ออมสิน ดันคนกู้ไม่ผ่านมีบ้าน
นายชาติชาย พยุหนาวีชัย ผู้อำนวยการธนาคารออมสิน เปิดเผยว่า ธนาคารเตรียมแนวทางเพื่อช่วยเหลือด้านอสังหาริมทรัพย์ โดยผ่อนปรนการปล่อยสินเชื่อบ้าน เพื่อให้ลูกค้าขอสินเชื่อให้มากขึ้น 3 มาตรการ คือ
1. ออมก่อนกู้ หรือผ่อนดาวน์ก่อนกู้ เพื่อช่วยเหลือกลุ่มประกอบอาชีพอิสระ พ่อค้า แม่ค้า ที่ไม่มีหลักฐานทางการเงิน เช่นกู้ 1 ล้านบาท นำเงินออมหรือผ่อนดาวน์ เดือนละ 7 พันบาท เป็นเวลา 1-2 ปี หลังจากนั้นจึงทำเรื่องกู้กับธนาคาร ทำให้ธนาคารเห็นถึงความสามารถในการผ่อนชำระของลูกค้าโดยที่ไม่ต้องวิเคราะห์เรื่องรายได้
2. ธนาคารปล่อยกู้ให้ผู้ประกอบการอสังหาริมทรัพย์ เพื่อให้ผู้ประกอบการนำไปปล่อยกู้ให้กับลูกค้าที่สนใจโครงการอีกทอดหนึ่ง เช่น ธนาคารปล่อยกู้ 100 ล้านบาท ให้ผู้ประการการ หลังจากนั้นผู้ประกอบการขายบ้านให้ลูกค้า ให้ลูกค้าทดลองอยู่และผ่อนเหมือนค่าเช่า 2 ปี พอครบกำหนดจึงโอนหนี้ของลูกค้ามายังธนาคาร
3. นำรายได้อนาคตมาคำนวณความสามารถในการผ่อนชำระให้กับลูกค้า จากเดิมใช้แค่รายได้ปัจจุบัน เช่น ข้าราชการ รัฐวิสาหกิจ ปรับเงินเดือนปีละ 5-6% ดังนั้น ธนาคารนำรายได้ที่คาดว่าจะเพิ่มขึ้นมาประเมินเป็นวงเงินกู้ ทำให้วงเงินกู้สูงขึ้น โดยใน 3 ปีแรกการผ่อนชำระจะไม่สูงมาก เพราะส่วนใหญ่จะมีโปรโมชั่น
"มาตรการทั้งหมดที่นำมาใช้ทำให้คนที่กู้ไม่ผ่าน สามารถมีบ้านได้ ขณะนี้ยอดปฏิเสธสินเชื่อธนาคารออมสินอยู่ที่ 30% คาดหวังว่าทั้ง 3 มาตรการทำให้ยอดปฏิเสธลดลง โดยเตรียมวงเงินไว้สำหรับ 3 มาตรการ 1.5-2 หมื่นล้านบาท คาดว่าจะช่วยเหลือได้ 2 หมื่นราย จากยอดปล่อยกู้ซื้อบ้านปีละ 7-8 หมื่นล้านบาท" นายชาติชายกล่าว
นายชาติชายกล่าวว่า ส่วนผลการจำหน่ายสลาก 20 บาทต่อหน่วย เงินรางวัล 2 ล้านบาท พบว่าได้รับความสนใจมากในช่วง 10 วันแรกที่เปิดขายมียอดจองเข้ามากว่า 8 หมื่นราย คิดเป็นเงิน 2.5 พันล้านบาท คาดว่าอีกไม่เกินปลายเดือนนี้จะมีผู้มาซื้อจนครบยอดกำหนดไว้ 1.2 หมื่นล้านบาท
นายชาติชายกล่าวต่อว่า สำหรับการดำเนินงานธนาคารออมสินในช่วง 3 เดือนแรกของปี 2562 (1 มกราคม- 31 มีนาคม) ธนาคารมีกำไรกว่า 6 พันล้านบาท จากเป้าหมายปีนี้กว่า 3 หมื่นล้านบาท ทั้งนี้ ธนาคารให้ความสำคัญกับการบริหารคุณภาพสินทรัพย์ เน้นปล่อยสินเชื่ออย่างรัดกุม และปรับปรุงประสิทธิภาพการบริหารจัดการหนี้ โดยหลังจากเปิดศูนย์ย่อยควบคุมและบริหารหนี้จำนวน 80 ศูนย์ทั่วประเทศ ส่งผลให้หนี้ไม่ก่อให้เกิดรายได้ (เอ็นพีแอล) เหลือเพียง 2.83% ของสินเชื่อรวม ต่ำที่สุดเมื่อเทียบกับค่าเฉลี่ยของระบบสถาบันการเงิน ขณะที่ในไตรมาสแรก ปี 2562 ธนาคารนำส่งรายได้เข้ารัฐแล้ว 7.2 พันล้านบาท จากปี 2561 นำส่งรายได้เข้ารัฐกว่า 2 หมื่นล้านบาท สูงเป็นอันดับที่ 4
ที่มา : ศูนย์ข้อมูลอสังหาริมทรัพย์, หนังสือพิมพ์มติชน