ของใช้สำคัญสำหรับชาวญี่ปุ่นที่เช่าคอนโด
- ห้องเช่าคอนโดของเรา ถูกเปรียบเทียบกับเซอร์วิสอพาร์ตเมนท์ ซึ่งส่วนใหญ่ (ไม่ทั้งหมด) มักเตรียมของใช้ต่างๆ เหล่านี้ไว้ให้ ซึ่งหากเจ้าของห้องยอมเตรียมอุปกรณ์ต่างๆ เหล่านี้ให้ผู้เช่าก็จะตัดสินใจง่ายขึ้น
- เป็นการอำนวยความสะดวกให้กับผู้เช่า หลายๆ คนถ้าเคยจำโมเมนท์ที่จะต้องซื้อของเข้าบ้านได้ ก็คงรู้ว่า การซื้อของเหล่านี้ใช้เวลาหลายวันทีเดียว และถือว่าเป็นภาระไม่น้อย สำหรับผู้เช่าญี่ปุ่นที่ทำงานหนัก (เรียกว่าทำงานกันตั้งแต่เหยียบลงประเทศไทยเลยค่ะ!)
ของใช้ที่ร้องขอกันบ่อยๆ
ตุ๊กตารับประกันได้เลยค่ะ ว่าถ้าห้องเช่าของเจ้าของท่านไหน งบเกิน 30,000 บาท คุณน่าจะเจอ Request ของใช้เหล่านี้ อย่างน้อยก็ 1-2 ข้อ
– ชุดเครื่องนอน ได้แก่ หมอน หมอนข้าง ผ้าปูที่นอน ผ้าห่ม
– ชุดรับประทานอาหาร ได้แก่ จาน ชาม ช้อนส้อม ตะเกียบ แก้วน้ำ ที่รองจาน
– ชุดเครื่องครัว ได้แก่ กะทะ หม้อ ตะหลิว ทัพพี
– ชุดเครื่องใช้ในครัว ได้แก่ หม้อหุงข้าว กาต้มน้ำ เครื่องปิ้งขนมปัง
ในความเป็นจริงของใช้ด้านบนเหล่านี้เจ้าของห้องหลายๆ คนที่ต้องการให้ห้องสวยงาม ตอนประกาศหาผู้เช่า มักจะซื้อมาสำหรับตกแต่งห้องอยู่แล้ว ซึ่งก็สามารถยกให้กับผู้เช่าได้เลย ถ้าไม่ได้ใช้ของราคาแพง และจริงๆ เราสามารถเลือกซื้อตามคุณภาพและราคาที่เราคิดว่าสมเหตุผลได้เลยค่ะ ผู้เช่ามักไม่ค่อยมีความเห็นเรื่องยี่ห้อ ถ้าเราไม่ได้เอาของแย่เกินไปมาให้
สิ่งของยอดฮิต………….ที่ร้องขอจากผู้เช่าชาวญี่ปุ่น
1) Washlet ผู้เช่าชาวญี่ปุ่นที่ย้ายตรงมาจากประเทศญี่ปุ่น จะติดการใช้ Washlet จากญี่ปุ่นมากมาก เพราะตามที่สาธารณะและบางสายการบินก็มีให้บริการกับลูกค้า ทำให้รู้สึกสะอาดและสะดวก จึงทำให้ใช้สายฉีดชำระในประเทศไทยไม่เป็น แต่หากผู้เช่าชาวญี่ปุ่นที่อาศัยหรือทำงานในต่างประเทศมาบ้างแล้ว Washlet ก็ไม่ได้เป็นสิ่งที่จำเป็นสำหรับพวกเขา Washlet ที่นิยมใข้กันสำหรับผู้เช่าญี่ปุ่น คือ Happy Toilet เป็นแบบไม่ใช้ไฟฟ้า ซึ่งจะไม่อันตราย สะดวกและใช้งานง่ายมาก ที่สำคัญถ้าซื้อผ่านนายหน้าที่ถนัดตลาดญี่ปุ่น มีราคาลดพิเศษสุดๆ! พิเศษสุดอย่างคาดไม่ถึงเลยค่ะ (ถ้านายหน้านั้นๆ ไม่บวกราคาอีกทอดนึงนะคะ)
2) Safety box ผู้เช่าชาวญี่ปุ่นจะเก็บของมีค่าไว้ในตู้เซฟ เพื่อความปลอดภัย เป็นระเบียบ และเป็นที่เป็นทาง เช่น – เงินสด – เอกสารสำคัญ Passport, Work Permit, Book Bank และ หนังสือสัญญาต่างๆ – เครื่องประดับต่างๆที่มีค่า Safety box ควรมีขนาดที่พอดี ไม่เล็กหรือใหญ่จนเกินไป ควรใช้รหัสในการเปิดและปิด Safety Box และต้องกุญแจสำรอง ไม่ควรให้ Safety Box ที่มีการใช้งานซับซ้อน เพราะจะทำให้ไม่ได้รับความสะดวกในการใช้งาน และอาจเกิดความเสียหายได้ง่าย เช่น การใช้ทั้งรหัสกับกุญแจพร้อมกัน เป็นต้น
3) เครื่องอบผ้า Dryer Machine ผู้เช่าชาวญี่ปุ่นที่ขอเครื่องอบผ้า จริงๆแล้วผู้ที่อยากได้คือ ภรรยา เนื่องจากกรุงเทพฯ มีตึกที่อยู่ในระหว่างการก่อสร้างค่อนข้างเยอะมาก โดยเฉพาะในสุขุมวิท ฉะนั้นฝุ่นละอองจากงานก่อสร้าง จะพบบ่อย และเยอะมาก อีกทั้งยังเป็นอันตรายต่อสุขภาพหากสัมผัสหรือสูดดมเข้าไปในร่างกายมากมาก ในกรณีหากตากผ้าไว้ที่ระเบียงเสื้อผ้าก็จะไม่สะอาดและเปื้อนฝุ่น ซึ้งผู้เช่าชาวญี่ปุ่นมองว่าเป็นอันตรายต่อสุขภาพ และยิ่งเป็นครอบครัวที่มีเด็กเล็กๆ ก็ยิ่งมีความต้องการมากยิ่งขึ้นไปอีก แต่ทั้งนี้ หากมีการติดตั้งเครื่องซักผ้าอยู่แล้วในห้องพัก ควรให้ช่างประจำอาคารเชคพื้นที่ภายในห้อง ว่ามีพื้นที่ที่สามารถติดตั้งเครื่องอบผ้าได้หรือไม่ เพราะบางอาคารในห้องพักไม่มีพื้นที่เอื้อต่อการติดตั้งเครื่องอบผ้าเพิ่มเติม