คลอด'ผังเมือง EEC'30 อำเภอ เตรียมประกาศใช้ปี 65
แผนผังการใช้ประโยชน์ในที่ดินและแผนผังการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานและระบบสาธารณูปโภคเขตพัฒนาพิเศษ ภาคตะวันออก (แผนผังอีอีซี) ประกาศใช้ เมื่อวันที่ 9 ธ.ค.2562 ซึ่งถือเป็นแผนผังที่ครอบคลุมการใช้ประโยชน์ที่ดินลักษณะต่าง ๆ ในอีอีซี (อ่านประกาศฉบับเต็ม >> คลิกที่นี่ <<)
นายชยพล ธิติศักดิ์ อธิบดีกรมโยธาธิการและผังเมือง เปิดเผยว่า เมื่อแผนผังการใช้ประโยชน์ที่ดินอีอีซีประกาศออกมาแล้ว ขณะนี้กรมโยธาฯ อยู่ระหว่างดำเนินการจัดทำร่างผังเมืองอำเภอ ซึ่งเป็นผังเมืองที่จะลงรายละเอียดเพิ่มขึ้นจากแผนผังอีอีซี โดยจะจัดทำทั้งหมด 30 ผังเมือง ครอบคลุม 30 อำเภอ แบ่งเป็น 1.จังหวัดชลบุรี 11 อำเภอ 2.จังหวัดฉะเชิงเทรา 11 อำเภอ 3.จังหวัดระยอง 8 อำเภอ ซึ่งดำเนินการตามขั้นตอนจัดทำผังเมืองตาม พ.ร.บ.ผังเมือง พ.ศ.2562 โดยจะรับฟังความเห็นผู้มีส่วนได้ส่วนเสียและเสนอคณะรัฐมนตรี (ครม.) ให้ความเห็นชอบ
สำหรับแผนผังอีอีซีจะเป็นกรอบใหญ่ในการใช้ที่ดินอีอีซีในการใช้ประโยชน์ที่ดิน 6 ด้าน คือ
- แผนผังการใช้ประโยชน์ที่ดิน
- แผนผังระบบสาธารณูปโภค ระบบเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร และระบบการควบคุมและขจัดมลภาวะ
- แผนผังระบบคมนาคมและขนส่ง
- แผนผังระบบการตั้งถิ่นฐานและภูมิสังคม
- แผนผังระบบบริหารจัดการน้ำ
- แผนผังระบบป้องกันอุบัติภัย
ทั้งนี้ ผังเมือง 30 อำเภอก็จะจัดทำตามแนวทางการที่แผนผังอีอีซีกำหนดแนวทางการใช้ประโยชน์ที่ดินทั้ง 6 ด้านดังกล่าว โดยจะลงรายละเอียดการใช้ที่ดินในระดับอำเภอ อาจจะเสร็จพร้อมกันและประกาศใช้ในปี 2565 ซึ่งถือเป็นการจัดทำผังเมืองรูปแบบใหม่ที่ทำแผนผังการใช้ประโยชน์ที่ดินทุกด้านก่อนแล้วมาลงรายละเอียด เพื่อรองรับการพัฒนาใน 3 จังหวัด จนถึงปี 2580
"แผนผังอีอีซีที่ประกาศออกมาได้ยกเลิกผังเมืองเดิมของทั้ง 3 จังหวัด แต่ระหว่างที่ผังเมือง 30 อำเภอยังไม่ออกมา จะไม่มีผลกระทบต่อการใช้ประโยชน์ที่ดิน เพราะองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) สามารถอนุญาตใช้ประโยชน์ที่ดินตามที่แผนผังอีอีซีกำหนดได้ โดยกรมโยธาธิการและผังเมือง ร่วมกับสำนักงานคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (สกพอ.) ได้สัมมนาทำความเข้าใจการบังคับใช้แผนผังอีอีซีครบแล้วทั้ง 3 จังหวัด เพื่อให้ทุกฝ่ายเข้าใจ"
นายชยพล กล่าวว่า เมื่อแผนผังอีอีซี กำหนดลักษณะการใช้ประโยชน์ที่ดินในแต่ละพื้นที่ไว้แล้ว ผู้ประกอบการที่ต้องการพัฒนาพื้นที่ เช่น นิคมอุตสาหกรรม ก็สามารถดำเนินการขออนุญาตดำเนินการได้เลย หากในแผนผังอีอีซีกำหนดให้เป็นพื้นที่สีม่วง หรือที่ดินประเภทพัฒนาอุตสาหกรรม ซึ่งทำให้การจัดทำผังเมือง 30 อำเภอ ไม่เป็นอุปสรรคกับการพัฒนาธุรกิจ
สกพอ.เร่งทำความเข้าใจผังอีอีซี
แหล่งข่าวจาก สกพอ.กล่าวว่า หลังประกาศใช้แผนผังอีอีซีแล้ว สกพอ.ได้ลงพื้นที่เพื่ออธิบายรายละเอียดและผลประโยชน์ที่ประชาชนและท้องถิ่นจะได้รับ โดยจุดเด่นของแผนผังนี้ได้กำหนดการใช้ประโยชน์ที่ดินเพื่อรองรับโครงสร้างพื้นฐานในอนาคต เพราะจัดทำพร้อมกันทั้ง 3 จังหวัด ให้เชื่อมต่อกันจึงวางโครงสร้างพื้นฐานให้เหมาะสมต่อการใช้พื้นที่ ซึ่งประชาชนและเอกชนจะรู้แนวทางการพัฒนาที่ชัดเจน
"การลงพื้นที่ได้อธิบายจุดเด่น รวมทั้งการปรับตัวเพื่อรองรับแผนผังอีอีซี โดยไม่เพียงบอกว่าในพื้นที่จะใช้ประโยชน์ด้านใดบ้าง แต่กำหนดชัดเจนว่าโครงสร้างสาธารณูปโภคพื้นฐานที่จะเข้ามามีอะไรบ้าง เพื่อให้ท้องถิ่นปรับตัวรองรับประโยชน์ที่จะเกิดขึ้น รวมทั้งภาคธุรกิจจะรู้ว่าควรเข้าไปตั้งธุรกิจอะไรบ้างที่เหมาะสมกับพื้นที่ ซึ่งผังเมืองทั่วไปไม่ได้ลงรายละเอียดนี้"
นอกจากนี้ กรมโยธาธิการและผังเมือง จะนำแผนผังอีอีซีมาทำผังเมืองจังหวัดและอำเภอ โดยจะลงรายละเอียดโครงสร้างสาธารณูปโภคที่จะเข้ามาในพื้นที่ รวมทั้งทำประกาศแนบท้ายผังเมืองกำหนดรายละเอียด ในรูปแบบ Negative list คือ กำหนดธุรกิจหรืออุตสาหกรรมที่ห้ามในพื้นที่ เพื่อให้ธุรกิจที่มาลงทุนไม่กระทบชุมชน ซึ่งส่วนใหญ่จะห้ามอุตสาหกรรมหนักที่มีมลภาวะสูง ที่ไม่ได้อยู่ในกลุ่มอุตสาหกรรมที่อีอีซีส่งเสริม
ยืนยันผังเมืองไม่กระทบชุมชน
"อุตสาหกรรมที่ได้รับการส่งเสริมในอีอีซี จะเป็นอุตสาหกรรมสมัยใหม่ใช้เทคโนโลยีสูง ปล่อยมลพิษต่ำมาก เช่น ยานยนต์สมัยใหม่ อุปกรณ์การแพทย์ หุ่นยนต์ อากาศยาน อุตสาหกรรมชีวภาพ จึงมั่นใจว่าแผนผังอีอีซีจะไม่ส่งผลกระทบสิ่งแวดล้อมและชุมชน"
สำหรับแผนผังอีอีซี จะรองรับการขยายตัวของเขตเมืองอีก 20 ปี ใน 3 จังหวัด ได้แก่ ชลบุรี ระยองและฉะเชิงเทรา ครอบคลุม 8.29 ล้านไร่ รองรับประชากร 6 ล้านคนเศษ กำหนดพื้นที่ 4 กลุ่ม 11 ประเภท เช่น
1. กลุ่มพัฒนาเมืองและชุมชน พื้นที่ 1.096 ล้านไร่ คิดเป็น 13.23% ของพื้นที่ทั้งหมด โดยแบ่งเป็นประเภทศูนย์กลางพาณิชยกรรม (สีแดง) ประเภทชุมชนเมือง (สีส้ม) ประเภทรองรับการพัฒนาเมือง (สีส้มอ่อนมีจุดขาว) และพื้นที่ประเภทเขตส่งเสริมพิเศษเพื่อกิจการพิเศษ (สีน้ำตาล)
2. กลุ่มพื้นที่พัฒนาอุตสาหกรรม 424,854 ไร่คิดเป็นพื้นที่ 5.12% กำหนดให้รวมกลุ่มเป็นคลัสเตอร์ เพื่อให้ควบคุมและบริหารจัดการได้ง่าย กำหนดระยะห่างจากพื้นที่ป่าไม้ ไม่น้อยกว่า 1 กิโลเมตร จากแม่น้ำลำคลอง ห่างจากพื้นที่ชายฝั่งทะเลไม่น้อยกว่า 500 เมตร แบ่งเป็นประเภท เขตส่งเสริมเศรษฐกิจพิเศษเพื่ออุตสาหกรรมเป้าหมายพิเศษ (สีม่วง) เขต และพื้นที่ประเภทพัฒนาอุตสาหกรรม (สีม่วงอ่อนมีจุดขาว)
3.กลุ่มพื้นที่ชนบทและเกษตรกรรม 4.85 ล้านไร่ แบ่งเป็นที่ดินประเภทชุมชนชนบท (สีเหลืองอ่อน) โดยเป็นพื้นที่ชุมชนและเศรษฐกิจชุมชน ที่ดินประเภทส่งเสริมเกษตรกรรม (สีเขียวอ่อน) ส่วนที่ดินประเภทที่พระราชกฤษฎีกากำหนดให้เป็นเขตปฏิรูปที่ดิน (สีเหลืองมีเส้นทแยงสีเขียว) มีพื้นที่คงเดิมรวม 1.66 ล้านไร่ ซึ่งส่วนใหญ่อยู่ในพื้นที่ด้านตะวันออกของอีอีซี
ที่มา : หนังสือพิมพ์กรุงเทพธุรกิจ, ศูนย์ข้อมูลอสังหาริมทรัพย์