BTS รับหนี้แสนล้าน แลกสัมปทานเดินรถสีเขียวถึงปี 2602
นายสุรเชษฐ์ เหล่าพูลสุข รองผู้ว่าการการรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.) เปิดเผยภายหลังลงพื้นที่ติดตามความพร้อมการเปิดให้บริการโครงการรถไฟฟ้าสายสีเขียว หมอชิต- สะพานใหม่-คูคต จำนวน 1 สถานี จากสถานีหมอชิต-ห้าแยกลาดพร้าว เมื่อวันที่ 8 ก.ค.ที่ผ่านมา ว่า รฟม. ได้เร่งรัดการก่อสร้างงานโยธา วางราง และให้ทางกรุงเทพธนาคมและบีทีเอสเข้ามาติดตั้งระบบ เมื่อเดือน ม.ค.2562 ซึ่งตามแผนงานปกติ จะสามารถเปิดเดินรถได้ในเดือน ก.ค.2564 แต่จากที่ได้ปรับวิธีการทำงานใหม่ เพื่อความรวดเร็วและทยอยเปิดให้บริการ ซึ่งขณะนี้มั่นใจว่าจะสามารถเปิดให้บริการช่วงหมอชิต-ห้าแยกลาดพร้าวได้ในวันที่ 11 ส.ค.นี้ โดยไม่เก็บค่าโดยสาร และเดือน ธ.ค.2562 จะเปิดไปถึงแยกเกษตร และมีเป้าหมายจะเปิดตลอดสายถึงคูคต ปลายปี 2563
ทั้งนี้ ก่อนเปิดเดินรถวันที่ 11 ส.ค. รฟม.และกรุงเทพมหานคร (กทม.) จะต้องมีการลงนามในบันทึกข้อตกลงความร่วมมือ (MOU) มอบหมายให้ กทม.เป็นผู้บริหารจัดการเดินรถสายสีเขียวเหนือช่วงหมอชิต-สะพานใหม่-คูคต ตามมติ ครม. ซึ่ง รฟม.จะเสนอร่าง MOU ขออนุมัติที่ประชุมคณะกรรมการ (บอร์ด) รฟม.ในวันที่ 25 ก.ค.นี้ โดยสายสีเขียวเหนือมีมูลค่างานโยธาและระบบรางประมาณ 2.6 หมื่นล้านบาท
นายมานิต เตชอภิโชค กรรมการผู้อำนวยการ บริษัท กรุงเทพธนาคม จำกัด กล่าวว่า การเจรจาสัมปทานเดินรถไฟฟ้าสายสีเขียวตามมาตรา 44 กับ บีทีเอส คาดจะจบภายใน 2 เดือนนี้ โดยสัมปทานใหม่อายุ 30 ปี จะเริ่มต้นปี 2573 ครอบคลุม 3 ส่วน คือ เส้นทางสายหลักช่วงหมอชิต-อ่อนนุช และสนามกีฬาแห่งชาติ-สะพานตากสิน ซึ่งเป็นสัมปทาน เดิมที่จะหมดสัญญาในปี 2572 และช่วงอ่อนนุช-แบริ่ง และสะพานตากสิน-บางหว้า ซึ่ง กทม.ลงทุนก่อสร้างงานโยธาและระบบเองและจ้างบีทีเอสเดินรถ จะหมดสัญญาในปี 2585 และสายสีเขียวส่วนต่อขยาย สายเหนือ (หมอชิต-สะพานใหม่-คูคต) และสายใต้ (แบริ่ง-สมุทรปราการ) ซึ่ง รฟม. เป็นผู้ลงทุนก่อสร้างงานโยธาและวางราง และโอนหนี้ให้ กทม. บวกค่าดอกเบี้ยประมาณ 1 แสนล้านบาท ซึ่งบีทีเอสต้องชำระแทน กทม.
โดยนโยบายควบคุมค่าโดยสารของรถไฟฟ้า บีทีเอสตลอดสายไม่เกิน 65 บาท ภาครัฐต้องอุดหนุนเอกชน ซึ่งโมเดลช่วงปี 62-72 จะนำรายได้ช่วงอ่อนนุช-แบริ่ง และสะพานตากสิน-บางหว้า ที่ กทม.เก็บค่าโดยสารเอง มีกระแสเงินสดปีละหลายพันล้านบาทมาอุดหนุน ส่วนปี 2573-2602 ค่าโดยสารจะปรับตามอัตราเงินเฟ้อและต้นทุนที่เพิ่ม ซึ่ง กทม.จะหาโมเดลในการอุดหนุนเพื่อไม่ให้ค่าโดยสารสูงเกินไป เช่น นำรายได้จากค่าธรรมเนียม หรือภาษีโรงเรือนที่เก็บได้มากขึ้น จากที่ดินที่ได้รับประโยชน์จากการพัฒนาเส้นทางรถไฟฟ้า
นายสุรพงษ์ เลาหะอัญญา กรรมการผู้อำนวยการใหญ่ บีทีเอส กล่าวว่า กทม.จะโอนภาระหนี้ค่าก่อสร้างมาที่บีทีเอส และกำหนดค่าโดยสารตลอดสายไม่เกิน 65 บาท ซึ่งทำยากหากรัฐไม่อุดหนุน ซึ่งการอุดหนุนมีหลายวิธี โดยต้องเจรจาแนวทางที่เหมาะสมต่อไป
สำหรับการเปิดเดินรถหมอชิต-ห้าแยกลาดพร้าวนั้น ช่วงแรกจะจัดการเดินรถในเวลาเร่งด่วน 07.00-09.00 น. และเวลา 17.00-19.00 น. แบบขบวนเว้นขบวน หมายความว่าจะมีขบวนที่วิ่งปลายทางแค่หมอชิต ขบวนถัดไปจะวิ่งทะลุถึงห้าแยกลาดพร้าว สลับกันไป ส่วนนอกเวลาเร่งด่วน จะวิ่งถึงห้าแยกลาดพร้าวทุกขบวน ปัจจุบันที่สถานีหมอชิต มีผู้โดยสารประมาณ 8 หมื่นคนต่อวัน ช่วงแรกจะเป็นผู้โดยสารเดิมประมาณ 50% ที่ใช้บริการ ต่อไปห้าแยกลาดพร้าว จะช่วยลดความแออัดที่สถานีหมอชิต และเพิ่มความสะดวกให้ผู้โดยสาร
ที่มา : ผู้จัดการรายวัน 360 องศา, ศูนย์ข้อมูลอสังหาริมทรัพย์