คอนโด หอพัก อพาร์ทเมนท์ ต้องทำอย่างไร? เมื่อพบผู้อาศัยติดโควิด
ผู้ติดเชื้อ
- หากผลการตรวจไวรัสเป็นบวก จะต้องเข้ารับการรักษาในโรงพยาบาลทันที ไม่ควรกลับไปเก็บของที่ห้องพักของคุณอีก ควรให้ญาติหรือคนใกล้ชิดจัดหาของใช้ส่วนตัวเท่าที่จำเป็นมาให้
- แจ้งไปที่เจ้าของอาคารหรือนิติบุคคลอาคารชุดทันทีที่ทราบผลการตรวจ และให้ข้อมูลไทม์ไลน์ในพื้นที่อาคารที่พักอาศัยโดยละเอียด พร้อมทั้งระบุว่าในช่วง 14 วันที่ผ่านมาได้พบกับใครในบริเวณอาคารที่พักอาศัยบ้าง
เจ้าของอาคารหอพัก อพาร์ทเมนท์ และนิติบุคคลอาคารชุด
- ทันทีที่ทราบว่ามีผู้ติดเชื้อในโครงการ ให้รวบรวมข้อมูลจากผู้ติดเชื้อให้รีบแจ้งให้ผู้พักอาศัยรายอื่น ๆ ทราบทันที โดยระบุด้วยว่ามีมาตรการและข้อปฎิบัติอย่างไรในลำดับถัดไป
- แจ้งเจ้าหน้าที่ พนักงาน และผู้อาศัยรายอื่น ที่ผู้ติดเชื้อระบุว่าได้พบในระยะประชิดในช่วงเวลา 14 วันที่ผ่านมาเป็นรายบุคคล เพื่อให้ทุกคนหยุดงานและกักตัวเพื่อสังเกตอาการโดยด่วน
- เรียบเรียงข้อมูลไทม์ไลน์ของผู้ติดเชื้อว่าเดินทางเข้าออกอาคารในวันและเวลาใดบ้าง ใช้พื้นที่ใดในอาคารบ้าง ด้วยข้อมูลจากผู้ติดเชื้อร่วมกับภาพจากกล้องวงจรปิดและข้อมูลจากคีย์การ์ด แล้วประกาศให้ผู้พักอาศัยรายอื่น ๆ ทราบ เพื่อให้หลีกเลี่ยงพื้นที่ดังกล่าวจนกว่าจะมีการฆ่าเชื้อให้เรียบร้อย
- ประสานงานกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องหรือบริษัทเอกชนที่ให้บริการ ให้เข้ามาฉีดพ่นน้ำยาฆ่าเชื้อในอาคารโดยเร็วที่สุด
- จัดให้มีเจ้าหน้าที่ผู้รับผิดชอบ ในการโทรแจ้งและติดต่อกับหน่วยงานสาธารณสุขในพื้นที่ เพื่อดำเนินการควบคุมโรคตามแนวทางของกระทรวงสาธารณสุขต่อไป
- จัดทำป้ายให้ความรู้คำแนะนำ หรือจัดหาสื่อประชาสัมพันธ์การป้องกันการแพร่กระจายเชื้อโรค เพื่อแจ้งเตือนพนักงาน ผู้พักอาศัย และผู้มาเยี่ยม เช่น โปสเตอร์การเว้นระยะห่างกัน การล้างมือที่ถูกวิธี และการสวมหน้ากากผ้า เป็นต้น
เจ้าหน้าที่และพนักงานทำความสะอาดในอาคาร
- จัดให้มีการทำความสะอาดอุปกรณ์ และบริเวณที่มีผู้สัมผัสปริมาณมากอย่างสม่ำเสมอ เช่น ราวจับ กลอนประตู ปุ่มลิฟท์ ห้องน้้ำ ด้วยน้ำยาฟอกขาวความเข้มข้น 6% ผสมน้ำสะอาด (โดยใช้น้ำยา 1 ส่วนต่อน้ำ 99 ส่วน) หรือแอลกอฮอล์ 70%
- เพิ่มความตระหนักให้กับเจ้าหน้าที่และพนักงานทำความสะอาดถึงความเสี่ยงในการปนเปื้อนเชื้อ โดยให้ความสำคัญในการป้องกันตนเอง เช่น การสวมหน้ากากอนามัยหรือหน้ากากผ้าและถุงมือขณะปฏิบัติงาน และการดูแลทำความสะอาดสิ่งของที่ใช้งานบ่อย ๆ เช่น โต๊ะทำงาน คอมพิวเตอร์ อุปกรณ์ต่าง ๆ
- เพิ่มมาตรการลดการสัมผัสและเว้นระยะห่างในอาคาร เช่น จัดพื้นที่รับส่งของ แบ่งพื้นที่ยืนในลิฟท์
- จัดจุดทิ้งขยะติดเชื้อให้กับผู้พักอาศัย ระมัดระวังการเก็บขยะติดเชื้อ เช่น ทิชชูที่ผ่านการใช้แล้วที่อาจปนเปื้อนสารคัดหลั่ง ก่อนทิ้งขยะติดเชื้อควรใส่ถุงปิดให้มิดชิด และล้างมือให้สะอาดเพื่อป้องกันการตกค้างของเชื้อโรค
ผู้พักอาศัยรายอื่น ๆ
- เมื่อทราบจากเจ้าของอาคารหรือนิติบุคคลอาคารชุดว่าพบผู้ติดเชื้อในโครงการ อย่าตื่นตระหนก ให้ตรวจสอบไทม์ไลน์ของผู้ติดเชื้อว่าสัมพันธ์กับไทม์ไลน์ส่วนตัวหรือไม่ และประเมินว่าเราอยู่ในกลุ่มเสี่ยงระดับใด
- หากเป็นไปได้ควรกักตัวอยู่แต่ในห้องพัก และสังเกตตัวเองว่ามีอาการผิดปกติหรือไม่ สำหรับไวรัสที่แพร่ระบาดในระลอกนี้ อาการที่บ่งชี้ได้คือ น้ำมูกไหล ตาแดง มีผื่นขึ้น แต่ไม่มีไข้ หากยังไม่พบว่ามีอาการตามนี้ ไม่ควรรีบไปตรวจหาเชื้อไวรัส แต่หากพบว่าตนเองมีอาการป่วยและไม่ดีขึ้นภายใน 2 วัน หรือมีอาการป่วยรุนแรง ควรรีบไปโรงพยาบาลเพื่อรับการตรวจรักษาครับ และถ้าผลตรวจเป็นบวกก็อย่าลืมแจ้งนิติบุคคลฯและทำตามข้อปฎิบัติของผู้ติดเชื้อนะครับ
- งดใช้พื้นที่ส่วนกลางของอาคาร หลีกเลี่ยงการออกไปสถานที่ชุมชนสาธารณะ หากจำเป็นต้องออกนอกห้อง ให้ใส่หน้ากากอนามัยทุกครั้ง และเว้นระยะห่างจากผู้อื่นอย่างน้อย 1 เมตร
- หมั่นล้างมือบ่อย ๆ ทั้งล้างด้วยน้ำและสบู่ และล้างด้วยเจลแอลกอฮอล์ รวมทั้งไม่นำมือมาสัมผัสตา จมูก ปาก โดยไม่จำเป็น
- ไม่ใช้ของส่วนตัวร่วมกับผู้อื่น เช่น แก้วน้ำ ภาชนะใส่และรับประทานอาหาร ผ้าเช็ดมือ
หากได้รับความร่วมมือร่วมใจกันจากทุกฝ่ายที่อยู่ใยอาคารพักอาศัยเดียวกันแล้ว เชื่อว่าจะสามารถยับยั้งการแพร่ระบาดภายในอาคารของคุณได้อย่างแน่นอนครับ
ที่มา : คำแนะนำ กรณีพบผู้ป่วยโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 สำหรับผู้ประกอบการคอนโดมิเนียม อพาร์ตเมนท์ หอพัก : กรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข
ภาพประกอบ : Prostooleh on Freepik.com