เซาะร่องอย่างไร? กับทางลาดภายในและภายนอก
แต่ทางลาดก็เป็นจุดอันตรายจุดหนึ่งภายในอาคาร ในบางกรณีที่ผู้ออกแบบคำนึงถึงความสวยงามของพื้นทางลาด ก็มักจะใช้วัสดุปูทางลาดที่กลมกลืนไปกับวัสดุพื้นทั่วไปด้วย ซึ่งไม่ผิดแต่อย่างใด
เพียงแต่เพื่อความปลอดภัย ทางลาดนั้นควรจะมีการเซาะร่องเพื่อเพิ่มแรงเสียดทานมากขึ้น ซึ่งที่พบเห็นกันทั่วไปเซาะร่องเป็นลายก้างปลา (คือมีเส้นเอียงลงที่ขอบซ้ายขวาทั้งสองข้างทางลาด) ความนิยมในเส้นเซาะร่องแบบนี้ มีที่มาจากการการใช้งาน ซึ่งเป็นเรื่องที่เกี่ยวข้องกับการระบายน้ำซึ่งช่วยให้ทางลาดนั้นปลอดภัยมากขึ้น โดยเฉพาะทางลาดที่อยู่ด้านนอกอาคารและมีโอกาสโดนน้ำโดนฝน เพราะในขณะฝนตก น้ำที่เคลือบอยู่บนผิวทางลาดก็เหมือนแผ่นฟิล์มลื่น ๆ ที่เคลือบผิวทางลาดให้ลื่นขึ้น ในขณะฝนตก แผ่นฟิล์มน้ำฝนจะเคลื่อนชะผิวลงมาสู่ทิศทางที่ต่ำกว่า เส้นเซาะร่องลายก้างปลาจะสามารถช่วยรวบรวมน้ำบนผิวให้ระบายออกทางด้านข้างของทางลาดเป็นระยะ ๆ
และถ้าจะให้ครบสมบูรณ์ก็ต้องออกแบบให้ที่สองข้างของทางลาดมีร่องระบายน้ำทั้งสองฝั่ง ซึ่งจะทำให้น้ำที่ระบายจากทางลาดไหลไปรวมกันที่สองข้างทางแล้วไหลตรงลงสู่พื้นอย่างรวดเร็ว โดยอยู่ที่บริเวณผิวทางเดินน้อยที่สุด
และนี่เป็นที่มาของลายก้างปลาที่เป็นที่นิยมของทางลาดนอกอาคาร
ส่วนทางลาดในอาคารอาจมีร่องที่แตกต่างออกไปได้บ้าง ซึ่งถ้าพิจารณาถึงความเรียบง่าย สวยงาม (เพราะบางครั้งการเซาะร่องรายก้างปลาบนทางลาดก็ดูไม่ค่อยสวยงาม) ก็อาจเป็นลายเซาะร่องตามแนวขวางธรรมดา ๆ และไม่ต้องมีร่องน้ำสองข้างก็ได้ เพราะอยู่ภายในอาคาร ไม่ต้องการฟังก์ชั่นการระบายน้ำแบบทางลาดภายนอก
สิ่งที่น่าระวังที่สุดก็คือ การไว้ใจว่าทางลาดจะฝืดพอด้วยการใช้วัสดุกันลื่นเฉย ๆ แล้วไม่เพิ่มแรงเสียดทานด้วยการเซาะร่องเข้าไปด้วย (เช่นใช้กระเบื้องสาก ๆ ปูเข้าไปแล้วคิดว่ามันจะกันลื่น) เพราะในระยะแรกที่ผิวของกระเบื้องยังสะอาดดีก็จะกันลื่นได้พอควร แต่ด้วยระยะเวลาที่ผ่านไปนานเข้าๆ หากไม่ได้รับการดูแลรักษาอย่างดี มีคราบฝุ่นดินสกปรก ตะไคร่ขึ้น หรือเกิดการสึกหรอที่ผิววัสดุมากๆ เข้า ก็จะทำให้คุณสมบัติความฝืดที่มีอยู่ในช่วงต้นหดหายไป
การเซาะร่องบนทางลาดจึงช่วยให้ทางลาดนั้นน่าไว้ใจ โดยไม่ต้องกังวลมากนักว่าพื้นผิวทางลาดจะถูกดูแลอย่างดีตลอดเวลาหรือไม่ หรือเวลาจะผ่านไปนานเท่าไรก็ตาม
จากใจ
ZmyHome
ฝากกดแชร์เป็นกำลังใจด้วยนะครับ
ผู้เขียน : นิธิพันธ์ ZmyHome