• 18 พ.ค. 2559

มะม่วงเพื่อนบ้านตกในบ้านเรา กินได้หรือไม่?

โดย หมอความข้างบ้าน ZmyHome

ช่วงนี้อากาศร้อนมาก เรามาพักเรื่องเครียดๆ จากคำพิพากษาฎีกาเมื่อ 2 ตอนก่อนกันสักหน่อย มาฟังข้อกฎหมายเล็กๆน้อยๆ รอบตัวเรากันดีกว่า ท่านที่มีรั้วบ้านติดกับเพื่อนบ้าน หลายๆบ้านจะนิยมปลูกต้นไม้ไว้ริมรั้วกัน แต่ต้นไม้ริมรั้วนี่แหละ มักมีประเด็นทำให้เพื่อนบ้านทะเลาะกันมาหลายบ้านแล้ว

สมมติว่านายบุญปลูก มีบ้านติดกับนายบุญทิ้ง นายบุญปลูกปลูกต้นมะม่วงไว้ต้นหนึ่งบริเวณริมรั้วบ้าน ต้นมะม่วงโตวันโตคืนจนมีกิ่งก้านแผ่ข้ามรั้วออกไปยังบริเวณบ้านของนายบุญทิ้ง นายบุญทิ้งก็ใจดีไม่ว่ากล่าวตักเตือนเพราะอาศัยว่ากิ่งมะม่วงดังกล่าวก็ให้ร่มเงามาในบ้านของตนด้วย และบ้านนายบุญทิ้งก็ปลูกต้นมะม่วงพันธุ์เดียวกันในรั้วบ้านของนายบุญทิ้งเช่นกันแต่ไม่ได้มีกิ่งยื่นเข้าไปในบ้านของนายบุญปลูก ทีนี้พอถึงหน้ามะม่วง ต้นมะม่วงของทั้งสองคนออกลูกเต็มต้น แล้วร่วงหล่นในบริเวณบ้านนายบุญทิ้งเต็มไปหมด ไม่มีหล่นในบ้านนายบุญปลูกเลย นายบุญทิ้งเลยเก็บมะม่วงไปกินได้หลายตะกร้า นายบุญปลูกมาเห็นนายบุญทิ้งเก็บมะม่วงของตนที่หล่นในบ้านนายบุญทิ้งไปกิน เลยไปแจ้งตำรวจมาจับนายบุญทิ้งข้อหาลักทรัพย์

ท่านคิดว่าคดีนี้ตำรวจจะว่ายังไงครับ? ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา 1348 ที่บัญญัติว่า “ดอกผลแห่งต้นไม้ที่หล่นตามธรรมดาลงในที่ดินติดต่อแปลงใดท่านให้สันนิษฐานไว้ก่อนว่าเป็นดอกผลของที่ดินแปลงนั้น” เพราะฉะนั้น กรณีนี้นายบุญทิ้งย่อมไม่ผิดฐานลักทรัพย์ เพราะมะม่วงที่ร่วงหล่นลงมานั้นยากจะพิสูจน์ได้ว่าเป็นมะม่วงที่ร่วงมาจากต้นของนายบุญปลูกหรือนายบุญทิ้ง กฎหมายจึงให้สันนิษฐานว่ามะม่วงนั้นเป็นกรรมสิทธิ์ของนายบุญทิ้ง นายบุญทิ้งจึงไม่มีความผิดฐานลักทรัพย์ (มาตรา 1348 เกิดขึ้นเมื่อมีต้นไม้ซึ่งมีดอกผลชนิดเดียวกันอยู่ใกล้แนวเขตที่ดินทั้งสองข้าง ถ้าเป็นดอกผลต้นไม้คนละชนิด ก็ไม่อยู่ในบังคับมาตรานี้)

แต่หากข้อเท็จจริงเปลี่ยนไปเป็นว่ามะม่วงยังไม่ร่วงหล่นลงมา แต่นายบุญทิ้งเห็นว่ามะม่วงของนายบุญปลูกออกลูกเต็มต้นแล้วยื่นเข้ามาในเขตรั้วบ้านของตนจึงเกิดอยากจะกินมะม่วงขึ้นมา และเคยได้ยินมาว่าแดนแห่งกรรมสิทธิ์ในที่ดินนั้นกินทั้งเหนือพื้นดินและใต้พื้นดินด้วย ดังนั้นกิ่งมะม่วงที่ล้ำเข้ามาในบ้านตน ก็น่าจะต้องเป็นกรรมสิทธิ์ของตน เลยไปสอยมะม่วงจากต้นของนายบุญปลูกได้มาเป็นตะกร้าเช่นนี้ ตามหลักกฎหมายนั้นถือว่าต้นมะม่วงที่ยื่นเข้ามาในบ้านนายบุญทิ้งเป็นกรรมสิทธิ์ของนายบุญปลูก เพราะนายบุญปลูกเป็นคนปลูกขึ้นมาในบ้านของตน ดอกผลของต้นมะม่วงนั้นก็ย่อมเป็นของนายบุญปลูก นายบุญปลูกย่อมมีสิทธิติดตามเอาคืน ตามมาตรา 1336 “ภายในบังคับแห่งกฎหมาย เจ้าของทรัพย์สินมีสิทธิใช้สอย และจำหน่ายทรัพย์สินของตนและได้ซึ่งดอกผลแห่งทรัพย์สินนั้น กับทั้งมีสิทธิติดตามและเอาคืนซึ่งทรัพย์สินของตนจากบุคคลผู้ไม่มีสิทธิจะยึดถือไว้ และมีสิทธิขัดขวางมิให้ผู้อื่นสอดเข้าเกี่ยวข้องกับทรัพย์สินนั้นโดยมิชอบด้วยกฎหมาย”

กรณีนี้นายบุญปลูกสามารถแจ้งตำรวจให้ดำเนินคดีกับนายบุญทิ้งข้อหาลักทรัพย์ได้ คราวหน้าจะมาพูดถึงกรณีที่หากไม่ใช่ต้นมะม่วง แต่เป็นต้นไม้ที่มีทั้งกิ่ง ใบ และยางร่วงเต็มพื้นไปหมดยื่นเข้ามาในบ้านเราล่ะ เราจะตัดทิ้งได้ไหม

จากใจ
ZmyHome
กดแชร์เป็นกำลังใจให้ทีมงานด้วยครับ
บทความอื่นๆ
  • ค้นหาบ้านคอนโด

    ต้องการซื้อ หรือเช่า บ้าน คอนโด ตรวจ สอบราคา เช็คค่าเช่า ติดต่อตรงกับเจ้า ของตัวจริง ทุกทำเล ทั่วประเทศ

    ค้นหา
  • ลงประกาศ

    ต้องการขาย หรือปล่อยเช่า บ้าน คอนโด เพียงคุณเป็นเจ้าของตัวจริง และพร้อมที่จะลงประกาศอย่างมีคุณภาพ เพื่อให้ผู้ซื้อศึกษา อย่างสะดวกที่สุด ก็ลงประกาศ ได้เลย

    ลงประกาศ