เสร็จปี 66! วิ่งตลอดสาย วงแหวนรอบเมืองโคราช ทล.ทุ่มอีก 1.48 หมื่นล้านทะลวงคอขวดทั่วเมือง
นายสราวุธ ทรงศิวิไล อธิบดีกรมทางหลวง (ทล.) เปิดเผยว่า ทล.ได้วางแผนการพัฒนาโครงข่ายทางหลวงในพื้นที่จังหวัดนครราชสีมา โดยเฉพาะโครงการก่อสร้างถนนวงแหวนรอบเมืองนครราชสีมา ซึ่งเป็นการก่อสร้างถนนแนวใหม่ (ทล. 290) ระยะทางรวมทั้งสิ้น 113 กม. วงเงินกว่า 12,758 ล้านบาท เพื่อรองรับปริมาณจราจรที่เพิ่มขึ้น โดยเป็นเส้นทางที่สามารถเชื่อมโยงกับทางหลวงพิเศษระหว่างเมือง (มอเตอร์เวย์) สายบางปะอิน-นครราชสีมา (M6) ที่บริเวณขามทะเลสอ ผันรถไม่ต้องเข้าตัวเมืองนครราชสีมาเพื่อไปยังจังหวัดบุรีรัมย์ และจังหวัดขอนแก่น ลดความแออัดในเขตตัวเมืองแก้ปัญหาจราจรได้อย่างมีประสิทธิภาพ
โดยแบ่งการก่อสร้างเป็น 7 โครงการ ก่อสร้างเสร็จแล้ว 4 โครงการ ระยะทาง 53.014 กม. ค่าก่อสร้าง 5,094.927 ล้านบาท และทยอยให้บริการตั้งแต่เดือน ต.ค. 2563 ประกอบด้วย
- ทิศใต้ตอนที่ 1 (ถนนวงแหวน) ระยะทาง 17.941 กม. ค่าก่อสร้าง 314.974 ล้านบาท
- ทิศใต้ตอนที่ 2 (ถนนวงแหวน) ระยะทาง 14 กม. ค่าก่อสร้าง 987.934 ล้านบาท
- ทิศเหนือตอนที่ 1 (ทางแยกต่างระดับที่จดตัด ทล.2 กับ ทล.290) ระยะทาง 3 กม. ค่าก่อสร้าง 1,394.8 ล้านบาท และ (ทางแยก ทล.2-บรรจบ ทล.2068) ระยะทาง 9.111 กม. ค่าก่อสร้าง 991.4 ล้านบาท
- ทิศเหนือตอนที่ 2 (ทางแยกทล.2068- บรรจบ ทล.205 รวมทางแยกต่างระดับ) ระยะทาง 8.962 ล้านบาท ค่าก่อสร้าง 1,405.819 ล้านบาท
ส่วนอีก 3 โครงการ ระยะทาง 60.263 กม. ค่าก่อสร้าง 7,664.076 ล้านบาท ได้ตัวผู้รับจ้างครบแล้ว อยู่ระหว่างก่อสร้าง ผลงานคืบหน้า 49.81% คาดว่าจะแล้วเสร็จเปิดให้บริการในปี 2566 ประกอบด้วย
- ทิศใต้ตอนที่ 3 มี 3 ตอนย่อย คือ แยกทล.224-บรรจบ ทล.226 ตอน 1 ระยะทาง 8.677 กม. ค่าก่อสร้าง 946.050 ล้านบาท ผลงาน 69.485% ตอนที่ 2 ระยะทาง 8 กม. ค่าก่อสร้าง 946.779 ล้านบาท ผลงาน 97.228% ตอนที่ 3 ระยะทาง 2 กม. ค่าก่อสร้าง 1,400 ล้านบาท ผลงาน 28.698%
- ทิศเหนือตอนที่ 3 (แยกจุดตัด ทล. 205-แยกจุดตัด ทล.2) ระยะทาง 14.907 กม. ค่าก่อสร้าง 1,273.452 ล้านบาท ผลงาน 25.008%
- ทิศเหนือตอนที่ 4 (แยก ทล.2-ทล.226 ตอน 1) ระยะทาง 8.118 กม. ค่าก่อสร้าง 798.5 ล้านบาท ผลงาน 7.321% และตอน 2 ระยะทาง 4.061 กม. ค่าก่อสร้าง 898.297 ล้านบาท ผลงาน 8.579% และ ทิศเหนือตอนที่ 2 (แยก ทล.2068-บรรจบ ทล.205) ระยะทาง 14.5 กม. ค่าก่อสร้าง 1,400.998 ล้านบาท ผลงาน 88.689%
ทั้งนี้ ถนนวงแหวนรอบเมืองนครราชสีมาเป็นถนนวงแหวนรอบเมืองที่มีขนาดใหญ่และมีระยะทางยาวเป็นอันดับที่ 2 ของประเทศไทยรองจากถนนวงแหวนรอบนอกกรุงเทพมหานคร (ถนนกาญจนาภิเษก) จะเพิ่มศักยภาพทางด้านการคมนาคม การค้าการขนส่งโดยรวมของภาคอีสานได้อย่างดี
นอกจากนี้ ในพื้นที่นครราชสีมา ทล.ยังมีแผนงานการพัฒนาทางหลวงในอนาคต จำนวน 11 โครงการ ระยะทางรวม 133 กม. มีงบประมาณก่อสร้าง 14,890 ล้านบาท ได้แก่
- ทางแยกต่างระดับ ทล.24 กับ ทล.224 (แยกโชคชัย) ค่าก่อสร้าง 1,050 ล้านบาท (งบปี 66-69)
- ทางลอด ทล.2 กับถนนช้างเผือก กับถนนสิริราชธานี (แยกประโดก) ค่าก่อสร้าง 650 ล้านบาท(งบปี 66)
- ขยาย 4 ช่องจราจร ทล.2 ตอน บ.โคกกรวด-บ.หนองสนวน ระยะทาง 23 กม. ค่าก่อสร้าง 980 ล้านบาท (งบปี 66-69)
- ทางลอดจุดตัดทล.2 กับ ทล.224 (แยกนครราชสีมา) ค่าก่อสร้าง 350 ล้านบาท (งบปี 66)
- ทางแนวใหม่ เลี่ยงเมืองด่านขุนทด ระยะทาง 12 กม. ค่าก่อสร้าง 960 ล้านบาท (งบปี 66-69 )
- ทางแยกต่างระดับทล.2 ตัดกับทางหลวงชนบท นม.1049 สะพานข้ามแยกพนมวัน ค่าก่อสร้าง 450 ล้านบาท (งบปี 66-69)
- ทางแยกต่างระดับ ทล.2 ตัดกับ ทล.206 (พิมาย) ค่าก่อสร้าง 550 ล้านบาท (งบปี 66-69)
- สะพานลอยกลับรถ ทล.2 สะพานกลับรถต่างระดับ กม.88-89 ต.คลองไผ่ ค่าก่อสร้าง 280 ล้านบาท (งบปี 66-69)
- ทางแยกต่างระดับ ทล.2 ตัด ทล.207 และ ทล. 2150 (บ้านวัด) ค่าก่อสร้าง 650 ล้านบาท (งบปี 66-69)
- สะพานข้ามทางรถไฟ ทล.226 จุดสุดทางเลี่ยงเมืองจักรราช-จุดเริ่มทางเลี่ยงเมืองห้วยแถลง ค่าก่อสร้าง 270 ล้านบาท (งบปี 66-69)
- ขยายช่องจราจร ทล. 202 ตอน บ.สีดา-อ.ประทาย ระยะทาง 23 กม. ค่าก่อสร้าง 1,000 ล้านบาท (งบปี 66-69)
ที่มา : ผู้จัดการออนไลน์