• 26 พ.ค. 2563

รอยร้าว ยิ่งร้าวเล็กยิ่งรั่วลึก

ปัญหาน้ำรั่วซึมเป็นปัญหาที่พบบ่อยของสิ่งก่อสร้างท่ามกลางสภาพอากาศฝนตกชุกแบบบ้านเรา โดยหนึ่งในต้นเหตุที่ทำให้น้ำรั่วซึมเข้ามาในบ้านเราได้ก็มาจากรอยร้าวของตัวอาคาร

ก็ในเมื่อบ้านร้าวบ้านมีรูรั่วก็ย่อมเป็นต้นทางให้น้ำเข้ามาเป็นธรรมดา แต่รอยร้าวมีคุณสมบัติบางอย่างที่คิดไม่ถึงอยู่อย่างหนึ่ง นั่นคือขนาดของรอยร้าวไม่ได้สัมพันธ์กับความร้ายกาจของพลังการรั่วซึม พูดง่าย ๆ ก็คือ รอยร้าวใหญ่ ๆ อาจจะไม่ได้ทำให้น้ำซึมเข้ามามากก็ได้ แต่ในขณะที่รอยร้าวเล็ก ๆ กลับทำให้น้ำซึมเข้ามามากมาย แถมยังซึมเข้ามาแบบโนสนโนแคร์แรงดึงดูดของโลกด้วยซ้ำไป

สาเหตุเบื้องต้นคงต้องขอย้อนรอยกลับไปอธิบายด้วยคำศัพท์ทางวิชาวิทยาศาสตร์กันสักหน่อย ซึ่งหวังว่าทุกท่านคงพอเคยได้ยินกับคำว่า “Capillary Action”

อันที่จริงศัพท์คำนี้เป็นศัพท์ทางชีววิทยา มันอธิบายถึงการดูดน้ำของพืชว่าสามารถดูดน้ำจากพื้นดินต้านแรงโน้มถ่วงของโลกได้ โดยอาศัยธรรมชาติการเคลื่อนที่ของน้ำผ่านหลอดเล็กๆ (ในที่นี้คือท่อลำเลียงน้ำของต้นพืช) ซึ่งสรุปง่าย ๆ ก็คือ ของเหลวเช่นน้ำมีคุณสมบัติไหลได้ฉับไวและไปไกลอย่างต่อเนื่องในซอกแคบ โดยไม่ต้องอาศัยแรงดึงดูด หรือแรงดูดเลย

หากใครมีแก้วน้ำตอนนี้ก็ทดสอบได้เลย โดยการหยดน้ำลงซักหยดลงบนโต๊ะ แล้วค่อย ๆ คว่ำขอบแก้วลงบนหยดน้ำนั้น เมื่อขอบแก้วใกล้ชิดโต๊ะมากขึ้น จนระยะระหว่างขอบแก้วและโต๊ะเหลือน้อยมาก ๆ น้ำหยดนั้นก็จะวิ่งปรื๊ดเป็นเส้นวงกลมได้ทันที และนี่แหละคือ “Capillary Action”

ฉันใดก็ฉันนั้น หากรอยร้าวเล็ก ๆ เกิดขึ้นที่บริเวณผนังหรือพื้นของอาคารที่สัมผัสน้ำ น้ำก็พร้อมจะวิ่งจู๊ดไหลแรงแผ่นซ่านไปตามเส้นทางของรอยร้าวได้ทันที โดยไม่สนว่าจะไหลตามหรือไหลฝืนแรงดึงดูดของโลก ถ้าปลายทางเป็นผนังอีกฝั่ง น้ำก็จะซึมเข้ามาภายใน แต่ถ้าร้าวถึงแค่ก้อนอิฐ น้ำก็จะซึมซับอยู่ในก้อนอิฐไป แน่นอนว่าก้อนอิฐที่มีความพรุนก็จะเกิดปฏิกิริยา “Capillary Action” แผ่ขยายไปทั้งก้อนอิฐ ฝังความชื้นอยู่ในผนัง


ความรู้เรื่องนี้ในเชิงปฏิบัติก็คือ การซ่อมแซมอุดรอยร้าวรอยรั่วของโครงสร้าง จะต้องเลือกใช้วัสดุที่เมื่อแห้งตัวลงแล้วไม่เกิดเป็นรอยร้าวเล็ก ๆ รอยใหม่ เช่น หากอุดหลังคารั่วด้วยปูนซีเมนต์ปกติ ซึ่งเมื่อแห้งตัวลงจะหดตัวแล้วเกิดเป็นรอยแยกเล็ก ๆ ระหว่างตำแหน่งที่ซ่อมแซมเดิม จะยิ่งทำให้รอยร้าวดูดซึมน้ำเร็วขึ้นมากขึ้น วงกว้างขึ้น ซึ่งทำให้น้าจากทั่วสารทิศไหลเข้าสู่รอยร้าวมากขึ้น เรียกได้ว่ายิ่งแก้ยิ่งวุ่น

ฉะนั้นโดยหลักการกว้าง ๆ จึงควรใช้วัสดุที่มีความยืดหยุ่นสูง ที่เมื่อแห้งตัวแล้วไม่เกิดรอยร้าวเล็ก ๆ ในจุดที่แก้ไข หรือใช้วัสดุที่ไม่หดตัวลงเมื่อแข็งตัว เช่นปูน Non Shrink มาแก้ไขรอยร้าวรอยรั่วเหล่านี้ครับ

ถ้าไม่แน่ใจว่าต้องซ่อมไหม หรือกังวลว่าซ่อมเองไม่เป็น ให้ช่างผู้ชำนาญการจาก คิวช่าง มาช่วยให้คำปรึกษาคุณได้ครับ จองคิวและนัดเวลาได้ที่นี่เลยครับ >> https://th.zmyhome.com/landing/q-chang 

จากใจ
ZmyHome
ฝากกดแชร์เป็นกำลังใจด้วยนะครับ
บทความอื่นๆ
  • ค้นหาบ้านคอนโด

    ต้องการซื้อ หรือเช่า บ้าน คอนโด ตรวจ สอบราคา เช็คค่าเช่า ติดต่อตรงกับเจ้า ของตัวจริง ทุกทำเล ทั่วประเทศ

    ค้นหา
  • ลงประกาศ

    ต้องการขาย หรือปล่อยเช่า บ้าน คอนโด เพียงคุณเป็นเจ้าของตัวจริง และพร้อมที่จะลงประกาศอย่างมีคุณภาพ เพื่อให้ผู้ซื้อศึกษา อย่างสะดวกที่สุด ก็ลงประกาศ ได้เลย

    ลงประกาศ