แบงก์เร่งตัดขาย'หนี้เสีย' เคลียร์พอร์ตตั้งรับ NPL ใหม่
แบงก์แห่ตัดขายหนี้เสีย
แหล่งข่าวจากสถาบันการเงิน เปิดเผย "ประชาชาติธุรกิจ" ว่า ปีนี้ด้วยภาวะเศรษฐกิจที่ชะลอตัวค่อนข้างหนัก จึง คาดการณ์ว่า หนี้ไม่ก่อให้เกิดรายได้ (เอ็นพีแอล) ในระบบธนาคารพาณิชย์จะเพิ่มสูงขึ้น ประกอบกับสินเชื่อก็ชะลอตัวค่อนข้างมาก ขณะนี้เอ็นพีแอลทั้งระบบก็เพิ่มมาอยู่ระดับ 3.2-3.3% ของสินเชื่อรวม จากสิ้นปี 2562 อยู่ที่ 2.98% ของสินเชื่อรวม ธนาคารพาณิชย์จึงต้องเร่งเคลียร์พอร์ตไว้เพื่อรองรับหนี้เสียใหม่ ๆ ที่จะเกิดขึ้น เพื่อไม่ให้กระทบต่องบดุลของแบงก์มากเกินไป ดังนั้น จึงเห็นธนาคารพาณิชย์เริ่มแห่ขายหนี้เอ็นพีแอล กันออกมาตั้งแต่ต้นปี
ขณะที่บริษัทบริหารสินทรัพย์ (เอเอ็มซี) ที่รับซื้อหนี้ก็มีความระมัดระวังมากขึ้น โดยจะเห็นได้จากราคาในการรับซื้อหนี้ที่ถูกลงกว่าปีก่อน โดยเฉพาะทรัพย์ที่ขายต่อยาก เช่น อาคารโรงสีข้าว โรงเลี้ยงไก่ และโรงเลี้ยงหมู เนื่องจากเป็นทรัพย์ในอุตสาหกรรม "ซันเซต" ราคาซื้อจึงถูกกดราคาตั้งแต่แรก บางแห่งอาจจะซื้อที่ส่วนลดมากกว่า 70-80%
"ตอนนี้ทรัพย์ที่ขายยาก เอเอ็มซีก็จะระมัดระวังมีการกดราคามากกว่า 50% ภาพรวมปีนี้ราคาซื้อทรัพย์ ถือว่าถูกลงกว่าปีก่อนมาก เรียกว่าเป็นปีทองของผู้ซื้อ" แหล่งข่าวกล่าว
"ทีเอ็มบี" เร่งเคลียร์พอร์ต
นายปิติ ตัณฑเกษม ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร ธนาคารทหารไทย (ทีเอ็มบี) เปิดเผยว่า ต้นเดือน มี.ค.ที่ผ่านมา ธนาคารมีการขายหนี้เสียออกจากพอร์ตบางส่วน โดยขณะนี้ต้องเร่งขายหนี้ส่วนที่สามารถขายได้ทันที เนื่องจากในภาวะเศรษฐกิจชะลอตัว แนวโน้มข้างหน้าจะมีหนี้เสียเกิดขึ้นจำนวนมาก และสถาบันการเงินจะเทขายกันออกมามาก ธนาคารจึงต้องเร่งขายช่วงนี้ ซึ่งส่วนใหญ่เป็นในส่วนหนี้เสียของธุรกิจขนาดกลางและขนาดย่อม และหนี้เสียจากสินเชื่อรายย่อย
"ตอนนี้ หนี้เสียอะไรขายได้ต้องเร่งขายไปก่อน เพราะเชื่อว่าจะมีซัพพลายมากกว่าดีมานด์ ในภาวะเศรษฐกิจแบบนี้ ก็คงมีคนขายเยอะ เราจึงเร่งขายไปก่อน"
ขณะที่นายสุทธิรักษ์ ตรัยชิรอาภรณ์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท เจ เอ็ม ที เน็ทเวอร์ค เซอร์วิสเซ็ส (JMT) ผู้ให้บริการ ติดตามหนี้และบริหารหนี้ กล่าวกับ "ประชาชาติธุรกิจ" ว่า ตอนนี้บริษัทอยู่ระหว่างการตรวจสอบสถานะพอร์ตหนี้เสียของสถาบันการเงิน 3 แห่ง เพื่อรับซื้อมาบริหาร โดยมีทั้งหนี้ที่ไม่มีหลักประกัน และหนี้ที่มีหลักประกัน ซึ่งต้นปีที่ผ่านมา บริษัทได้รับซื้อหนี้ที่ไม่มีหลักประกันมาแล้ว 2,900 ล้านบาท
"ปีนี้คาดว่าเอ็นพีแอลในระบบจะอยู่สูงกว่า 3% ส่งผลให้สถาบันการเงินน่าจะตัดขายหนี้กันออกมาราว 5-10% ของพอร์ตหนี้เสีย ส่วนหนึ่งเป็นผลมาจากมาตรฐานทางบัญชีใหม่ (TFRS9) ที่จะมีผลต่อการลงบัญชีและการตั้งสำรอง แบงก์จึงต้องเร่งตัดขายหนี้เร็วขึ้น จึงเป็นอานิสงส์ต่อตลาดรับบริหารหนี้ โดยปีนี้บริษัทเตรียมวงเงินการรับซื้อหนี้ทั้งสิ้น 4,500-5,000 ล้านบาท และอาจเพิ่มเป็น 6,000 ล้านบาท หากมีแรงเทขายออกมาจำนวนมาก จาก ปีก่อนตั้งไว้แค่ 3,000 ล้านบาท" นายสุทธิรักษ์กล่าว
"หนี้เสียบ้าน" เริ่มบานสะพรั่ง
นายสุทธิรักษ์กล่าวว่า หนี้เสียที่เริ่มเทขายกันออกมาค่อนข้างมาก พบว่า ช่วง 1-2 ปีที่ผ่านมา กลุ่มหนี้อสังหาฯมีการตัดขายเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง และปีนี้คงต้องจับตาเป็นพิเศษ ซึ่งประเมินว่า ยังคงมีการเทขายพอร์ตออกมาอีกจำนวนมาก ในส่วนของ JMT ปัจจุบันมีพอร์ตคงค้างราว 1.7 แสนล้านบาท ฐานลูกค้าราว 4 ล้านราย ขณะที่การติดตามหนี้ยังเป็นปกติ เนื่องจากเป็นหนี้ที่ค้างมานานลูกหนี้จะทยอยผ่อนชำระ แต่ก็มีบางรายที่มีรายได้เพิ่มและนำเงินมาชำระหนี้มากขึ้น
ขณะที่นายบรรยง วิเศษมงคลชัย ประธานคณะกรรมการบริหาร บมจ.บริหารสินทรัพย์ กรุงเทพพาณิชย์ (BAM) กล่าวว่า ปีนี้บริษัทตั้งเป้าซื้อหนี้ เอ็นพีแอล และทรัพย์สินรอการขาย (เอ็นพีเอ) เพิ่มขึ้นจากปีก่อน 7-10% ซึ่งในช่วง 2-3 เดือนแรกบริษัทได้อนุมัติซื้อหนี้แล้วประมาณ 3,000 ล้านบาท
"เป้าเราก็ตั้งไว้ แต่ก็พร้อมซื้อเข้ามาให้ได้มากที่สุด อย่างปีที่ผ่านมาตั้งเป้าไว้ 7,000-8,000 ล้านบาท พอจบปีก็ซื้อเข้ามาถึง 1.2 หมื่นล้านบาท"
เศรษฐกิจทรุดขายยากขึ้น
นายบรรยงกล่าวว่า สำหรับหนี้ที่บริษัทซื้อมาบริหารจะเป็นหนี้อสังหาริมทรัพย์เป็นหลัก ส่วนที่บริษัทบริหารสินทรัพย์อื่น ๆ ระบุว่า ปีนี้แบงก์จะขายหนี้กว่า 1 แสนล้านบาทนั้น ส่วนใหญ่เป็นพวกสินเชื่อไม่มีหลักประกัน เช่น บัตรเครดิต สินเชื่อส่วนบุคคล เป็นต้น ส่วนที่เป็นหนี้เสียอสังหาฯน่าจะอยู่ที่กว่า 3 หมื่นล้านบาท
"ภาวะที่เศรษฐกิจมีแนวโน้มชะลอตัว ใครขายก่อนก็ได้เปรียบ ดังนั้น แบงก์ก็เร่งขายกัน แต่ผมคิดว่าหนี้เสียปีนี้จะยังอยู่ในวิสัยที่แบงก์บริหารจัดการได้ เพราะเท่าที่ดูจากหนี้ที่รับซื้อมา ส่วนใหญ่เป็นหนี้ที่ยังไม่มีการฟ้องร้อง แสดงว่า แบงก์พยายามพร่องน้ำรอไว้ ก่อนที่น้ำใหม่จะเข้ามา โดยเรื่องราคารับซื้อก็เป็นไปตามกลไกการตลาด ก็ยอมรับว่า ราคาซื้อจะต่ำกว่าปีก่อน ๆ" นายบรรยงกล่าว
ส่วนการขายทรัพย์ปีนี้ นายบรรยงกล่าวว่า อาจจะขายยากขึ้น แต่บริษัทก็เตรียมแคมเปญพิเศษไว้ อย่างกรณีบ้านราคาไม่เกิน 10 ล้านบาท หากเจ้าของเดิมมาเจรจาขอซื้อคืนก็จะมีโปรโมชั่นดอกเบี้ย 0% ให้ 2 ปี โดยช่วงเดือน เม.ย.-พ.ค.นี้ บริษัทจะมีทรัพย์ออกประมูลขายอีกหลายพันล้านบาท โดยจะมีแคมเปญทั้งราคาพิเศษ ฟรีค่าโอน ผ่อน 0% นาน 2 ปี และถ้าโอนเร็ว ยังมีบัตรกำนัลส่วนลดให้อีกเป็นแสนบาท
2 เดือนแบงก์ตัดขาย 3 หมื่น ล.
ขณะที่นายสมพร มูลศรีแก้ว กรรมการผู้จัดการใหญ่ BAM กล่าวว่า เพียงแค่ 2 เดือนที่ผ่านมา (ม.ค.-ก.พ.) พบว่า สถาบันการเงินเร่งขายหนี้เสียออกมา มูลค่าเกือบ 3 หมื่นล้านบาท จากปกติแต่ละปีแบงก์จะนำหนี้เสียออกมาขายราว 7-8 หมื่นล้านบาท ตามที่ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) มีมาตรการผ่อนปรนให้แบงก์ปรับโครงสร้างหนี้เพื่อช่วยลูกค้ามากขึ้น ก็น่าจะช่วยประคองเอ็นพีแอลของระบบธนาคารไม่ให้เพิ่มขึ้นเร็วมาก
"เอ็นพีแอลที่ปรับเพิ่มขึ้น ก็เป็นโอกาสให้เราซื้อสินทรัพย์เข้ามาบริหารในพอร์ต ซึ่งจะช่วยให้พอร์ตเติบโตขึ้น กลยุทธ์ของเราจะเลือกสินทรัพย์ที่ทำกำไรได้ดี และจะเข้าซื้อในราคาที่เหมาะสม โดยที่ผ่านมาเวลาลงทุนในเอ็นพีแอลเราจะได้ส่วนต่างกำไรประมาณ 15%"
ยอมรับโอกาสขายยากขึ้น
นายสมพรกล่าวว่า ในปีนี้ BAM มีเป้าหมายในการซื้อเอ็นพีแอล และเอ็นพีเอ เข้ามาบริหารราว 1-1.2 หมื่นล้านบาท จากปี 2562 บริษัทมีพอร์ตการบริหารหนี้รวมอยู่ประมาณ 4.6 แสนล้านบาท อย่างไรก็ตาม ในสถานการณ์ที่มีการระบาดของไวรัสโควิด-19 และภาวะเศรษฐกิจที่ชะลอตัว ยอมรับว่าจะทำให้การขายทรัพย์ยากกว่าปีก่อน และน่าจะขายได้ลดลงจากปีที่ผ่านมาที่บริษัทขายเอ็นพีเอไปได้ประมาณ 6,000 ล้านบาท
บริษัทมีกลยุทธ์ในการนำทรัพย์มาปัดฝุ่นและตั้งราคาขายที่มีความยืดหยุ่น และสามารถต่อรองราคา โดยให้ตั้งราคาในระดับที่เหมาะสม ประกอบกับบริษัทมีทรัพย์หลากหลาย ทั้งบ้าน คอนโดมิเนียม ทาวน์เฮาส์ และที่ดิน ครอบคลุมอยู่ในหลายพื้นที่จึงเป็นข้อดีที่ทำให้การขายไม่น่าจะตกลงมาก
"ปีนี้ บริษัทเตรียมทรัพย์มากกว่า 2,000 รายการ ออกมาขายในสถานการณ์แบบนี้การขายอาจจะลดลงบ้าง เป็นไปตามภาวะเศรษฐกิจ ทรัพย์ชิ้นใหญ่ ๆ เจ้าของเดิมอาจจะมีการปล่อยเช่ามาก่อน เมื่อถูกยึดลูกค้ารายนั้นอาจตามมาซื้อไว้แบบนี้ก็มี แต่โดยรวมการขายน่าจะชะลอกว่าปีก่อน" นายสมพรกล่าว
ด้านนายนิยต มาศะวิสุทธิ์ กรรมการผู้จัดการ บริษัท บริหารสินทรัพย์สุขุมวิท (SAM) กล่าวว่า บริษัทตั้งเป้ารับซื้อหนี้มาบริหาร 1.6-1.8 หมื่นล้านบาท ซึ่ง 2 เดือนแรก บริษัทได้เข้าไปประมูลซื้อพอร์ตหนี้เสียจากธนาคารหลายแห่ง ส่วนใหญ่จะเป็นพอร์ตสินเชื่อที่อยู่อาศัย และธุรกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (เอสเอ็มอี)
ค้นหาทรัพย์รอการขายจากธนาคารและบริษัทบริหารสินทรัพย์ หาง่ายได้ที่ตั้งถูกต้อง คลิกเลย >> ทรัพย์ธนาคารในเขตกรุงเทพมหานคร
ที่มา : หนังสือพิมพ์ประชาชาติธุรกิจ, ศูนย์ข้อมูลอสังหาริมทรัพย์