• 12 ก.พ. 2561

เครื่องทำน้ำร้อน เครื่องทำน้ำอุ่น คล้ายกันแต่แตกต่าง

          นอกจากการยกกาต้มน้ำเดือดใบใหญ่มาเติมใส่ถังแล้ว เราสามารถทำน้ำอุ่นได้อีกสองวิธี คือใช้เครื่องทำน้ำอุ่น หรือใช้เครื่องทำน้ำร้อน เรานึกถึงเครื่องทำน้ำอุ่นได้ไม่ยาก มันมักติดตั้งอยู่เหนือฝักบัว พอเราเปิดก๊อกน้ำ น้ำประปาไหลเข้าเครื่อง ผ่านกลไกสร้างความร้อนพอสมควร แล้วไหลออกมาเป็นน้ำอุ่นให้เราอาบ ข้อดีของเครื่องทำน้ำอุ่นคือมันเข้าใจง่าย จะปรับอุ่นมากน้อยขนาดไหนก็หมุนบิดได้แค่เอื้อมแล้วรอสักพัก แต่หากเครื่องที่เลือกใช้กำลังวัตต์ไม่มากพออาจเกิดปัญหาน้ำไม่ค่อยอุ่น หรือเดี๋ยวอุ่นเดี๋ยวเย็น ทางแก้เฉพาะหน้าคือเปิดน้ำเบาลง ให้มันทำน้ำอุ่นได้ทันท่วงที สม่ำเสมอ น้ำแรงน้อยลงอาจอาบไม่สะใจ แต่ถ้าบ้านใครแรงดันน้ำดี + ใช้เครื่องทำน้ำอุ่นที่วัตต์สูงๆ ก็จะไม่มีปัญหา แต่หากเป็นฝักบัวประเภท Rain Shower ใหญ่โตซาบซ่าที่ต้องการปริมาณน้ำมากกว่าปกติ ก็มีแนวโน้มที่เครื่องจะผลิตน้ำอุ่นให้ไม่ทัน

          เครื่องทำน้ำร้อนตอบโจทย์กรณีนี้ เนื่องจากเครื่องทำน้ำร้อนจะทำน้ำร้อนส่งผ่านท่อน้ำร้อน (ปกติเป็นท่อทองแดง ไม่ใช่ท่อพีวีซีสีฟ้า) แล้วมาผสมกับน้ำจากท่อน้ำเย็นที่ปลายทาง น้ำที่ผสมจากสองท่อย่อมมีแรงดันและปริมาณน้ำดีกว่าท่อเดียว ส่วนอุณหภูมิน้ำที่เครื่องทำน้ำร้อนปล่อยออกมาจากต้นทางจะร้อนกว่าเครื่องทำน้ำอุ่นมาก เพราะเป้าหมายคือต้องมาผสมกับน้ำเย็นอีกที เพราะฉะนั้นบ้านไหนมีเครื่องทำน้ำร้อนพร้อมกับเด็กให้ระวังเด็กเผลอเปิดแต่ท่อน้ำร้อนแรงเกิน เพราะมันลวกผิวสุกได้

          ดูเหมือนทั้งคู่จะทำน้ำอุ่นได้เหมือนกัน แต่ระบบเครื่องทำน้ำร้อนมีหม้อต้มอยู่ก่อนก๊อก ขณะที่เครื่องทำน้ำอุ่นมีก๊อกอยู่ก่อนเครื่อง ทำให้เครื่องทำน้ำร้อนเครื่องเดียว ส่งน้ำร้อนออกไปผสมได้หลายจุด เช่นในห้องน้ำห้องหนึ่งอยากให้ยืนอาบ นอนอาบและล้างหน้าด้วยน้ำอุ่น ก็สามารถทำได้โดยใช้เครื่องทำน้ำร้อนเพียงเครื่องเดียว ขอเพียงมีท่อน้ำร้อนเดินไปตามจุดต่าง ๆ และต้องใช้ก๊อกผสมที่ปลายทาง

          ก๊อกผสมคือก๊อกที่รับน้ำจากสองท่อได้ (ท่อน้ำเย็น+ท่อน้ำร้อน) ปริมาณน้ำขึ้นกับทิศทางการบิด อยากได้น้ำอุ่นขนาดไหน ก็บิดสร้างสมดุลกันหน้าก๊อกนี่แหละ บางดีไซน์ก็ทำมาเป็นหัวก๊อกสองอันเลยก็มี มีราคาแพงกว่าก๊อกน้ำเย็นในรูปแบบเดียวกัน เนื่องจากเครื่องทำน้ำร้อนต้องการท่อน้ำร้อนและก๊อกผสม การเปลี่ยนห้องน้ำที่ไม่ได้เตรียมท่อน้ำร้อนและก๊อกผสมไว้จึงต้องรื้อระบบท่อเดิมออกแล้วเดินใหม่ซึ่งยุ่งยาก

          การตัดสินใจใช้เครื่องทำน้ำร้อนจึงควรทำกันตั้งแต่เริ่มก่อสร้าง บ้านทั่วไปที่ใช้ท่อน้ำประปาต่อเข้าฝักบัวท่อเดียว จึงตัดสินใจไปใช้เครื่องทำน้ำอุ่นได้เลยไม่ต้องคิดมาก ส่วนบ้านที่ใช้ระบบเครื่องทำน้ำร้อนอยู่เดิม มีข้อควรระวังว่าห้ามเปลี่ยนเครื่องทำน้ำร้อนเป็นเครื่องทำน้ำอุ่นโดยตรง มิเช่นนั้นเครื่องทำน้ำอุ่นจะทำงานตลอดเวลาจนไหม้ในที่สุด เพราะเครื่องน้ำอุ่นจะทำงานตลอดเวลาที่มีน้ำอยู่ในเครื่อง (ปกติเมื่อเราปิดก๊อกฝักบัว น้ำไม่เข้าเครื่องทำน้ำอุ่น เครื่องก็จะหยุดทำงาน) แต่เครื่องทำน้ำร้อนซึ่งจะมีน้ำอยู่ในนั้นตลอดเวลา โดยหลักการจะทำงานตามอุณหภูมิของน้ำ เมื่อน้ำในเครื่องมีอุณหภูมิถึงตามที่ต้องการ เครื่องก็หยุดทำความร้อนเอง (จนกว่าเราเปิดใช้งานน้ำร้อน และน้ำเย็นเข้ามาแทนที่ เครื่องทำน้ำร้อนค่อยทำงานอีกครั้ง)


          หากบ้านยังไม่สร้างแล้วกำลังตัดสินใจ ก็ขอบอกก่อนว่าเครื่องทำน้ำร้อนแพงกว่าเครื่องทำน้ำอุ่นเกือบเท่าตัว กินไฟเยอะกว่า ต้องเดินระบบซับซ้อนกว่า และต้องการแรงดันน้ำค่อนข้างสูง แต่การติดตั้งเครื่องเดียวทำให้ใช้น้ำอุ่นได้หลายจุด ปริมาณน้ำอุ่นสุดท้ายที่ออกมาจะมากกว่า ปรับได้ตามต้องการทันทีที่ก๊อก รวมถึงได้น้ำร้อนที่แท้ทรู (เช่นกรณีอยากแช่น้ำร้อนออนเซ็นในบ้าน เครื่องทำน้ำอุ่นทำน้ำร้อนขนาดนั้นไม่ได้) ฉะนั้นหากบ้านสร้างเสร็จเรียบร้อยแล้ว การตัดสินใจจะใช้เครื่องทำน้ำร้อนหรือน้ำอุ่นแทบไม่ใช่การตัดสินใจของเรา หากแต่ต้องตัดสินใจตามระบบเดิมที่มีอยู่ เรียกสั้น ๆ ว่าเป็นไฟต์บังคับครับ


Written by : นิธิพันธ์ วิประวิทย์

จากใจ
ZmyHome
ฝากกดแชร์เป็นกำลังใจด้วยนะครับ
  • ค้นหาบ้านคอนโด

    ต้องการซื้อ หรือเช่า บ้าน คอนโด ตรวจ สอบราคา เช็คค่าเช่า ติดต่อตรงกับเจ้า ของตัวจริง ทุกทำเล ทั่วประเทศ

    ค้นหา
  • ลงประกาศ

    ต้องการขาย หรือปล่อยเช่า บ้าน คอนโด เพียงคุณเป็นเจ้าของตัวจริง และพร้อมที่จะลงประกาศอย่างมีคุณภาพ เพื่อให้ผู้ซื้อศึกษา อย่างสะดวกที่สุด ก็ลงประกาศ ได้เลย

    ลงประกาศ