• 28 เม.ย. 2564

ทำอย่างไรดี? กับผู้เช่าประเภท"อยู่ไม่จ่าย ย้ายไม่ออก"

ผมเชื่อว่า นักลงทุนหรือเจ้าของอสังหาริมทรัพย์ที่ปล่อยเช่าอยู่ทุกท่าน ต่างมีความคาดหวังที่จะได้ผู้เช่าที่ดี จ่ายตรงเวลา สะอาดและรักษาดูแลทรัพย์ที่ปล่อยเช่าให้ดูใหม่เสมอ แต่เราคงไม่สามารถคาดการณ์ได้ว่าผู้เช่าของเราเป็นอย่างไร ส่วนใหญ่จะไปรู้อีกทีก็ตอนปล่อยเช่าเรียบร้อยแล้ว

ถ้าเราบังเอิญโชคร้าย ต้องไปพบเจอกับผู้เช่าที่ไม่พึงปรารถนาประเภท ทำทรัพย์สินรก สกปรก และยิ่งไปกว่านั้นถ้าไปเจอผู้เช่าประเภทขั้นสูงสุดอย่าง “อยู่ไม่จ่าย ย้ายไม่ออก” มันคงเป็นปัญหากัดกินใจของเจ้าของทรัพย์ทุกท่าน ที่ทำให้ไม่สามารถข่มตานอนหลับได้ไปอีกนาน

แต่ช้าก่อนครับ จริง ๆ แล้วเรามีตัวช่วยและวิธีการที่ทำให้เจ้าของมีอาวุธลับไปต่อกรกับผู้เช่าประเภทนี้ โดยเราจะเริ่มจากวิธีการเบาไปหาหนัก มาดูกันครับว่ามีวิธีการอย่างไร?

1. การสื่อสารและการเจรจา โดยปกติทั่วไปแล้วในสัญญาเช่าจะต้องมีระบุวันจ่ายค่าเช่าที่ชัดเจนและวันจ่ายค่าเช่าที่ช้าที่สุด หากผู้เช่ายังไม่จ่ายมาในวันดังกล่าว เจ้าของสามารถแจ้งเอเจนท์หรือแจ้งผู้เช่าโดยตรงให้ชำระภายในวันนั้นโดยทันที หากผู้เช่าได้รับข้อความของเจ้าของห้องเรียบร้อยแล้ว โดยส่วนใหญ่ถ้าไม่มีความตั้งใจบิดพลิ้วหรือมีความลำบากก็จะรีบชำระค่าเช่าโดยทันที หรือตอบกลับวันที่จะขอผัดผ่อนจ่ายเป็นวันที่แน่นอน แต่ถ้าผู้เช่าได้รับข้อความแล้วเงียบไปหรือผิดชำระวันที่ผัดผ่อนไปเรื่อย ๆ นั่นเป็นสัญญาณอันตรายที่ผู้เช่าจะเริ่มเบี้ยวแล้ว เจ้าของควรรีบเข้าสู่ขั้นตอนถัดไปโดยทันที

2. กำหนดวันเดดไลน์ชัดเจน หลังจากที่มีการเตือนและทวงถามแล้ว หากผู้เช่ายังบิดพลิ้วหรือผัดผ่อน เจ้าของห้องต้องระบุวันที่ชำระช้าที่สุดโดยชัดเจนและแจ้งทางผู้เช่าว่าถ้าไม่จ่ายภายในวันนี้ เจ้าของมีสิทธิ์ปรับค่าล่าช้า หรือแรงสุดก็คือริบเงินมัดจำพร้อมยกเลิกสัญญาเช่าโดยทันที ซึ่งโดยทั่วไปก็จะระบุไว้ในสัญญาเช่าที่อยู่ระหว่างภายใน 15 ถึง 30 วันนับจากวันแรกที่ต้องจ่ายค่าเช่า ในกรณีนี้ เจ้าของควรจะเทคแอ็คชั่นไปพร้อมกับแจ้งทางนิติบุคคลหรือแจ้งเพื่อนบ้านให้ช่วยจับตาดู ป้องกันการย้ายของมีค่าออกไป เพราะมีผู้เช่าบางประเภทที่คิดไม่ซื่อ มักจะแอบหนีไปพร้อมของที่เป็นทรัพย์สินที่มีค่าของเจ้าของ ยกตัวอย่างเช่น พวกทีวี เครื่องเสียง เตาไมโครเวฟ

3. แจ้งนิติบุคคลยกเลิกบัตรเข้าออก ถ้าทรัพย์สินที่เช่าเป็นประเภทคอนโดหรือบ้านที่อยู่ในหมู่บ้านจัดสรร ขั้นตอนนี้สามารถทำได้โดยสามารถแจ้งนิติบุคคลให้จัดการยกเลิก Keycard หรือ Access Card ได้ แต่ผมเคยเจอผู้เช่าที่เป็นขั้นสูงสุดบางประเภทที่ใช้วิธีตีเนียนเดินเข้าไปพร้อมกับผู้เช่ารายอื่นหรือเจรจากับ รปภ.ให้ช่วยเปิดให้ชั่วคราวได้ ซึ่งกรณีนี้จะพบในคอนโดที่ลิฟท์ไม่ได้ล็อคชั้นสำหรับ Keycard เอาไว้ แต่ไม่ต้องห่วง เรายังมีมาตรการสุดท้ายที่ทำให้ผู้เช่าต้องติดต่อมาหรือขนของออกไปแน่นอน


4. ยกเลิกน้ำยกเลิกไฟฟ้า วิธีนี้เป็นวิธีที่เราแนะนำมากที่สุด และเป็นวิธีที่ดีกว่าการเดินทางไปยังทรัพย์สินที่เช่าเพื่อไปเจอกับผู้เช่าโดยตรง เพื่อเป็นหลีกเลี่ยงการเผชิญหน้าระหว่างเจ้าของและผู้เช่า เพราะเราไม่รู้ว่านิสัยของผู้เช่าเราเป็นอย่างไร การยกเลิกน้ำและไฟฟ้าจึงเป็นวิธีการดีที่สุดและเป็นสิทธิ์ของเจ้าของ กรณีให้เช่าคอนโด เจ้าของห้องสามารถแจ้งนิติบุคคลให้ช่วยจัดการแทนเจ้าของห้องได้ หรือถ้าเป็นกรณีให้เช่าบ้าน ก็สามารถแจ้งการไฟฟ้าหรือการประปา ซึ่งต้องทำทั้งสองอย่างทั้งตัดไฟและน้ำถึงจะมีประสิทธิภาพสูงสุด กรณีนี้ร้อยละ 99% จะได้ผลโดยทันทีเพราะไม่มีผู้เช่ารายไหนสามารถอยู่ได้โดยปราศจากน้ำไฟ ส่วนอีก 1% ที่เหลือถ้าไม่ได้ผล ส่วนใหญ่หมายความว่าผู้เช่าได้ย้ายหนีออกไปแล้ว ซึ่งอันนั้นทางเจ้าของก็ต้องรีบไปตรวจเช็คทรัพย์สิน หลังจากถ้ายกเลิกน้ำไฟแล้วยังไม่ได้รับการติดต่อจากผู้เช่าภายในหนึ่งวัน

เป็นยังไงบ้างครับวิธีการทั้งหมดนี้ มาจากประสบการณ์โดยตรงของผม และหวังว่าวิธีการข้างต้นจะช่วยให้เจ้าของและนักลงทุนทุกคน จัดการกับผู้เช่าประเภทนี้ได้โดยเร็วที่สุดครับ

จากใจ
ZmyHome
ฝากกดแชร์เป็นกำลังใจด้วยนะครับ

ผู้เขียน : Mr.Residian
  • ค้นหาบ้านคอนโด

    ต้องการซื้อ หรือเช่า บ้าน คอนโด ตรวจ สอบราคา เช็คค่าเช่า ติดต่อตรงกับเจ้า ของตัวจริง ทุกทำเล ทั่วประเทศ

    ค้นหา
  • ลงประกาศ

    ต้องการขาย หรือปล่อยเช่า บ้าน คอนโด เพียงคุณเป็นเจ้าของตัวจริง และพร้อมที่จะลงประกาศอย่างมีคุณภาพ เพื่อให้ผู้ซื้อศึกษา อย่างสะดวกที่สุด ก็ลงประกาศ ได้เลย

    ลงประกาศ