'ซีพี' เนรมิต 'มักกะสัน' ศูนย์ช้อปปิ้งโลก
ที่ดินแปลงว่างไร้การทำประโยชน์ บริเวณสถานีแอร์พอร์ตลิงค์ "มักกะสัน" กำลังกลายเป็นขุมทองสร้างความมั่งคั่งให้กับกลุ่มซีพี หลัง บริษัท รถไฟความเร็วสูงสายตะวันออกเชื่อมสามสนามบิน จำกัด (กลุ่มกิจการร่วมค้าบริษัทเจริญโภคภัณฑ์โฮลดิ้งฯ) เซ็นสัญญากับการรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) เดินหน้าก่อสร้างเส้นทางไฮสปีด ดึงคนทั่วทุกมุมโลกผ่าน 3 สนามบิน ทั้งดอนเมือง-สุวรรณภูมิ และอู่ตะเภา เข้ากลางใจพื้นที่ที่จะพัฒนาเป็นอาณาจักรมิกซ์ยูส ประตูเชื่อมโยงระหว่างกรุงเทพมหานคร กับเขตพัฒนาเศรษฐกิจภาคตะวันออกหรืออีอีซี โดยเฉพาะพื้นที่รอบสถานีศรีราชา ที่วันนี้ดีเวลอปเปอร์พลิกเมืองพัฒนารองรับสถานีแห่งใหม่ที่กำลังจะเกิดขึ้น ปลุกราคาที่ดินพุ่งสูง
ไม่เพียงแต่จะปลุกพื้นที่อีอีซีให้เกิดความตื่นตัว แต่พื้นที่โดยรอบมักกะสันอย่าง อโศก-ดินแดง เพชรบุรี รัชดาฯ พระราม 9 ประตูน้ำ พญาไท ราชเทวี ดีเวลอปเปอร์รายใหญ่ต่างขยับขึ้นโครงการต่อเนื่อง อีกทั้งภาครัฐก็ขยับลงทุนเส้นทางรถไฟฟ้าสายใหม่ ๆ อย่างสายสีส้มตะวันตก รองรับการเกิดขึ้นของเมืองมักกะสัน ที่ว่ากันว่าจะเป็นเมืองที่มีอัตลักษณ์ สร้างการจดจำคล้ายคลึงกับ โครงการวัน แบงค็อก ตึกที่สูงที่สุดในไทยของเจ้าสัวเจริญเจ้าอาณาจักรถนนพระราม 4 ที่ นายศุภชัย เจียรวนนท์ ประธานคณะผู้บริหาร เครือเจริญโภคภัณฑ์ บริษัท รถไฟความเร็วสูงฯ ยืนยันจะเนรมิตพื้นที่นี้ให้มีพื้นที่ใช้สอยมากถึง 2 ล้านตารางเมตร มากกว่าที่รฟท.กำหนดถึง 2 เท่าตัว
โดยเน้นเป็นศูนย์กลางช็อปปิ้งโลก สถานพยาบาลที่มีความเป็นเลิศ ทั้งด้านการบริการและเทคโนโลยีชั้นสูง อีกทั้งยังเป็นแหล่งรวมของความบันเทิง ศูนย์การประชุมระดับนานาชาติ เป็นจุดหมายปลายทางของนักท่องเที่ยว นักธุรกิจ แน่นอนว่าต้องลงทุนสูงเพื่อออกแบบแม่เหล็กให้สะกดคนทั้งโลก
ขณะคนในแวดวงธุรกิจประเมินว่ากลุ่มซีพีมาถูกทาง เนื่องจากที่ดินแปลงนี้เป็นลีสโฮลด์เช่าระยะยาว และทำเลอยู่กลางใจเมืองล้อมรอบด้วยรถไฟฟ้า มีคอนโดมิเนียม แหล่งงาน เกิดขึ้นหนาแน่น จึงต้องพัฒนาเป็นเมืองช็อปปิ้ง โรงแรม รองรับนักท่องเที่ยว ที่สามารถเดินทางถึงสนามบินได้อย่างสะดวกรวดเร็วโดยรถไฟความเร็วสูงอีกทั้งคนทำงานและนักธุรกิจที่เดินทางไปกลับยังเมืองอีอีซี
เช่นเดียวกับนายวิทูรย์ หทัยรัตนา รองกรรมการผู้จัดการ บริษัททางด่วนและรถไฟฟ้ากรุงเทพ จำกัด (มหาชน) หรือ BEM ในฐานะผู้ถือหุ้น บริษัทรถไฟฯยืนยันว่า เมืองมักกะสันจะมีทั้งโรงแรม อาคารสำนักงาน ค้าปลีก เซอร์วิสอพาร์ตเมนต์ มีพื้นที่สีเขียวขนาดใหญ่ มีความทันสมัยด้านเทคโนโลยี ไม่ต่างจากโครงการวัน แบงค็อก แต่รถไฟฟ้าสายสีน้ำเงิน สถานีเพชรบุรี จะได้อานิสงส์จากการดึงคนจากมักกะสันเข้าสู่ระบบมากขึ้น
แหล่งข่าวจากกระทรวงคมนาคม ระบุว่าที่ผ่านมาได้กำหนดโฉมหน้าของเมืองมักกะสันเป็นศูนย์ช็อปปิ้งโลก เนื่องจากอยู่ใกล้กับประตูน้ำ ย่านค้าปลีกค้าส่งมีห้างสรรพสินค้าชั้นนำจำนวนมาก ทำให้เกิดการเชื่อมโยงระหว่างกัน อีกทั้งยังพุ่งเป้าไปที่สถานพยาบาลระดับโลกที่มากด้วยความทันสมัย การบริการครบวงจรสำหรับผู้ป่วยตลอดจนผู้มาใช้บริการทั้งในประเทศและต่างประเทศ
แหล่งข่าวจากรฟท. ย้ำว่า รฟท.จะส่งมอบพื้นที่มักกะสันให้กับกลุ่มซีพี พร้อมกับการเวนคืนช่วงสุวรรณภูมิ-อู่ตะเภา หรือภายใน 2 ปีนับจากเซ็นสัญญา เพราะหากส่งมอบพื้นที่ส่วนนี้ก่อน เกรงว่าเอกชนจะให้ความสนใจแต่การลงทุนมักกะสันเพื่อเก็บเกี่ยวผลประโยชน์ ดังนั้นทั้งการสร้างเมืองและเส้นทางไฮสปีด ต้องเสร็จในเวลาใกล้เคียงกัน
ที่มา : หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ, ศูนย์ข้อมูลอสังหาริมทรัพย์