บัวเชิงผนัง สำคัญนะ รู้มั๊ย
บัวเชิงผนัง คือองค์ประกอบตกแต่งเสริมที่ฐานผนัง สำหรับบ้านพักอาศัยปกติในยุคนี้ มักมีบัวเชิงผนังที่เรียบง่าย แตกต่างจากยุคก่อนๆที่มักทำลวดลายซับซ้อน อลังการ สมเป็นการตกแต่งอย่างแท้จริง บัวเชิงผนังก็เป็นไปในแนวโน้มของสไตล์การออกแบบที่เน้นความเรียบง่ายมากขึ้นเรื่อยๆ เรียบง่ายเสียจนบางครั้งแทบจะยกเลิกบัวเชิงผนังกันไปเลย เพราะผนังเรียบๆดูเก๋กว่ากันเยอะ หากเรามองเข้าไปในห้องๆหนึ่ง บัวเชิงผนังอาจดูเหมือนเป็นแค่ส่วนตกแต่งห้องให้มีขอบระหว่างผนังกับพื้นที่เรียบร้อยสวยงามเท่านั้น
แต่ที่จริง บัวเชิงผนังก็มีภารกิจของตัวมันเองอยู่ด้วยเหมือนกัน ป้องกันผนังสกปรก บัวเชิงผนังมีหน้าที่ป้องกันผนังสกปรก โดยเฉพาะเมื่อทำความสะอาดห้อง การกวาดและเช็ดถูห้อง ต้องมีการปัดกวาดเช็ดถูไปโดนรอยต่อระหว่างพื้นและผนัง ซึ่งมักเป็นซอกหลืบเก็บสิ่งสกปรก ไม้ถูพื้นซึ่งถูไปรอบๆห้อง สะสมความสกปรกไว้กับตัว ถ้าปาดโดยผนังก็ย่อมทำให้เกิดรอยคราบสกปรกฝังไว้ที่ผนัง นานวันเข้าก็จะเป็นคราบฝังลึก ดำเป็นปื้นๆอยู่ที่ฐานผนัง บัวเชิงผนังสามารถป้องกันรอยสกปรกนี้ได้ ซึ่งมักทำจากวัสดุที่เช็ดล้างทำความสะอาดได้ง่าย อย่างน้อยก็ต้องง่ายกว่าตัวผนัง และอาจมีสีสันที่สังเกตเห็นคราบสกปรกได้ยากกว่า เช่นผนังขาวจะติดบัวสีขาวก็ได้ แต่เป็นบัวที่ทำจาก PVC หรือ ไม้ทำสีพ่น ซึ่งเช็ดถูง่าย หรือจะทำจากไม้สนสีธรรมชาติ ซึ่งถ้าเปื้อนเล็กน้อย ก็ไม่สังเกตเห็น ปิดรอยต่อพื้น-ผนัง
นอกจากนั้นแล้ว บัวเชิงผนังยังมีหน้าที่ซ่อนรอยต่อระหว่างพื้นกับผนังได้อีก เพราะวัสดุปูพื้นหลายๆชนิดจะไม่สามารถปูแนบสนิทกับผนังได้เต็มที่ เช่นพื้นไม้ปาเก้ ไม่สามารถปูชิดติดผนังได้ จำเป็นต้องเว้นร่องไว้เล็กน้อย เนื่องจากไม้มีการขยายตัวเมื่อมีความชื้นหรืออุณหภูมิสูงขึ้น หากปูชิดผนัง เมื่อไม้ขยายตัว อาจเกิดการบิดโก่งตัวขึ้นได้ เพราะทางซ้ายขวาไม่มีทิศทางไหนให้ขยายไป จึงขยายโก่งขึ้นด้านบนแทน ช่างที่ชำนาญและรู้ธรรมชาติของไม้จึงปูพื้นไม้ปาเก้ให้เว้นห่างจากผนังเล็กน้อย โดยเฉพาะถ้าทำงานในช่วงฤดูที่มีความชื้นต่ำ เพื่อวันที่ไม้ปาเก้ขยายตัวมีช่องว่างให้ขยับขยาย บัวเชิงผนังเชิงผนังจึงมีหน้าที่ปิดร่องเหล่านี้ ติดบัวเชิงแบบไหน ไม่ติดได้หรือไม่ ตัดสินใจอย่างไรดี
ปัญหาจุกจิกจากการใช้บัวเชิงผนังก็มีอยู่บ้าง เช่น ตู้เตียงต่างๆที่เราต้องการวางชิดผนังห้อง จะวางชิดติดเลยไม่ได้ เพราะมีความหนาของบัวเชิงผนังขวางอยู่ ทำให้เกิดร่องหลังตู้เตียง บัวเชิงผนังที่ตอบสนองพื้นที่อันมีคุณค่าของเราจึงมักเป็นบัวผนังที่บางซักหน่อย ไม่หนาอลังการเหมือนยุคเก่าๆซึ่งมีพื้นที่เหลือเฟือ และเมื่อรู้หน้าที่ที่แท้จริงของบัวเชิงผนังแล้ว ก็สามารถตัดสินใจที่จะติดหรือไม่ติดบัวเชิงผนังในบางผนังได้ง่ายขึ้น เช่นกรณีที่ผนังนั้นเปื้อนยาก เช็ดทำความสะอาดง่าย และไม่มีร่องระหว่างพื้นกับผนัง เช่นผนังปูนเปลือยขัดมันกับพื้นกระเบื้อง เราก็อาจจะไม่ต้องมีบัวเชิงผนังให้รกรุงรังได้ ส่วนผนังที่สกปรกง่ายก็ให้บัวเชิงผนังติดเข้าไป ถ้าไม่อยากให้เป็นที่สังเกตได้ง่าย ก็อาจใช้บัวเชิงผนังที่มีสีเดียวกับผนังก็พอช่วยได้เช่นกัน
จากใจ
ZmyHome
กดแชร์เป็นกำลังใจให้ทีมงานด้วยครับ