เตาแม่เหล็กไฟฟ้า ดูแลรักษาอย่างไร ให้สะอาดน่าใช้ไปอีกนาน
เตาแม่เหล็กไฟฟ้า เป็นเตาที่อาศัยความร้อนจากการเหนี่ยวนำไฟฟ้า ส่งผ่านไปยังภาชนะที่สามารถเหนี่ยวนำไฟฟ้าได้ เช่น เหล็ก หรือสแตนเลส ทำให้ภาชนะนั้น ๆ ร้อนขึ้นจนสามารถประกอบอาหารได้ (เช็คง่าย ๆ ว่าถ้าแม่เหล็กดูดก้นภาชนะติดก็ใช้กับเตาแม่เหล็กไฟฟ้าได้ ดังนั้น หม้ออลูมิเนียม แก้ว หรือเซรามิค ใช้ไม่ได้นะครับ) และเนื่องจากเตาแม่เหล็กไฟฟ้าเร่งความร้อนได้เร็วกว่าเตาแก๊สหรือเตาขดลวดความร้อน จะทำอาหารก็ระวังไหม้กันด้วยนะครับ
ซึ่งในการทำอาหารในแต่ละครั้ง แน่นอนว่าจะต้องเกิดคราบสกปรกติดบนแผ่นกระจกหน้าเตา ซึ่งเราควรรีบใช้ผ้าชุบน้ำผสมน้ำยาล้างจานเล็กน้อยเช็ดออกทันทีที่ใช้งานเสร็จ โดยเฉพาะอาหารที่มีน้ำตาล แยม หรือเยลลี่เป็นส่วนประกอบ หากล้นหกลงมาสัมผัสกับผิวกระจกแล้วทิ้งไว้จนแห้ง ผิวกระจกอาจเป็นรอยเสียหายรุนแรงได้
การทำความสะอาดคราบติดแน่นบนเตาแม่เหล็กไฟฟ้า อาจจะต้องใช้อุปกรณ์และขั้นตอนมากขึ้น แต่เพื่อดูแลรักษาเครื่องครัวที่รัก ไม่น่าจะมีอะไรยากเกินไปสำหรับคุณแม่บ้านนะครับ
- โรย ผงเบกกิ้งโซดา ลงบนหน้าเตาแม่เหล็กไฟฟ้าให้ทั่วบริเวณหน้าเตา
- เตรียม น้ำร้อน ไว้ครึ่งถ้วย ผสม มะนาว น้ำส้มสายชู หรือน้ำยาล้างจาน อย่างใดอย่างหนึ่ง นำ ผ้าขี้ริ้ว (ควรมีขนาดใหญ่กว่าหน้าเตา) ชุบน้ำร้อนที่ผสมไว้ให้ชุ่มแล้วบิดหมาด ๆ เช็ดลงไปบนหน้าเตาที่เราโรยผงเบกกิ้งโซดาเอาไว้ ผ้าเปียกจะส่งผลให้เบกกิ้งโซดาทำงานได้อย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น
- คลุมผ้าทิ้งไว้ประมาณ 10 นาที หรือถ้าหน้าเตามีคราบติดแน่น ก็ให้ทิ้งไว้นานขึ้นประมาณ 30 นาที ซึ่งการปล่อยไว้นาน ๆ แล้วเกิดมีส่วนไหนเริ่มแห้ง ก็ต้องหมั่นเทน้ำลงไปให้ชุ่มอยู่เสมอ เพื่อให้เบกกิ้งโซดาทำปฏิกิริยาได้เต็มที่
- จากนั้น นำ ฟองน้ำชุบน้ำเย็น มาเช็ดหน้าเตาเป็นการเก็บรายละเอียดสิ่งสกปรกที่อาจยังตกค้างอยู่ และใช้ ผ้าไมโครไฟเบอร์ เช็ดหน้าเตาให้แห้ง เพียงเท่านี้เตาแม่เหล็กไฟฟ้าก็จะกลับมาสะอาด เหมือนใหม่ครับ
ข้อควรระวังของการใช้เตาแม่เหล็กไฟฟ้า คือหน้าเตาที่นิยมผลิตจากแก้ว จึงค่อนข้างเปราะบาง ผู้ใช้ควรระมัดระวังเรื่องการถูกกระแทกและรอยขีดข่วน หากพบรอยแตกร้าวที่หน้ากระจกเตา ห้ามเปิดใช้งานโดยเด็ดขาด และไม่ควรวางสิ่งที่มีคุณสมบัติดูดแม่เหล็กอื่น ๆ นอกเหนือจากหม้อหรือกระทะที่ใช้อยู่ไว้ใกล้เตานะครับ
จากใจ
ZmyHome
ฝากกดแชร์เป็นกำลังใจด้วยนะครับ
ผู้เขียน : นิดิง ZmyHome
ภาพประกอบ : Green Energy Futures on Flickr