• 17 ต.ค. 2562

'เมกาซิตี้'พลิกแลนด์แบงก์บางนา 150 ไร่ เปิดออปชั่น ซื้อ-เช่า-ร่วมทุน มิกซ์ยูส 7 หมื่นล้าน

          เอสเอฟเปิดโมเดลธุรกิจใหม่ ปัดฝุ่นแลนด์แบงก์ผืนใหญ่ 150 ไร่ในโครงการเมกาซิตี้ ทำเลบางนา-ตราด กม.8 เปิดออปชั่นดึงนักลงทุนทุกรูปแบบ ทั้ง "เช่า-ซื้อ-ร่วมทุน" เผย 7 ปีทำศูนย์การค้าบูมเร็วกว่าแผนธุรกิจ ดึงลูกค้าใช้บริการเพิ่มเป็น 4.5 ล้านคน/เดือน ทำ feas เบื้องต้นที่ดินซอยย่อยได้ตั้งแต่ 2-10 ไร่ แบ่งสัดส่วนพัฒนาโครงการมิกซ์ยูส 80% คอมเมอร์เชียล 20%

          ผู้สื่อข่าวรายงานว่า อภิโปรเจ็กต์ "เมกาบางนา" เปิดดำเนินการในปี 2555 ตั้งเป้าพัฒนาโครงการบนที่ดินผืนใหญ่ 400 ไร่จบภายใน 14 ปี มูลค่าโครงการรวม 67,000 ล้านบาท อย่างไรก็ตาม ใช้เวลาเพียง 3 ปี ความสำเร็จได้รับเร็วกว่าแผนที่วางไว้ ล่าสุดทีมผู้บริหารตัดสินใจรีโมเดลแผนธุรกิจรอบใหม่ ด้วยการนำแลนด์แบงก์ขนาด 150 ไร่ เปิดออปชั่นต้อนรับนักลงทุนหลากรูปแบบ พิมพ์เขียวเบื้องต้นอยากได้มิกซ์ยูส (โรงแรม+ออฟฟิศ) 80% คอมเมอร์เชียล 20%

          เปิดที่ดิน 150 ไร่ต้อนรับนักลงทุน

          นางสาวปพิตชญา สุวรรณดี ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร ศูนย์การค้าเมกาบางนา บริษัท เอสเอฟ ดีเวลลอปเมนท์ จำกัด (มหาชน) เปิดเผยว่า นิวบิสซิเนสโมเดลในการบริหารศูนย์การค้าเมกาบางนา บริษัทมีแลนด์แบงก์ 150 ไร่ ถือว่าเป็นที่ดินผืนใหญ่ที่สุดบนถนนบางนา-ตราด กม.8 โดยเพิ่มโอกาสทางธุรกิจสำหรับนักลงทุนทั้งบริษัทไทยและต่างชาติ ในการร่วมกันพัฒนาโครงการ

          ทั้งนี้ ผู้สนใจเข้ามาลงทุน บริษัทเปิดกว้างทั้งเจรจาเพื่อซื้อที่ดิน, เช่าระยะยาว ตลอดจนการร่วมลงทุนหรือ JV-joint venture โดยมีทุกรูปแบบทั้งการเจรจาแบบ B-to-B ระหว่างนักลงทุนรายใหญ่ด้วยกัน และรูปแบบ B-to-C ผู้ประกอบการรายกลาง-รายเล็ก กลุ่มธุรกิจโลกใหม่ที่มองเห็นโอกาสเติบโตไปด้วยกัน

          เบื้องต้นต้องการเปิดรับดีลธุรกิจโครงการมิกซ์ยูส ประเภทโรงแรมกับออฟฟิศบิลดิ้ง สัดส่วน 80% กับไลฟ์สไตล์ คอมเมอร์เชียลอีก 20% เนื่องจากเมกาซิตี้มีความชำนาญในธุรกิจศูนย์การค้าขนาดใหญ่อยู่แล้ว จึงต้องการประเภทธุรกิจที่จะเข้ามาส่งเสริมซึ่งกันและกัน

          "แลนด์แบงก์ 150 ไร่ เราทำ feas ไว้แล้ว อยากเพิ่มมิกซ์ยูสมากกว่า อินเวสเตอร์เลือกลงทุนได้ตั้งแต่ขนาดที่ดิน 2-10 ไร่ ประเภทโครงการยืดหยุ่นสูงทั้งออฟฟิศ โรงพยาบาล โรงเรียนนานาชาติ เวลเนสเซ็นเตอร์ ล่าสุด เราทำเซอร์เวย์พบว่าลูกค้าที่เข้ามาใช้บริการศูนย์อยากได้ regeneration center"

          5 เมกะเทรนด์กรุงเทพฯตะวันออก

          ก่อนหน้านี้ โครงการเมกาบางนา เปิดตัวด้วยมูลค่าลงทุน 67,000 ล้านบาท เปิดบริการครั้งแรกในปี 2555 เนื่องจากเป็นโครงการซูเปอร์บิ๊กโปรเจ็กต์ จึงตั้งเป้าใช้เวลาพัฒนาโครงการ 14 ปี สิ่งที่เกิดขึ้นคือศูนย์การค้าเมกาบางนาประสบความสำเร็จภายใน 3 ปีเท่านั้น เร็วกว่าแผนธุรกิจที่วางไว้

          ปัจจัยที่เป็นตัวเร่งมาจาก 5 เทรนด์ด้วยกัน ประกอบด้วย
  1. เทรนด์เมกะพีเพิล ถนนบางนา-ตราด และพื้นที่ใกล้เคียงมีประชากรที่มีกำลังซื้อสูงเกิน 1 ล้านคน 
  2. เมกะเรสซิเดนซ์ ทำเลบางนามีศักยภาพ มีการขยายตัว อสังหาริมทรัพย์ต่อเนื่อง ทั้งบ้านจัดสรร คอนโดมิเนียม และโครงการมิกซ์ยูส
  3. เมกะโปรเจ็กต์ภาครัฐ ทั้งรถไฟฟ้าสายสีเหลือง, รถไฟฟ้ารางคู่บางนาสุวรรณภูมิ ซึ่งในอนาคตมีสถานีเมกาซิตี้อยู่ด้วย
  4. เมกะสุวรรณภูมิ สนามบินนานาชาติกำลังอยู่ระหว่างขยายเฟส 2, 3, 4 ที่คาดว่าจะแล้วเสร็จภายในปี 2564, รวมทั้งอยู่ใกล้โซน EEC และ
  5. เมกะฮับการค้า การเดินทาง การขนส่ง ยกระดับถนนบางนา-ตราด เป็น "ฮับ" ยุทธศาสตร์สำคัญ ศูนย์รวมของการเดินทาง และการขนส่งในอนาคต

          ความสำเร็จมาจากการลงทุนเมกะโปรเจ็กต์ภาครัฐ โดยแวดล้อมด้วยอินฟราสตรักเจอร์สำคัญ อาทิ สนามบินนานาชาติสุวรรณภูมิ ระบบทางด่วน มอเตอร์เวย์ โครงข่ายถนนสายหลัก-สายรอง อยู่ใกล้นิคมอุตสาหกรรมที่เป็นแหล่งจ้างงานสำคัญของประเทศ และศักยภาพทำเลที่เปลี่ยนแปลงแบบพลิกโฉมหน้า

          "เมกาบางนา" ทะลุ 7 หมื่นล้าน

          นางสาวปพิตชญากล่าวต่อว่า ในด้านการเติบโตของศูนย์การค้าเมกาบางนา ประสบความสำเร็จจากการเป็นศูนย์การค้าแห่งแรกในประเทศไทยที่อยู่นอกเขต CBD ของกรุงเทพฯ จุดเด่นมีแบรนด์แฟชั่นระดับอินเตอร์เนชั่นแนล, แฟลกชิปสโตร์, ร้านอาหารชื่อดังเปิดให้บริการพื้นที่เช่า 99%

          สถิติปี 2561 มีลูกค้าเฉลี่ย 3.8 ล้านคน/เดือน เท่ากับ 45.9 ล้านคน/ปี ล่าสุด ณ 9 เดือนแรกของปี 2562 ลูกค้าเข้าศูนย์เฉลี่ย 4.5 ล้านคน หรือเท่ากับปีละ 54 ล้านคน

          "เมกาบางนาชูแนวคิด Meeting Place ศูนย์รวมทุกคนในครอบครัว รองรับทุกเจเนอเรชั่น ตั้งแต่วัยเด็กไปจนถึงกลุ่มคนสูงอายุ เรามีการลงทุนเฉลี่ยปีละ 800-1,000 ล้านบาท ทั้งก่อสร้างเพิ่มเติมและรีโนเวตเพื่อให้มีความสดใหม่ตลอดเวลา ล่าสุดเปิดโซนสมาร์ทคิดส์ เพลย์กราวนด์ใหญ่ในระดับ top 5 ของเอเชีย ทำให้ขยายฐานลูกค้ากลุ่มเด็กวิ่งไปถึงอายุ 15 ปี"

          โมเดลธุรกิจมีการแบ่งประสบการณ์ลูกค้าเป็น 3 กลุ่ม คือ
  1. วันสต็อปช็อปปิ้ง ร้านค้า 900 ร้านค้า ปี 2561 เพิ่ม 100 ร้านค้าใหม่
  2. จุดขายและจุดแข็งในด้านการเป็นฟู้ดเดสติเนชั่น มีร้านอาหารให้เลือกถึง 165 ร้านด้วยกัน และ
  3. ส่วนขยายโซนเอดูเทนเมนต์ เพิ่งเปิดบริการไตรมาส 1/62 ดึงใช้เวลาให้ลูกค้าครอบครัวอยู่ภายในศูนย์ได้เกือบตลอดทั้งวัน

          ก่อนหน้านี้ประเมินมูลค่าลงทุน-มูลค่าโครงการอยู่ที่ 67,000 ล้านบาท ล่าสุด สถานการณ์ทำเลเปลี่ยนแบบพลิกโฉมหน้า รวมทั้งราคาที่ดินที่มีการปรับเพิ่ม 10 เท่านับตั้งแต่เปิดบริการ คาดว่าในอนาคต เมื่อพัฒนาเต็มโครงการจะผลักดันให้มูลค่าการพัฒนาเพิ่มเป็นไม่ต่ำกว่า 7 หมื่นล้านบาท

          ย่อแผนลงทุนเหลือ 8-10 ปี

          จากการเปลี่ยนแปลงแบบพลิกโฉมหน้าของทำเลย่านบางนา-ตราด กม.8 บริษัทคาดว่าแผนธุรกิจเดิมตั้งเป้าลงทุนจบทั้งโครงการภายใน 14 ปี ปัจจุบันปรับแผนเร็วขึ้นคาดว่าสามารถลงทุนทั้งโครงการเมกาซิตี้ได้ภายใน 8-10 ปี โดยจุดเริ่มต้นปี 2560

          "เมกาซิตี้มีแลนด์แบงก์ 400 ไร่ โดยมีเมกาบางนาเป็นศูนย์กลาง อนาคตที่เราวางไว้จะเป็นโซนพัฒนาส่วนต่อขยายจากศูนย์การค้า รองรับผู้มาใช้บริการวันละ 2.5 แสนคน จากปัจจุบันมีผู้มาใช้บริการเฉลี่ยวันละ 1.5 แสนคน"

          ประธานเจ้าหน้าที่บริหารเมกาซิตี้กล่าวว่า ปีนี้การลงทุนใหม่ ๆ เพิ่งเปิดบริการ ส่วนต่อขยาย Mega FoodWalk 20,000 ตารางเมตร เชื่อมโซนฟู้ดวอล์กในปัจจุบัน เพิ่มเติมร้านอาหารดัง 40 ร้านกับซูเปอร์มาร์เก็ตขนาดใหญ่, เปิดบริการโซนเมกาพาร์คเมื่อเดือนเมษายน 2562 สวนสาธารณะ 7 ไร่ เปิดตั้งแต่ 6 โมงเช้า มีสนามเด็กเล่น บ้านต้นไม้ น้ำพุ น้ำตกจำลอง เป็นพื้นที่พักผ่อนสำหรับคนรักสัตว์เลี้ยง

          มีโรงเรียนประถมศึกษานานาชาติ ดิษยะศริน กรุงเทพ ในเครือเดียวกับโรงเรียน ดิ อเมริกัน สคูล ออฟ แบงค็อก (The American School of Bangkok), โซนเมกาฮาร์เบอร์แลนด์ สนามเด็กเล่นในร่มขนาดใหญ่ 8,500 ตารางเมตร ธีม "Happy Farm ฟาร์มสนุก ความสุขของทุกคนในครอบครัว", มีโซนกีฬากลางแจ้ง 1 ไร่ รองรับเทรนด์เอ็กซ์ตรีมสปอร์ตและการแข่งขันรูปแบบนินจาวอร์ริเออร์ เจาะกลุ่มลูกค้าวัยรุ่น และขยายโซนเมกาสมาร์ทคิดส์ โดยมี 17 สถาบันกวดวิชาและเสริมทักษะสำหรับเด็ก

          ฐานลูกค้าแน่น-ปิดความเสี่ยง

          นางสาวปพิตชญากล่าวด้วยว่า บริษัทไม่เก่งลงทุนด้านอื่นนอกจากธุรกิจรีเทล ดังนั้น จึงโฟกัสทำธุรกิจศูนย์การค้า ขณะเดียวกัน จะใช้วิธีแมตชิ่งกับนักลงทุนที่เชี่ยวชาญในแต่ละวงการ เช่น ขายที่ดินให้ บมจ.อารียา พรอพเพอร์ตี้ เพื่อพัฒนาห้องชุด (โครงการ A Space Mega และ A Space Mega 2)

          "เวลาเราจะแมตช์กับใคร ต้องดูมีวิสัยทัศน์ตรงกัน ทำให้เมกาซิตี้เป็นเมืองคุณภาพ การพักอาศัย การใช้จ่าย ไลฟ์สไตล์ต้องไปด้วยกันได้ เพราะใครก็ตามที่ทำธุริจอยู่กับเมกาซิตี้ แสดงว่าอยู่ไปตลอดชีวิต นโยบายต้องเป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน เราไม่เก่งธุรกิจอื่น ก็อยากให้คนเก่งช่วยเราคิด เริ่มต้นให้ข้อมูลจากฝั่งที่เราอยู่มาก่อน ลูกค้าเมกาซิตี้บอกได้ว่าหน้าตาแบบไหน อายุเท่าไหร่ สเปนดิ้งพาวเวอร์เป็นยังไง ให้เขาได้ดีไซน์โปรดักต์ให้แมตช์กัน"

          สำหรับการลงทุนใหม่ ๆ ภายในสิ้นปี 2562 คาดว่าปิดดีลเจรจาลงทุนโรงแรมในคอนเซ็ปต์ business hotel ระดับ 4 ดาว และอาจได้เห็นโครงการออฟฟิศบิลดิ้งระดับพรีเมี่ยม

          "สำหรับนักลงทุน โครงการเมกาซิตี้มีจุดเด่นในเรื่อง 1.มีลูกค้ารอแล้ว 2.โครงสร้างพื้นฐานในโครงการเราทำไว้หมดแล้ว 3.มีทราฟฟิกหรือมีฐานลูกค้าทุกวัย อยู่ที่จะแมตช์เข้ากับธุรกิจที่จะลงทุนใหม่ได้ยังไง ทำให้การลงทุนกับเรามีความเสี่ยงน้อย เพราะเรามีศักยภาพในด้านฐานลูกค้ารออยู่แล้ว คล้ายกับซื้อคอนโดฯแล้วหิ้วกระเป๋าเข้ามาอยู่ได้เลย"


ที่มา : หนังสือพิมพ์ประชาชาติธุรกิจศูนย์ข้อมูลอสังหาริมทรัพย์
บทความอื่นๆ
  • ค้นหาบ้านคอนโด

    ต้องการซื้อ หรือเช่า บ้าน คอนโด ตรวจ สอบราคา เช็คค่าเช่า ติดต่อตรงกับเจ้า ของตัวจริง ทุกทำเล ทั่วประเทศ

    ค้นหา
  • ลงประกาศ

    ต้องการขาย หรือปล่อยเช่า บ้าน คอนโด เพียงคุณเป็นเจ้าของตัวจริง และพร้อมที่จะลงประกาศอย่างมีคุณภาพ เพื่อให้ผู้ซื้อศึกษา อย่างสะดวกที่สุด ก็ลงประกาศ ได้เลย

    ลงประกาศ