Ashton Asoke ทุบก็ไม่จบ! ควรร่วมกันหาแนวทางแก้ไขปัญหาอย่างยั่งยืน
หลังจากผลการตัดสินได้ออกมาแล้ว ทำให้มีความเห็นออกมามากมายเกี่ยวกับแนวทางแก้ไขปัญหาต่อไป ทั้งสำหรับตัวผู้ประกอบการ หน่วยงานที่ออกใบอนุญาต และผู้ที่ได้รับผลกระทบ บ้างก็ว่าผิดก็ต้องว่าไปตามผิดอาคารที่สร้างขึ้นมาแล้วต้องถูกทุบทิ้ง บ้างก็ว่าให้หาซื้อที่ดินเพิ่มเพื่อให้มีทางออกให้ถูกต้องตามกฎหมาย บ้างก็เรียกร้องให้เจ้าของโครงการต้องชดเชยให้กับคนซื้อ ส่วนผู้ประกอบการก็ออกหนังสือว่าหน่วยงานรัฐที่ออกใบอนุญาตให้ต้องรับผิดชอบเพราะบริษัทได้ดำเนินการตามกฎหมายแล้ว
ทุกความเห็นที่แสดงออกมาเป็นความเป็นที่ถูกต้องเมื่อ “พิจารณาความจริงแยกส่วนเป็นจุดๆ” แต่คดีนี้มีความจริงอีกมากที่เป็นเหมือนฐานของภูเขาน้ำแข็ง ซึ่งหากเราแก้ปัญหาแบบเด็ดยอดภูเขาทิ้ง ปัญหาแท้จริงที่เป็นฐานภูเขาน้ำแข็งจะยังคงอยู่ และยังอาจมีปัญหาใหม่อื่นๆ งอกออกมาอีกแบบที่เราคาดไม่ถึง ซึ่งทาง ZmyHome เห็นว่า ปัญหาต่างๆ ที่มีอยู่ และอาจจะมีเพิ่มขึ้นกับประเทศ หากในอนาคตจะมีคำสั่งให้ทุบโครงการ แอชตัน อโศก อาจประกอบด้วย
- การกำหนดมาตรฐานในการออกแบบและก่อสร้าง ที่บางเรื่องมีความคลุมเครือและไม่ครอบคลุมทุกประเด็นที่มีอยู่จริง ทำให้ในการขออนุญาตก่อสร้างจริง เจ้าหน้าที่ผู้ปฏิบัติหน้าที่จำเป็นต้องมีการตีความ ซึ่งทำให้มีความเห็นที่หลากหลายแตกต่างกัน และอาจทำให้เกิดการร้องเรียนในอาคารอื่นๆ เพิ่มได้อีก ทั้งกฎหมายคล้ายคลึงกันกับกรณี แอชตัน อโศก หรือกฎหมายข้ออื่นๆ เช่น การตีความความกว้างถนนสาธารณะ การตีความสิทธิการใช้ประโยชน์ดินอื่นๆ นอกเหนือจากสิทธิที่อนุญาตในข้อกำหนดผังเมือง เป็นต้น ( อ่าน “4 ประเด็นกรณีศึกษา คอนโด แอชตัน อโศก” จาก สมาคมสถาปนิกสยามฯ ข้อ 4 ที่กรณีเช่นเดียวกันนี้้ สำนักงานคณะกรรมการกฤษฏีกาได้เคยให้ความเห็นในปัญหาข้อกฎหมายไว้ตามที่คณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์ตามพระราชบัญญัติควบคุมอาคาร พ.ศ.2522 ในการพิจารณาอุทธรณ์ของผู้ประกอบการรายหนึ่งว่าถูกต้องตามกฎกระทรวงกำหนด )
- การวางแผนพัฒนาเมือง ที่ต้องให้เกิดการใช้ที่ดินซึ่งเป็นทรัพยากรที่มีอยู่จำกัดอย่างมีประสิทธิภาพที่สุด และมีสภาพแวดล้อมที่ดี โดยเฉพาะอย่างยิ่งที่ดินที่มีการลงทุนสูงด้านสาธารณูปโภคและสิ่งอำนวยความสะดวกย่อมต้องการการใช้ประโยชน์ให้คุ้มค่า มากกว่าการเปิดหน้าพื้นที่ใหม่ๆ (แทนที่จะเก็บเป็นพื้นที่สีเขียว) และทำให้รัฐต้องพัฒนาสาธารณูปโภคตามออกไป
- แนวทางการใช้ที่ดินแห่งรัฐหรือหน่วยงานราชการ เพื่อให้เกิดประโยชน์สูงสุดต่อประโยชน์สุขแห่งสาธารณะชน และการตีความนิยามการใช้ประโยชน์ที่ดินของหน่วยงานรัฐ
- การลงทุนและพัฒนาเศรษฐกิจ ที่ต้องการความเชื่อมั่น และนักลงทุนต้องได้รับการคุ้มครองเมื่อได้มีการดำเนินการตามกฎหมายแล้ว ซึ่งการตัดสินที่ทำให้มีบทลงโทษย้อนหลังจะสร้างความรู้สึกไม่มั่นคงอย่างมากต่อผู้ที่จะมาลงทุนในอนาคต รวมทั้งจะยิ่งทำให้กระบวนการขออนุญาตก่อสร้างในอนาคตมีความล่าช้ามากขึ้น เพราะทั้งผู้บังคับใช้กฎหมายและผู้ขออนุญาตจะมีความกังวลใจตลอดกระบวนการ หรือแม้กระทั่งภาคธนาคารก็จะเกิดความเสี่ยงใหม่ในการให้สินเชื่อ และทำให้สินทรัพย์ค้ำประกันจำนวนมากมีปัญหา
- ด้านสังคมและการอยู่ร่วมกัน ที่ผู้อยู่อาศัยอยู่รอบโครงการรู้สึกว่าได้รับปัญหาในช่วงระหว่างการก่อสร้าง และไม่ได้รับความใส่ใจอย่างเพียงพอใจการแก้ปัญหา จนนำมาซึ่งการร้องเรียน
- การคุ้มครองผู้บริโภค (ที่ไม่มีความผิดในกรณีนี้) ให้สามารถเข้าอยู่ในคอนโดที่ซื้อมาแล้วได้อย่างปกติสุข และสามารถนำทรัพย์สินที่สร้างเสร็จแล้วนี้ไปใช้ประโยชน์อื่นๆ ต่อได้ ซึ่งต่อให้มีการบังคับให้ผู้ประกอบการต้องเป็นผู้รับผิดชอบ แต่ต้องยอมรับว่าในความเป็นจริงนั้นผู้ประกอบการจะไม่มีเงินสดที่จะคืนเงินให้ผู้ซื้อทั้งหมดได้จริง และต้องเรียกร้องกับภาครัฐ (ดังที่ได้เริ่มกระบวนการแล้ว) ซึ่งก็จะต้องใช้เวลาพิจารณาคดีอีกนาน
ตัวอย่างประเด็นต่างๆ ข้างต้น ทำให้คดีนี้อยู่ในจุดที่ไม่ควรแก้ไขแบบเด็ดยอดภูเขาน้ำแข็ง เนื่องจากจะมีผลอื่นๆ ตามมาอีกมากมายหาก “เรื่องสำคัญบางเรื่องถูกละเลย” โดยเฉพาะอย่างยิ่งที่ปัจจุบันยังมีอาคารอื่นๆ อีกหลายอาคารที่อาจจะ “เช่าที่ดินรัฐเป็นทางเข้าออก” หรือ “ใช้ประโยชน์อยู่บนที่ดินรัฐ” ที่อาจถูกตีความได้ว่าไม่ตรงกับวัตถุประสงค์ที่กำหนดไว้ หรือ “ก่อสร้างไม่ตรงตามข้อกำหนดของกฎหมายเมื่อถูกตีความใหม่” (สำหรับข้อกฎหมายที่มีความคลุมเครือ)
ในเบื้องต้นนี้ ความเห็นหนึ่งในการแก้ไขปัญหาที่น่าสนใจ มาจากเฟสบุ๊ค วีรพัฒน์ ปริยวงศ์ (ทนายอิสระ) ซึ่งได้ตั้งข้อสังเกตว่า “ในที่ประชุมใหญ่มี ตุลาการเสียงข้างน้อย 19 ท่านที่เห็นแย้ง โดยเล็งเห็นถึงความสุจริตของประชาชนผู้ซื้อและเป็นเจ้าของห้องชุดคอนโดในโครงการ ตุลาการเสียงข้างน้อยจึงเห็นสมควรกำหนดเงื่อนไขผลคำพิพากษาให้มีเวลา 270 วันสำหรับฝ่ายราชการที่ดำเนินการผิดพลาดไปดำเนินการขออนุญาต คณะรัฐมนตรีใหม่เพื่อดำเนินการให้ถูกต้อง และมีตุลาการเสียงข้างน้อยอีก 1 ท่าน เห็นว่าการดำเนินการได้ทำโดยถูกต้องแล้ว”
ซึ่งนายวีรพัฒน์ ได้ตั้งคำถามต่อไปว่า “เหตุใดศาลปกครองเสียงข้างมาก จึงไม่ใช้วิธีการตามแนวทางของเสียงข้างน้อย 19 เสียง เพื่อนำไปสู่การแก้ไขปัญหาและไม่ต้องเกิดคำถามหรือความวิตกกังวลเรื่องการทุบทำลายโครงการที่จะส่งผลกระทบตามมาต่อประชาชนผู้ที่สุจริต หรือต้องเกิดการฟ้องร้องเรียกค่าเสียหายอันเป็นภาระต่อประชาชนตามมา”
และในเฟสบุ๊ค นายวีรพัฒน์ ยังได้อ้างอิงถึง มาตรา 58 ของรัฐธรรมนูญปี 2560 ที่ว่า “การดำเนินการใดของรัฐหรือที่รัฐจะอนุญาตให้ผู้ใดดำเนินการ ถ้าการนั้นอาจมีผลกระทบต่อทรัพยากรธรรมชาติ คุณภาพสิ่งแวดล้อม สุขภาพ อนามัย คุณภาพชีวิต หรือส่วนได้เสียสำคัญอื่นใดของประชาชนหรือชุมชนหรือสิ่งแวดล้อมอย่างรุนแรง รัฐต้องดำเนินการให้มีการศึกษาและประเมินผลกระทบต่อคุณภาพสิ่งแวดล้อมและสุขภาพของประชาชนหรือชุมชน และจัดให้มีการรับฟังความคิดเห็นของผู้มีส่วนได้เสียและประชาชนและชุมชนที่เกี่ยวข้องก่อน เพื่อนำมาประกอบการพิจารณาดำเนินการหรืออนุญาตตามที่กฎหมายบัญญัติ” ( อ่านความเห็นของนายวีรพัฒน์ ปริยวงศ์ เพิ่มเติมที่ http://surl.li/joypl )