เคาะอุโมงค์ทางด่วน ถ.นราธิวาส-สำโรง
แหล่งข่าวจากกระทรวงคมนาคม เปิดเผย "ประชาชาติธุรกิจ" ว่า ตามที่ นายศักดิ์สยาม ชิดชอบ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม มีนโยบายให้สำนักงานนโยบายและแผนการขนส่งและจราจร (สนข.) ศึกษาการก่อสร้างอุโมงค์ลอดแม่น้ำเจ้าพระยาแก้ปัญหารถติดกรุงเทพฯ ล่าสุด สนข.ร่วมกับกระทรวงที่ดิน สาธารณูปโภค ขนส่งและการท่องเที่ยวญี่ปุ่น (MLIT) เคาะรูปแบบและค่าก่อสร้างในเส้นทางนำร่องช่วง ถ.นราธิวาสราชนครินทร์-สำโรง ระยะทาง 8.7 กม. เบื้องต้น ญี่ปุ่นประเมินจะใช้ค่าก่อสร้าง 84,300 ล้านบาท ซึ่งเป็นข้อมูลมาตรฐานของญี่ปุ่น ให้นำกลับไปพิจารณาเป็นมาตรฐานไทย คาดว่าจะถูกกว่านี้
"มีข้อสรุปร่วมกับญี่ปุ่นแล้ว การก่อสร้างบริเวณ ถ.นราธิวาสราชนครินทร์ ทาง MLIT ต้องการถมคลองคูน้ำเดิม แล้วขยับออกไปทางด้านขวาของถนน เพื่อให้การขุดอุโมงค์ไม่ลึกมาก แต่ สนข.มองว่าถมคลองจะทำให้ต้องปิด ถ.นราธิวาสฯทั้งเส้น ส่งผลต่อการจราจรติดมากขึ้น จึงเห็นว่าควรขุดอุโมงค์ให้ลึกกว่าระดับคลองคูน้ำจะดีกว่า แม้ต้นทุนจะเพิ่มแต่มีผลกระทบน้อย ซึ่งญี่ปุ่นรับหลักการแล้ว ส่วนการก่อสร้าง ถ.บางนา-ตราดจะทำเป็นทางข้ามจากปากอุโมงค์แล้ววนไปลงที่ขาออกของ ถ.บางนา-ตราดแทน เพราะบริเวณนั้น ตรงไปอีก 1-2 กม.ก็ขึ้นทางด่วนบูรพาวิถีได้เช่นกัน ไม่จำเป็นต้องทำทางเชื่อม หลังจากนี้จะจัดทำเป็น final report สรุปรายงานกระทรวงคมนาคมรับทราบต่อไป"
รูปแบบอุโมงค์จะคล้ายกับอุโมงค์รถไฟฟ้าสายสีส้ม มีเส้นผ่านศูนย์กลาง 13 เมตร ขนาด 4 ช่องจราจร มีทางขึ้นลง 2 ด้านบริเวณแยกบางนา และ ถ.นราธิวาสราชนครินทร์ อยู่ลึกจากท้องแม่น้ำเจ้าพระยา 13 เมตร มีระยะทางโครงการ 8.7 กม. โดยช่วง อุโมงค์ยาว 7.45 กม. มีเวนคืนบริเวณทางขึ้นลงตามผลการศึกษาเดิมของ สนข. แนวจะเริ่มจากแยกบางนา มุดลงใต้ดินผ่านบางกะเจ้า ลอดใต้แม่น้ำเจ้าพระยาบริเวณกระเพาะหมู ไปสิ้นสุด ถ.นราธิวาสราชนครินทร์ ช่วงที่ต่อกับ ถ.พระราม 3
หากผลการศึกษามีความเป็นไปได้ จะออกแบบรายละเอียด ศึกษารูปแบบโครงการ การลงทุน รายงานวิเคราะห์ผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อม (EIA) และประชาพิจารณ์โครงการ จะใช้เวลา 7-8 เดือนก่อนจะเสนอ คณะกรรมการจัดระบบการจราจร ทางบก (คจร.) ที่มีพลเอกประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี เป็นประธานได้ภายในปีนี้
นายชยธรรม์ พรหมศร ผู้อำนวยการ สนข. กล่าวว่า กระทรวงคมนาคมยัง ได้เซ็นบันทึกข้อตกลง (MOU) กับประเทศเกาหลีใต้ ศึกษาสร้างอุโมงค์ทางลอดที่ใช้ประโยชน์ได้ทั้งทางด่วน รถไฟฟ้า และระบายน้ำ โดยจะนำผลการศึกษาทั้ง 2 ประเทศมาเปรียบเทียบถึงรูปแบบ พื้นที่เหมาะสม ค่าก่อสร้าง เพื่อศึกษารายละเอียดต่อไป
ที่มา : หนังสือพิมพ์ประชาชาติธุรกิจ, ศูนย์ข้อมูลอสังหาริมทรัพย์