CPAC Green Solution ชี้ 5 เทรนด์แรงไม่หยุด อุตสาหกรรมก่อสร้างโลก
โดยปัจจุบันได้มีการนำเอาเทคโนโลยีต่างๆ เข้ามาประยุกต์และพัฒนาเพื่อใช้แก้ปัญหาต่างๆ ในอุตสาหกรรม การก่อสร้าง ทั้งนี้ไม่ว่าจะเป็นเรื่องการขาดแคลนแรงงาน หรือปัญหาสิ่งแวดล้อมในทุกขั้นตอน ตั้งแต่ก่อน-ระหว่าง-และหลังการก่อสร้าง CPAC Green Solution ในฐานะผู้นำด้านนวัตกรรมการก่อสร้างที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม ก็ไม่หยุดนิ่งที่พัฒนาสินค้าและบริการเพื่อตอบโจทย์ต่อความต้องการให้แก่ทุกกลุ่มลูกค้าทั้งในปัจจุบันและอนาคต พร้อมรวบรวมเทรนด์ในอุตสาหกรรมก่อสร้างโลกที่กำลังมาแรงในช่วง 2-3 ปีข้างหน้า มาอัปเดตเพื่อเป็นไอเดียและยกระดับอุตสาหกรรมก่อสร้างของไทยให้เติบโตอย่างยั่งยืน
สำหรับ 5 เทรนด์อุตสาหกรรมก่อสร้างโลกที่แรงไม่หยุด ได้แก่
1. การออกแบบการสร้างในโลกเสมือนจริง (Virtual Design and Construction – VDC) เป็นเทรนด์ที่มาแรงมากทั่วโลก เพราะนอกจากจะตอบโจทย์เรื่องการขาดแคลนแรงงานแล้ว ยังช่วยลดค่าใช้จ่ายในการทำงานซ้ำที่เกิดจากความผิดพลาดในขั้นตอนต่างๆ ซึ่งปกติจะสูงถึง 30% ของต้นทุนการก่อสร้างรวม โดยเครื่องมือที่ได้ความนิยมมากที่สุดในปัจจุบัน คือ เทคโนโลยีการสร้างแบบจำลองข้อมูลอาคาร หรือ Building Information Modeling (BIM)
จากรายงานของ ReportLinker บริษัทวิจัยทางการตลาดจากประเทศฝรั่งเศสระบุว่า ตลาด BIM ในปี 2563 (2020) มีมูลค่าประมาณ 4.5 พันล้านเหรียญสหรัฐ – 5.2 พันล้านเหรียญสหรัฐ ก่อนที่จะหยุดชะวักเนื่องจากโรคระบาด โควิด-19 อย่างไรก็ตามมีการคาดการณ์ว่าตลาด BIM จะฟื้นตัวและมีอัตราเติบโตต่อปี 14.5% สอดคล้องกับการฟื้นตัวของอุตสาหกรรมก่อสร้างโลกจากนี้ต่อไปในอีก 5 ปีข้างหน้า ในส่วนของประเทศไทยเองก็มีการเร่งพัฒนาบุคลากรในด้าน VDC เพื่อรองรับความต้องการที่เพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว
2. ตลาดการก่อสร้างแบบสำเร็จรูป (Modular construction) แม้ว่าการก่อสร้างแบบสำเร็จรูปจะมีการพัฒนามาระยะหนึ่งแล้ว แต่ตลาดนี้ยังคงเติบโตอย่างต่อเนื่องตามการขยายตัวอย่างรวดเร็วของเมืองและอุตสาหกรรม เพราะข้อดีหลักของการก่อสร้างแบบ Modular คือ สามารถที่วางแผนควบคุมต้นทุน และระยะเวลาในทุกขั้นตอน ตั้งแต่การออกแบบ การก่อสร้าง จนกระทั่งจบงานได้อย่างรวดเร็วและมีประสิทธิภาพ รวมถึงสามารถออกแบบได้อย่างนอกกรอบกว่าการสร้างแบบดั้งเดิมมาก
โดยรายงานของ Straits Research บริษัทวิจัยชั้นนำของโลก คาดว่าตลาดการก่อสร้างแบบสำเร็จรูปของโลกจะมีมูลค่าสูงถึง 2.71 แสนล้านเหรียญสหรัฐ ในปี 2573 (2030) เพิ่มขึ้นจาก 1.38 แสนล้านเหรียญสหรัฐ ในปี 2564 (2021) โดยคาดว่าจะมีอัตราการเติบโตที่ 8% ต่อปีระหว่าง 2656 – 2573 (2022 - 2030)
3. โดรนก่อสร้าง เป็นอีกเทคโนโลยีที่ถูกนำมาใช้ประโยชน์ในการก่อสร้างอย่างกว้างขวาง ไม่ว่าจะเป็นการร่างพื้นที่ขนาดใหญ่อย่างรวดเร็ว การถ่ายภาพทางอากาศ รวมถึงถูกนำมาใช้ในงานต่างๆ ที่มีความเสี่ยงสูง มีการประมาณการคร่าวๆ กันว่า “โดรนก่อสร้าง” ช่วยลดการสูญเสียทรัพยากรในไซต์ก่อสร้างในแต่ละปีได้ถึง 1.6 แสนล้านเหรียญสหรัฐ และช่วยเพิ่มประสิทธิภาพในประเมินปริมาณสต็อกวัสดุที่ต้องใช้ในการก่อสร้างได้อย่างแม่นยำมากขึ้นถึง 61%
นอกจากนี้ “โดรนก่อสร้าง” ยังถูกนำมาต่อในรูปแบบต่างๆ อย่างเช่นสิ่งที่ CPAC Green Solution กำลังพัฒนา ไม่ว่าจะเป็นในงานก่อสร้างที่อยู่อาศัยและโรงงานต่างๆ ฯลฯ ยังมีการใช้เพื่อสำรวจภูมิประเทศใต้น้ำโดยใช้คลื่นเสียง เพื่อออกแบบติดตั้งโซลาร์ลอยน้ำ ซึ่งเป็นขั้นตอนที่ไม่สามารถใช้แรงงานมนุษย์ได้
4. เทคโนโลยี 3D Printing เป็นเทคโนโลยีที่ถูกนำไปใช้คู่กับเทคโนโลยีอื่นๆ ไม่ว่าจะเป็น BIM หรือแม้แต่โดรน ล่าสุดนักวิจัยจาก Imperial College London และ Empa ประเทศสวิตเซอร์แลนด์ ร่วมกันพัฒนาโดรนชนิดพิเศษที่มีฟังก์ชัน 3D Printing ในตัว เพื่อใช้ในการก่อสร้างและซ่อมแซมอาคาร ระบบนี้จะบินโดรนหลายตัวพร้อมกันในครั้งเดียว เพื่อทำงานจากแบบพิมพ์เขียว (Blueprint) เดียวกัน โดยได้รับแรงบันดาลใจจากการทำงานของฝูงผึ้ง
ทั้งนี้ตลาด 3D Printing Construction โลกมีมูลค่าประมาณ 11 ล้านเหรียญสหรัฐ ในปี 2564 (2021) และคาดว่าจะมีอัตราการเติบโตรายปีประมาณ 101% ตั้งแต่ปี 2665 - 2573 (2022 - 2030) ทาง Straits Research ระบุว่าภูมิภาคเอเชียแปซิฟิกมีส่วนแบ่งการตลาดมากที่สุด และถือเป็นผู้นำตลาดการผลิต 3D Printing ของโลกด้วย โดยในรายงานยังระบุอีกว่า อุปสงค์ (Demand) จากอาคารและโครงสร้างพื้นฐานต่างๆ จะเป็นปัจจัยสำคัญในการผลักดันตลาดในภูมิภาคนี้ รวมถึงการเติบโตของตลาด BIM ก็เป็นอีกหนึ่งปัจจัยสำคัญที่ผลักดันในความต้องการ 3D Printing สูงขึ้นตามด้วย
5. วัสดุที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม (Green Building Materials) เป็นเรื่องที่มีความสำคัญเพิ่มมากขึ้นเรื่อยๆ เนื่องจากภาวะโลกร้อนนับเป็นแรงกระตุ้นที่ทำให้ผู้พัฒนาโครงการไม่สามารถเมินเฉยต่อการเลือกวัสดุที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมได้ ในวงการอุตสาหกรรมก่อสร้างไทยเองก็มีการสนับสนุนให้มีการเปลี่ยนแปลงวัสดุก่อสร้างในไทยเพื่อให้สอดคล้องกับเทรนด์โลก โดยเน้นวัสดุที่ช่วยลดก๊าซเรือนกระจก ลดโลกร้อน มีการทำการวิจัยและพัฒนาด้านวัสดุเพื่อตอบโจทย์การพัฒนาอย่างยั่งยืน ด้วยการใช้ทรัพยากรอย่างคุ้มค่าและนำไปสู่สังคมคาร์บอนต่ำ
และจากการสำรวจของ Transparency Market Research ระบุว่าตลาดวัสดุก่อสร้างที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมโลกมีมูลค่า 2.64 แสนล้านเหรียญสหรัฐในปี 2563 (2020) และคาดว่าตลาดจะเติบโตอย่างต่อเนื่องและมีมูลค่าสูงถึง 9.83 แสนล้านเหรียญสหรัฐในปี 2574 (2031) โดยปัจจัยสำคัญมาจากความต้องการของผู้บริโภคเองและนโยบายของภาครัฐ
ทั้งนี้ อุตสาหกรรมก่อสร้างไทยจำเป็นต้องปรับตัวให้ทันตามเทรนด์โลก โดยเฉพาะเรื่องของสิ่งแวดล้อม ซึ่งมีผลกระทบต่อทั้งธุรกิจและสังคมในวงกว้าง นอกจากนี้ผู้เกี่ยวข้องในอุตสาหกรรมก่อสร้างไทยทั้งภาครัฐและเอกชน ควรให้ความสำคัญกับการเร่งผลิตบุคลากร โดยเฉพาะด้านเทคโนโลยีการสร้างแบบจำลองข้อมูลอาคาร (BIM) เพื่อรองรับความต้องการที่เพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วในอนาคต