บีทีเอสยกเลิกตั๋วรายเดือน สะเทือน!!คอนโดชานเมืองสะดุด
นายภัทรชัย ทวีวงศ์ ผู้อำนวยการฝ่ายวิจัยและการสื่อสาร บริษัท คอลลิเออร์ส อินเตอร์เนชั่นแนล ประเทศไทย กล่าวว่า กรณี บีทีเอส ยกเลิกบัตรโดยสารรายเดือน นั้น ส่งผลกระทบต่อโครงการคอนโดที่อยู่ในทำเลส่วนต่อขยายรถไฟฟ้าบีทีเอส เช่น คอนโดสายสีม่วง เขียวเหนือ เขียวใต้ หรือสายใหม่ ๆ ที่กำลังจะเกิดขึ้น
เหมือนกับที่เคยเกิดปัญหาในสายสีม่วงที่กว่าจะเข้าถึงในเมืองได้ เสียค่าเดินทางไปกลับวันละ 100 กว่าบาท ซึ่งถือว่าเป็นค่าใช้จ่ายที่สูงมาสำหรับประชาชนที่ใช้บริการ เพราะคนหันใช้รถตู้แทน ทำให้ซัพพลายที่เคยเปิดตัวเยอะในโซนสีม่วง ไม่สามารถดูดซับได้อย่างที่คาดการณ์ไว้ จึงมีผลกระทบกับคอนโดที่อยู่ในส่วนต่อขยายหรือชานเมือง ซึ่งเป็นกลุ่มคอนโดระดับกลาง-ล่าง เพราะภาระค่าใช้จ่ายเพิ่มขึ้น ขณะที่รายได้ไม่ได้เพิ่มขึ้น มีผลต่อการใช้ชีวิตประจำวัน เพราะทำให้ต้นทุนการใช้ชีวิตเพิ่มขึ้น
"จากกรณีดังกล่าวมีผลต่อการตัดสินใจซื้อคอนโด ที่ติดรถไฟฟ้าบีทีเอสส่วนต่อขยายย่านชานเมืองชะงักไปบ้าง แต่คงไม่ถึงขั้นขายไม่ได้เลย แต่ทำให้กลุ่มกำลังซื้อน้อยพิจารณามากขึ้นว่า ต้นทุนที่เพิ่มขึ้นรับได้มาน้อยแค่ไหน คาดว่าจะมีบางส่วนชะลอการตัดสินใจซื้อไปก่อน"
สอดคล้องกับที่ นางสาวเกษรา ธัญลักษณ์ภาคย์ กรรมการผู้จัดการ บริษัท เสนาดีเวลลอปเม้นท์ จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า จากการที่ผู้บริโภคต้องจ่ายค่ารถไฟฟ้าแพงขึ้น หลังจากที่บีทีเอสยกเลิกตั๋วเดือนนั้น จะส่งผลต่อทิศทางการพัฒนาโครงการคอนโดมิเนียมในอนาคตอย่างแน่นอน!!
จากเดิมที่ 10 ปีที่ผ่านมา ตลาดคอนโดเติบโตขึ้นจากการมาของรถไฟฟ้า เปลี่ยนพฤติกรรมของคนให้หันมาซื้อคอนโดแทนซื้อรถยนต์ส่วนตัว ทำให้เกิดคอนโดแนวรถไฟฟ้า อาทิ ย่านแพรกษา สมุทรปราการ โดยมีค่าใช้จ่ายจากการเดินทางด้วยรถไฟฟ้ามาทำงานย่านอโศก ด้วยตั๋วรายเดือน 3,000 บาท ซึ่งอยู่ในระดับรายจ่ายที่พอรับได้
แต่ปัจจุบัน บีทีเอสยกเลิกตั๋วเดือน ซึ่งถือเป็นเรื่องใหญ่มากสำหรับมนุษย์เงินเดือนที่จำเป็นต้องเดินทางทุกวัน เท่ากับมีค่าใช้จ่ายที่จะต้องจ่ายเพิ่มบวก 22 บาทต่อเที่ยว เมื่อเทียบกับราคาเฉลี่ย 26 บาทของบัตร 30 วัน เรียกว่าเพิ่มเท่าตัว จึงกลายเป็นปัจจัยลบกับคอนโดแนวรถไฟฟ้าทันที
จากจุดนี้ทำให้ เสนาฯ มองว่า ทำเลที่ดีของคอนโดไม่จำเป็นต้องเป็นทำเลที่ติดรถไฟฟ้าเท่านั้น แต่เป็นเรื่องของต้นทุนค่าเดินทางที่เข้ามาเป็นปัจจัยสำคัญในการเลือกซื้อคอนโด ทำให้คนบางส่วนจะหนีไปอยู่ในทำเลที่ใกล้กับแหล่งงาน โดยไม่จำเป็นต้องอยู่ติดหรือใกล้รถไฟฟ้าอีกต่อไป
นางสาวเกษรา ระบุว่า ทำเลที่ดีในอนาคต ไม่จำเป็นต้องใกล้รถไฟฟ้า แต่เป็นทำเลที่ใกล้แหล่งงาน และมีไลฟ์สไตล์รองรับ สามารถเดินทางได้ด้วยจักรยานยนต์ ถือเป็นจุดเปลี่ยนสำคัญที่จะมีผลต่อดีเวลลอปเปอร์ในการพัฒนาโครงการในอนาคต เนื่องจากปัจจัยการเลือกซื้อคอนโดของผู้บริโภคเปลี่ยนไปจากเดิมที่มองโลเคชั่นรถไฟฟ้า เปลี่ยนมาให้ความสำคัญกับค่าใช้จ่ายการเดินทางที่ยอมรับได้ ในระดับราคา(คอนโด)ที่สามารถเข้าถึงได้ และสนองตอบไลฟ์สไตล์การใช้ชีวิตในยุคนิวนอร์มอล
ที่มา : หนังสือพิมพ์กรุงเทพธุรกิจ