• 5 ก.ค. 2562

อีอีซี ดันตั้งโรงงานพุ่ง 15%

          กรมโรงงาน เผย อีอีซี ดัน ยอดตั้ง-ขยายโรงงาน 6 เดือนแรก ทะลุ 1.95 แสนล้านบาท ขยายตัว 15% คาดทั้งปีลงทุน 4.3 แสนล้านบาท เติบโต 20% ชี้ช่วงครึ่งปีหลังรับอานิสงส์ตั้งรัฐบาลใหม่ ต่างชาติเพิ่มความมั่นใจ

          นายทองชัย ชวลิตพิเชฐ อธิบดีกรมโรงงานอุตสาหกรรม เปิดเผยว่า ยอดการขออนุญาตประกอบกิจการใหม่และ ขยายกิจการโรงงานในครึ่งแรกของปี 2562 (ม.ค.-มิ.ย.) มีจำนวน 2,064 โรงงาน ลดลงจากช่วงเดียวกันของปีก่อน 18.06% มีการจ้างงาน 92,262 คน ลดลง 5.45% แต่มูลค่าลงทุนอยู่ที่ 195,688 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 15.85%

          "การลงทุนที่สูงขึ้นมาจากนโยบายส่งเสริมการลงทุน 10 อุตสาหกรรมเป้าหมายในเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (อีอีซี) ส่วนในช่วงครึ่งปีหลังคาดว่ายอดการลงทุนจะสูงกว่าครึ่งปีแรก เนื่องจากได้รับผลบวกจากการตั้งรัฐบาลชุดใหม่ ทำให้นักลงทุนเกิดความเชื่อมั่น คาดว่ายอดลงทุนทั้งปีอยู่ที่ 4.3 แสนล้านบาท เพิ่มขึ้น 20% จากปีก่อนที่มีมูลค่า 3.6 แสนล้านบาท"  อย่างไรก็ตามปัญหาสงครามการค้าสหรัฐ-จีน แม้ว่าจะมีท่าทีผ่อนคลายลงแต่ก็ยัง เป็นปัจจัยเสี่ยงที่สร้างความกังวลใจแก่นักลงทุน รัฐบาลและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องจึงต้องเร่งสร้างความเชื่อมั่นให้นักลงทุน

          อุตฯปิโตรลงทุนสูงสุด

          สำหรับกลุ่มอุตสาหกรรมที่ยื่นขอประกอบกิจการใหม่และขยายกิจการโรงงานที่มีมูลค่าลงทุนมากที่สุด 5 อันดับแรก ได้แก่ กลุ่มผลิตภัณฑ์จากปิโตรเลียม มีมูลค่าลงทุนมากที่สุด 38,530 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 2,369% รองลงมาเป็นกลุ่มอาหาร มูลค่าลงทุน 28,894 ล้านบาท ลดลง 15.76%, กลุ่มการผลิตเครื่องใช้ไฟฟ้าและอุปกรณ์ 19,570 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 84.43%, การผลิตยานพาหนะและอุปกรณ์รวมทั้งการซ่อมยานพาหนะและอุปกรณ์ 12,109 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 45.25% และ กลุ่มผลิตภัณฑ์พลาสติก 12,170 ล้านบาท ลดลง 6.95%

          ทั้งนี้ หากพิจารณาเฉพาะการขออนุญาตประกอบกิจการใหม่ในช่วงครึ่งแรกของปี พบว่าเป็นจำนวนโรงงาน 1,659 โรงงาน มีการจ้างงาน 45,733 คน และมีเงินลงทุน 106,000 ล้านบาท โดยอุตสาหกรรมอาหารลงทุนสูงสุด 19,301 ล้านบาท รองลงมาเป็น ผลิตภัณฑ์จากปิโตรเลียม 16,789 ล้านบาท และการผลิตเครื่องใช้ไฟฟ้าและอุปกรณ์ 14,213 ล้านบาท

          อุตฯอาหารจ้างงานอันดับ 1

          ส่วนการขยายกิจการ มี 405 โรงงาน มีการ จ้างคนงาน 46,537 คน และ เงินลงทุน 89,687 ล้านบาท โดยผลิตภัณฑ์จากปิโตรเลียมมีมูลค่า ขยายกิจการสูงสุด 21,741 ล้านบาท รองลงมาเป็น อุตสาหกรรมอาหาร 9,593 ล้านบาท และผลิตภัณฑ์พลาสติก 7,883 ล้านบาท "การจ้างงานที่ปรับตัวลดลงส่วนหนึ่งมาจากผู้ประกอบการหันมาพัฒนาศักยภาพแรงงาน และบางส่วนนำเทคโนโลยีระบบอัตโนมัติและหุ่นยนต์มาใช้แทนแรงงานคนตาม กระแสเทคโนโลยีที่เข้าสู่ยุคอุตสาหกรรม 4.0"

          สำหรับอุตสาหกรรมที่ขออนุญาตประกอบกิจการและขยายกิจการโรงงานในครึ่งแรกของปี และมีการจ้างแรงงานมากสุด คือ อุตสาหกรรมอาหาร มีการจ้างงาน 19,495 คน ลดลง 36.20% รองลงมาเป็นการผลิตเครื่องใช้ไฟฟ้าและอุปกรณ์ 11,218 คน เพิ่มขึ้น 103.34% ,อุตสาหกรรมเครื่องแต่งกายยกเว้นรองเท้า จ้างงาน 8,029 คน เพิ่มขึ้น 164.11%, ผลิตภัณฑ์ยานพาหนะและอุปกรณ์รวมถึงการซ่อมยานพาหนะและอุปกรณ์ 7,542 คน เพิ่มขึ้น 60.91% และผลิตภัณฑ์พลาสติก จ้างงาน 7,604 คน ลดลง 34.50% เป็นต้น

          เข้มกำจัดการอุตฯ"อีอีซี"

          นายทองชัย กล่าวว่า นอกจากการส่งเสริมให้เกิดการลงทุนตั้งและขยายโรงงานใหม่แล้ว กรมฯ ได้เข้มงวดในการจัดการกากอุตสาหกรรม เพื่อรองรับจำนวนโรงงานที่เพิ่มขึ้น โดยเฉพาะในพื้นที่ อีอีซี จะขยายศูนย์ภูมิภาคของ กรมโรงงานอุตสาหกรรมที่ จ.ชลบุรี ที่ในปัจจุบัน เป็นศูนย์ฝึกอบรมให้ความรู้เรื่องการลดมลพิษในโรงงานอุตสาหกรรม ให้เป็นศูนย์วิเคราะห์มลพิษและความปลอดภัยภูมิภาคตะวันออก ขยายบทบาทออกไปกำกับดูแลด้านมลพิษ ซึ่งจะมุ่งเน้นในพื้นที่ อีอีซี และในอนาคตจะขยายปรับปรุงศูนย์ทั่วประเทศให้ได้ตามมาตรฐานนี้

          นอกจากนี้ ยังได้ส่งเสริมการตั้งโรงงานที่รับกำจัด บำบัด และรีไซเคิลกากอุตสาหกรรมให้สอดคล้องกับลักษณะกากอุตสาหกรรมที่เกิดขึ้นกว่า 30 ล้านตันต่อปี

          ทั้งนี้ จะส่งผลให้ผู้ประกอบการต้องส่งกากอุตสาหกรรมไปกำจัดหรือบำบัดนอกพื้นที่ ซึ่งต้องเสียค่าใช้จ่ายในการขนส่งสูงมาก เช่น สัดส่วนโรงงานผู้ก่อกำเนิดต่อโรงงานผู้รับกำจัดบำบัดในภาคเหนือ คือ 102 ต่อ 1 ภาคใต้ 121 ต่อ 1 ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ 101 ต่อ 1 ซึ่งต่างจากภาคตะวันออก ที่มีสัดส่วน 12 ต่อ 1

          ห่วงของเสียปิโตรเคมี

          รวมทั้งข้อมูลดังกล่าวเห็นได้ชัดว่าในภาคเหนือ ใต้ และตะวันออกเฉียงเหนือ มีจำนวนโรงงานที่สร้างกากอุตสาหกรรมกับจำนวนโรงงานกำจัดกากอุตสาหกรรม ดังนั้นจึงต้องเร่งส่งเสริมการจัดตั้งอุตสาหกรรมที่รับ กำจัด และรีไซเคิลกากอุตสาหกรรมให้มากขึ้น  ซึ่งกรมฯ ได้จัดทำแผนกำจัดกากอุตสาหกรรมในภาพรวมทั้งประเทศไว้แล้ว โดยกำหนดพื้นที่ที่เหมาะสมในการสร้างโรงงานกำจัดกากอุตสาหกรรมอย่างชัดเจน นำข้อมูลเชิงคุณภาพมาประกอบการ พิจารณา เพื่อส่งเสริมให้มีการจัดการ กากอุตสาหกรรมให้สอดคล้องกับลักษณะกากอุตสาหกรรมที่เกิดขึ้นในแต่ละพื้นที่ เช่น ภาคใต้ โรงงานส่วนใหญ่เป็นอุตสาหกรรมแปรรูปอาหาร แปรรูปยางธรรมชาติ และอุตสาหกรรมน้ำมันปาล์ม

          ภาคตะวันออก โรงงานส่วนใหญ่เป็น อุตสาหกรรมหนัก และอุตสาหกรรมปิโตรเคมี ซึ่งมีกากของเสียอันตรายในปริมาณค่อนข้างมาก เป็นต้น โดยต้องมีการนำเทคโนโลยีในการบริหารจัดการเข้ามาช่วยให้เกิดประสิทธิภาพด้วย

          ดึง กนอ.ร่วมจัดการขยะ

          "โรงงานกำจัดกากอุตสาหกรรมควรจะตั้งอยู่ในนิคมอุตสาหกรรม หรือตั้งเป็นนิคมฯกำจัดกากอุตสาหกรรมและรีไซเคิลโดยเฉพาะ เพื่อความสะดวกในการบริหารจัดการสิ่งแวดล้อม แต่หากไม่สามารถตั้งในนิคมฯได้ หากมีพื้นที่เหมาะสมก็สามารถตั้งโรงงานกำจัดกากได้เช่นกัน โดย กรอ. ได้ส่งมอบ แผนให้การนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (กนอ.) ไปพิจารณา"  ในส่วนของโรงงานที่ก่อให้เกิดกากอุตสาหกรรมนั้น ล่าสุดมีโรงงานที่เข้าระบบการจัดการกากอุตสาหกรรมอย่างถูกต้องแล้ว 32,986 ราย จากโรงงานทั้งหมด 67,989 ราย หรือคิดเป็น 48.52% ของโรงงานทั้งหมด โดยโรงงานที่ยังไม่เข้าระบบกำจัดกาก ส่วนใหญ่จะเป็นโรงงานขนาดเล็กที่ไม่มีกากอุตสาหกรรมอันตราย ซึ่ง กรอ. ตั้งเป้าที่จะผลักดันโรงงานไม่ต่ำกว่า 9 พันโรงงานเข้าสู่ระบบการจัดการกากอุตสาหกรรมที่ถูกต้อง คาดว่าภายใน 4-5 ปี โรงงงานเกือบทั้งหมดจะเข้าสู่ระบบการกำจัดกากที่ถูกต้อง




ที่มา: หนังสือพิมพ์กรุงเทพธุรกิจ, ศูนย์ข้อมูลอสังหาริมทรัพย์
บทความอื่นๆ
  • ค้นหาบ้านคอนโด

    ต้องการซื้อ หรือเช่า บ้าน คอนโด ตรวจ สอบราคา เช็คค่าเช่า ติดต่อตรงกับเจ้า ของตัวจริง ทุกทำเล ทั่วประเทศ

    ค้นหา
  • ลงประกาศ

    ต้องการขาย หรือปล่อยเช่า บ้าน คอนโด เพียงคุณเป็นเจ้าของตัวจริง และพร้อมที่จะลงประกาศอย่างมีคุณภาพ เพื่อให้ผู้ซื้อศึกษา อย่างสะดวกที่สุด ก็ลงประกาศ ได้เลย

    ลงประกาศ