้อมดื่ม)
แก้ พ.ร.บ.ควบคุมอาคาร
แม้จะมีการแก้ไข พ.ร.บ.สงวนและคุ้มครองสัตว์ป่า อนุญาตให้ครอบครองรังนกแอ่นบ้าน หรือรังนกแอ่นคอนโด อย่างถูกกฎหมายได้แล้ว แต่ในทางปฏิบัติยังติดปัญหาขออนุญาตก่อสร้างบ้าน และสถานที่ตั้งบ้านหรือคอนโดรังนกตาม พ.ร.บ.ควบคุมอาคาร พ.ศ.2522 ฉบับปรับปรุง 2558 กับ พ.ร.บ.การผังเมือง พ.ศ.2562 โดยผู้เลี้ยงส่วนใหญ่มีการต่อเติมบ้าน-คอนโดรังนกผิดแบบ ขออนุญาตเป็นบ้านอยู่อาศัย แต่นำอาคารไปใช้เลี้ยงนก “ถือว่าผิดวัตถุประสงค์” ที่สำคัญ บ้านหรือคอนโดนกแอ่น ซึ่งถือเป็นอาคารเลี้ยงสัตว์ไม่สามารถตั้งในเขตชุมชนได้ และมีการร้องเรียนเข้ามาโดยตลอด
“ในเร็ว ๆ นี้ ทางสมาคมผู้ประกอบการธุรกิจรังนกแอ่นจะยื่นหนังสือไปถึงปลัดกระทรวงมหาดไทย และอธิบดีกรมโยธาธิการและผังเมือง เพื่อขอหารือ”
อย่างไรก็ตาม จีนซึ่งเป็นตลาดนำเข้ารังนกแอ่นยังคงควบคุมปริมาณนำเข้ารังนก โดยออกกฎหมายห้ามนำรังนกนางแอ่นจากทุกประเทศ “ยกเว้น” ประเทศที่ทำบันทึกข้อตกลง (MOU) กับจีน โดยจีนจะส่งเจ้าหน้าที่มาตรวจโรงงานส่งออกรังนกที่มีระบบตรวจสอบย้อนกลับได้ ปัจจุบันมีโรงงานของไทยเพียง 2 แห่งที่ผ่านการตรวจรับรองจากจีน ได้แก่ บริษัทสยามรังนกทะเลใต้ มีโควตาส่งออกได้ประมาณ 100 กิโลกรัม/เดือน กับบริษัทสยามรังนกสากล มีโควตาส่งออกได้ประมาณ 9 กิโลกรัม/เดือน
จีนย่องดูทำเลเลี้ยงนกแอ่น
นายฉัตรชัย วัฒนกุล ประธานชมรมผู้เลี้ยงนกแอ่นจังหวัดตราด และกรรมการผู้จัดการ บริษัทอิสเทิร์นสวิฟต์เลท กรุ๊ป กล่าวว่า การปลดล็อกกฎหมายให้เลี้ยงนกนางแอ่นบ้านได้จะเป็นผลดี ทำให้ขายรังนกบ้านกับจีนโดยตรง และเป็นผลดีต่อการจัดระเบียบของท้องถิ่น ส่วนนายเสรี สำราญจิตร นายกเทศมนตรีเทศบาลตำบลบ่อพลอย อ.บ่อไร่ จ.ตราด กล่าวว่า ผู้เลี้ยงส่วนใหญ่เป็นนายทุนจากต่างถิ่นมาซื้อบ้านเลี้ยงนกแอ่นและตอนนี้มีชาวจีนเริ่มเข้ามาดูพื้นที่บ้างแล้ว
นางสาวสุธิดา สุนทรนนท์ ประธานกรรมบริหาร บริษัทเจ้าสัวรังนกไทย บายวิวธุรกิจ กรุ๊ป ผู้ประกอบการรังนกบ้านรายใหญ่ของจังหวัดตรัง กล่าวว่า หลังจากที่กฎหมายใหม่ได้อนุญาตให้ผู้ประกอบการเลี้ยงรังนกบ้านได้แล้ว ก็จะสามารถขอ “ใบรับเครื่องหมาย” จากสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) และเครื่องหมาย GMP แล้วส่งออกรังนกไปจำหน่ายยังต่างประเทศได้ ขณะนี้เตรียมความพร้อมในการผลิตรังนกเพื่อการส่งออกอย่างเต็มที่ โดยมีตลาดหลักที่จีน ฮ่องกง และไต้หวัน โดยราคารังนกในประเทศไทยจะตกประมาณ 60,000-80,000 บาท/กก. หากนำไปขายที่ฮ่องกงได้ประมาณ 500,000-700,000 บาท/กก.
“บริษัทมีแปรรูปรังนกของตัวเอง 3 แห่ง ที่ อ.ย่านตาขาว จ.ตรัง กับ อ.หาดใหญ่ จ.สงขลา อีก 2 แห่ง สามารถผลิตรังนกส่งออกได้ประมาณ 300 กิโลกรัม/เดือน”
กระบี่หนุนขึ้นทะเบียนคนเลี้ยง
นายธุวานนท์ ตันศิริวิวัฒน์ ผู้ประกอบการเลี้ยงนกอีแอ่นคอนโด จ.กระบี่และรับทำคอนโดนกอีแอ่น กล่าวว่า ขณะนี้ใน จ.กระบี่มีการเลี้ยงนกนางแอ่นไม่ต่ำกว่า 500 ราย โดยเฉพาะใน อ.เมืองกระบี่ ปลายพระยา อ่าวลึกและคลองท่อม รวมปริมาณรังนกบ้านประมาณ 1 ตันต่อเดือน
ที่มา : หนังสือพิมพ์ประชาชาติธุรกิจ, ศูนย์ข้อมูลข่าวสารกรมโยธาธิการและผังเมือง