• 2 พ.ค. 2561

ลูกตั้ง ลูกนอนบันได ขนาดเท่าไหร่จึงจะถูกกฎหมาย?

หลายคนที่กำลังมองหาบ้านที่มีความสูงมากกว่า 2 ชั้นเพื่ออยู่อาศัยนั้น สิ่งปลูกสร้างที่จำเป็นต้องมีอยู่ในอาคารก็คงจะหนีไม่พ้นบันไดที่ไว้ใช้งานในที่พักอาศัย เพราะการเดินทางในพื้นที่ต่างระดับจำเป็นต้องมี แต่คุณจะรู้ไหมว่าแท้ที่จริงแล้ว “บันได” ในที่พักอาศัยก็มีกฎหมายเข้ามาครอบคลุมเช่นกัน ไม่ว่าจะเป็นขนาดความกว้างและความสูงของบันได หรือที่เรียกว่าลูกนอนและลูกตั้งบันได นั่นก็เพื่อความปลอดภัยของผู้ใช้งาน

ซึ่งกฎหมายดังกล่าวสำหรับเรื่องบันไดของอาคาร มีกำหนดไว้ในกฎกระทรวงฉบับที่ 55 (พ.ศ. 2543) ข้อ 23 โดยระบุว่า

บันไดของอาคารอยู่อาศัยถ้ามี ต้องมีอย่างน้อยหนึ่งบันไดที่มีความกว้างสุทธิไม่น้อยกว่า 80 เซนติเมตร ช่วงหนึ่งสูงไม่เกิน 3 เมตร ลูกตั้งสูงไม่เกิน 20 เซนติเมตร ลูกนอนเมื่อหักส่วนที่ขั้นบันไดเหลื่อมกันออกแล้วเหลือความกว้างไม่น้อยกว่า 22 เซนติเมตร และต้องมีพื้นหน้าบันไดมีความกว้างและยาวไม่น้อยกว่าความกว้างของบันได

บันไดที่สูงเกิน 3 เมตร ต้องมีชานพักบันไดทุกช่วง 3 เมตร หรือน้อยกว่านั้น และชานพักบันไดต้องมีความกว้างและยาวไม่น้อยกว่าความกว้างของบันได ระยะดิ่งจากขั้นบันไดหรือชานพักบันไดถึงส่วนต่ำสุดของอาคารที่อยู่เหนือขึ้นไปต้องสูงไม่น้อยกว่า 1.90 เมตร


ทั้งนี้ ข้อกฎหมายในข้อ 23 ของกฎกระทรวงฉบับที่ 55 (พ.ศ. 2543) กำหนดนี้ให้ใช้สำหรับบันไดสำหรับบ้าน โดยสามารถจำแนกให้เข้าใจได้ง่าย ๆ ก็คือ

บันไดบ้าน ถ้ามี ต้องมีอย่างน้อยหนึ่งบันได
บันไดที่ต้องมีอย่างน้อยหนึ่งบันไดนั้นต้องมีระยะเป็นไปตามที่กฎหมายกำหนดด้วย หากระยะต่าง ๆ ไม่เป็นไปตามกฎหมาย ถ้าอยู่ระหว่างยื่นขออนุญาตก่อสร้างก็จะไม่ได้รับอนุญาตจนกว่าจะแก้ไขแบบให้ถูกต้อง

บันไดบ้านต้องกว้างสุทธิไม่น้อยกว่า 80 เซนติเมตร
“ความกว้างสุทธิ” หมายความว่า ความกว้างจากจุดหนึ่งไปยังอีกจุดหนึ่งโดยปราศจากสิ่งใด ๆ กีดขวาง สอดคล้องกับข้อบัญญัติกรุงเทพมหานคร เรื่องการควบคุมอาคาร พ.ศ. 2544 ข้อ 38 ที่กำหนดให้บันไดมีความกว้างไม่น้อยกว่า 90 เซนติเมตร ซึ่งใช้คำว่า “ความกว้าง” ซึ่งหมายถึง ระยะที่วัดตามความยาวของลูกนอนบันได

ลูกตั้งบันไดต้องสูงไม่เกิน 20 เซนติเมตร และลูกนอนบันไดต้องกว้างไม่น้อยกว่า 22 เซนติเมตร
“ลูกตั้งบันได” คือความสูงของขั้นบันได ส่วนความกว้างของขั้นบันไดที่เท้าเหยียบ เรียกว่า “ลูกนอนบันได” โดยที่กฎหมายกำหนดไว้เพื่อไม่ให้บันไดสูงหรือแคบจนอาจทำให้เกิดความไม่ปลอดภัย

พื้นหน้าบันได และชานพักบันได ต้องมีความกว้างและยาวไม่น้อยกว่าความกว้างบันได
พื้นหน้าบันได หมายถึง บริเวณพื้นก่อนเดินขึ้น-ลงบันไดขั้นแรก รวมถึงบริเวณพื้นหลังของบันไดขั้นสุดท้าย ส่วนชานพักบันได คือ พื้นที่ที่อยู่คั่นอยู่ระหว่างช่วงบันได ซึ่งถูกกำหนดให้มีความกว้างและยาวอย่างน้อยเท่ากับความกว้างบันได

บันไดที่สูงเกิน 3 เมตร ต้องมีชานพัก
ช่วงบันไดที่มีความสูงระหว่างชั้นของบ้านมากกว่า 3 เมตร กฎหมายจะกำหนดให้บันไดที่ขึ้นลงระหว่างชั้นนั้นทำเป็นขั้นต่อเนื่องได้สูงสุดไม่เกิน 3 เมตร โดยจะต้องมีชานพัก

ระยะดิ่งจากขั้นหรือชานพักถึงส่วนต่ำสุดต้องสูงไม่น้อยกว่า 1.90 เมตร
ระยะความสูงเหนือขั้นบันไดทุกขั้นหรือเหนือชานพักทั้งหมด ต้องมีความสูงที่วัดตามแนวดิ่งจนถึงสิ่งกีดขวางเหนือศีรษะไม่น้อยกว่าที่กฎหมายกำหนดคือ 1.90 เมตร เพื่อไม่ให้ศีรษะกระแทก เดินขึ้นลงแล้วหัวอาจชนนั่นเอง



จากใจ
ZmyHome
ฝากกดแชร์เป็นกำลังใจให้ด้วยครับ
บทความอื่นๆ
  • ค้นหาบ้านคอนโด

    ต้องการซื้อ หรือเช่า บ้าน คอนโด ตรวจ สอบราคา เช็คค่าเช่า ติดต่อตรงกับเจ้า ของตัวจริง ทุกทำเล ทั่วประเทศ

    ค้นหา
  • ลงประกาศ

    ต้องการขาย หรือปล่อยเช่า บ้าน คอนโด เพียงคุณเป็นเจ้าของตัวจริง และพร้อมที่จะลงประกาศอย่างมีคุณภาพ เพื่อให้ผู้ซื้อศึกษา อย่างสะดวกที่สุด ก็ลงประกาศ ได้เลย

    ลงประกาศ