• 5 เม.ย. 2561

ร้อยแปดวิธีกันเสียงไม่พึงประสงค์

หากใครซื้อทาวน์เฮ้าส์ คอนโดมิเนียม อยู่ไปสักพักก็จะเข้าใจถึงอานุภาพของเสียงได้เป็นอย่างดี ยิ่งโครงการไหนผนังบาง ใช้วัสดุพอดีมาตรฐานเป๊ะ ร้อยทั้งร้อยต้องได้ยินเสียงเพลง เสียงพูด เสียงตำน้ำพริก ไปจนถึงเสียงกิจกรรมเอ๊กซ์คลูซีฟ 18+ ของเพื่อนบ้านใกล้เคียง จนกลายเป็นทั้งความรำคาญปนกังวลว่า เสียงจากห้องเราจะเล็ดรอดไปยังเพื่อนบ้านใกล้เคียงไหมนะ วันดีคืนดีจะมีกระดาษแผ่นน้อยมาสอดใต้ประตูเขียนขอความร่วมมืองดใช้เสียงให้เป็นที่อับอาย หรือนิติบุคคลของคอนโดอาจเชิญคุยส่วนตัวเรื่องเสียงที่ดังเกินลิมิตไปนิด ครั้นจะลองให้คนในบ้านพูดเสียงดังๆ แล้ววิ่งไปฟังหน้าบ้านก็กระไรอยู่ หรือจะขอเข้าไปฟังเสียงลอดถึงข้างห้องก็ดูจะลงทุนเกินไป ครั้นจะถามใครก็ไม่กล้า

ไหนๆ ก็ไหนแล้วลองใช้คติที่ว่า “กันไว้ดีกว่าแก้” น่าจะเหมาะสมที่สุด หากอยู่บ้านที่พอมีบริเวณรั้วต้นไม้ หรือต้นไม้ใหญ่ จะช่วยกรองเสียงไม่พึงประสงค์ทั้งจากข้างในและข้างนอกได้เป็นอย่างดี เรียกว่า ไฟในไม่นำออก ไฟนอกไม่นำเข้า แต่เมื่ออยู่ทาวน์เฮ้าส์หรือคอนโดที่พื้นที่น้อยนิด อย่าว่าแต่ไม้ดอกไม้ประดับ ผักสวนครัวสักต้นยังหากที่ปลูกยาก จึงต้องหาสารพัดวิธีมากันเสียงไม่พึงประสงค์เหล่านี้ออกไป

จริงๆ แล้วในสมัยนี้นิยมปูฝ้าเพดานก็ช่วยลดเสียงได้ดียิ่งขึ้นอยู่แล้ว หากเป็นคอนโดมิเนียมหรืออาคารที่ใช้งานทั้งชั้นบนชั้นล่าง ก็มีอีกหนึ่งวิธีในการลดเสียงก็คือ พรม ที่จะช่วยกันเสียงทั้งการเดินในห้อง เสียงเลื่อนโต๊ะ เลื่อนเก้าอี้ เสียงเปิดปิดตู้จากในห้องไม่ให้รบกวนถึงชั้นล่างได้

นอกจากพรมแล้ว กระจกและผ้าม่าน ยังช่วยในการกันเสียงจากภายนอกมารบกวนในห้องได้อีกด้วย ผ้าม่านที่เลือกใช้ต้องเลือกผ้าม้านที่ค่อนข้างหนา และมีคลื่นพับ เพราะวัสดุผิวไม่เรียบจะช่วยลดเสียงได้ดีกว่า

นอกจากนี้ยังมีวิธีอื่นๆ ที่สามารถเป็นตัวช่วยให้กับคุณได้ วิธีง่ายๆ คูลๆ แบบแรกก็คือ วางโต๊ะ ตั้งตู้ ไว้กันเสียงวางโต๊ะ ตั้งตู้ ไว้กันเสียง แล้วจัดชั้นหนังสือเล่มหนาๆ เพื่อซับเสียง วิธีนี้เหมาะสำหรับห้องที่ทั้งเก็บและกันเสียงได้ดีอยู่แล้ว ผนังห้องมีความหนา ได้ยินเสียงลอดบ้างแต่ไม่มากนัก

วิธีที่สอง อุปกรณ์หาง่ายใกล้ตัว บางคนใช้ ลังไข่ หรือลังกระดาษ ในการบุ แต่วิธีนี้กันเสียงได้น้อย ใช้ได้เฉพาะคลื่นความถี่สูง หรือจะใช้เป็น โฟมแผ่น หนาสัก 20 เซนติเมตรขึ้นไป ก็ช่วยกันเสียงได้ดีขึ้น


วิธีที่สาม เป็นวิธีที่ลงทุนสูงแต่ได้ผลดี คือ ใช้ฉนวนกันเสียง ซึ่งแผ่นฉนวนทำจากเส้นใยชนิดต่างๆ โดยใช้วัสดุหลักเหมือนกับแผ่นซับเสียง เช่น ใยแก้ว ใยหิน ฟองน้ำ หรือ โฟม เป็นแผ่นสำเร็จรูปอาจหุ้มผ้าหรือปิดผิวด้วยวิธีการอื่นๆ แตกต่างจากแผ่นซับเสียงด้วยส่วนผสม ความหนาแน่น วัสดุหุ้ม และรูปแบบแผ่น โดยใช้ใส่ในโครงผนังเบาเพื่อกันเสียงได้ดียิ่งขึ้น ขั้นตอนนี้หากให้ช่างติดตั้งเพิ่มตั้งแต่ในขั้นตอนก่อสร้าง หรือตกแต่ง จะช่วยประหยัดเวลาได้มาก และอาจเสียค่าใช้จ่ายที่น้อยลง

นอกจากนี้ ขาโต๊ะ ขาตู้ ขาเตียงต้องหาแผ่นรองไว้สวม เพราะนอกจากจะช่วยไม่ให้เฟอร์นิเจอร์ทำพื้นผิวหรือพรมเป็นรอยแล้ว ยังช่วยลดเสียงยามเคลื่อนย้ายได้อีกด้วย

อีกหนึ่งทริคส่งท้ายคือ นอกจากจะไม่วางเตียงไว้ชนกับผนังแล้ว ต้องเลือกเตียงที่มีมาตรฐาน ทั้งฐานและขามั่นคงแข็งแรง รองรับแรงสั่นสะเทือนได้ในระดับแผ่นดินไหว 3-4 แมกนิจูดก็ไม่สะเทือน เรียกว่านอกจากป้องกันเสียงได้แล้ว ยังป้องกันปัญหาขาเตียงหักได้อีกด้วย

แต่ใครแรงดีไม่มีตก กลั๊วกลัวเสียงเอี๊ยดอ๊าดยามพลิกตัวจะดังลอด ก็ต้องขอแนะนำว่า ใช้ฟูกนอนแบบญี่ปุ่นก็หมดปัญหาเรื่องเสียงจากเตียงได้เช่นกัน ใครสะดวกแบบไหนก็ลองเอาไปพิจารณาล่ะกันนะคะ หรือใครมีวิธีดีๆ ก็อย่าลืมแชร์ให้เพื่อนรู้ด้วยนะ

จากใจ ZmyHome ฝากกดแชร์เป็นกำลังใจให้ด้วยครับ
  • ค้นหาบ้านคอนโด

    ต้องการซื้อ หรือเช่า บ้าน คอนโด ตรวจ สอบราคา เช็คค่าเช่า ติดต่อตรงกับเจ้า ของตัวจริง ทุกทำเล ทั่วประเทศ

    ค้นหา
  • ลงประกาศ

    ต้องการขาย หรือปล่อยเช่า บ้าน คอนโด เพียงคุณเป็นเจ้าของตัวจริง และพร้อมที่จะลงประกาศอย่างมีคุณภาพ เพื่อให้ผู้ซื้อศึกษา อย่างสะดวกที่สุด ก็ลงประกาศ ได้เลย

    ลงประกาศ