• 23 มิ.ย. 2559

Insulation Glass กระจกกันร้อน

พูดถึงกระจกในงานสถาปัตยกรรม หลีกหนีไม่พ้นที่จะต้องพูดอยู่สองเรื่องคือแสงสว่าง และความร้อน จะว่าไปกระจกจัดเป็นวัสดุกั้นพื้นที่ที่มีคุณสมบัติพิเศษกว่าวัสดุอื่น คือ มีความใส ทำให้เรามองเห็นทะลุจากภายนอกสู่ภายใน จากภายในสู่ภายนอก โดยยังคงกั้นสภาวะแวดล้อมระหว่างกันไว้ได้ กระจกยังอนุญาตให้แสงสว่างผ่านได้ ลดปัญหาการใช้พลังงานเพื่อแสงสว่างภายในอาคาร แต่ด้วยความใสจึงเป็นปัญหา โดยเฉพาะกับบ้านเราที่อากาศร้อนและแสงแดดรุนแรง กระจกนำพาความร้อนเข้าอาคารมาได้ง่ายมาก

แสงเข้า ความร้อนเข้า

กระจกเป็นวัตถุทึบตันแต่โปร่งใส การนำความร้อนเข้ามามีทั้งแสงแดดที่ส่องเข้ามาโดยตรง หรือ การแผ่รังสีความร้อนเมื่อตัวกระจกมีความร้อนสะสมในตัวเอง การกันความร้อนจึงมีหลายรูปแบบ เช่น กระจกที่ติดฟิล์มหรืออบเคลือบผิวหน้าเพื่อสะท้อนแสงส่วนหนึ่งออกไป หรือผสมผงออกไซด์ลงในเนื้อกระจก ซึ่งทำให้แสงสว่างที่เข้ามาภายในอาคารลดลงไปด้วย มากบ้างน้อยบ้าง ว่ากันโดยคร่าวกลเม็ดทั้งหมดที่พยายามลดความร้อนเข้าอาคารจากกระจกคือการพัฒนาเนื้อและผิวกระจกให้สะท้อนและส่งผ่านความร้อนได้น้อยลง แต่ส่วนใหญ่จะวนเวียนอยู่กับปัญหา สะท้อนแสงออกไปมาก แสงก็เข้ามาน้อย สะท้อนแสงออกไปน้อย แดดก็เข้า หรือไม่ตัวเนื้อกระจกก็ดูดซับความร้อนอยู่ในตัวเองแล้วแผ่เข้าห้องอยู่ดี เพราะฉะนั้นนอกจากการพัฒนาเนื้อและผิวกระจก ยังมีเทคนิคการนำกระจกมากักขังอากาศไว้ให้เป็นฉนวนช่วยกันความร้อนอีกด้วย

กระจกที่ใช้อากาศเป็นฉนวน

กระจกประเภทนี้เรียกว่า Insulation Glass ซึ่งเป็นกระจกที่ประกอบด้วยกระจก 2 แผ่นขึ้นไป นำมาเรียงตัวกันโดยมีอากาศขั้นอยู่ตรงกลาง อากาศที่ว่านี้จะต้องเป็นอากาศนิ่ง แห้ง หรืออาจเป็นก๊าซเฉื่อย เจ้าอากาศตรงกลางนี่แหละที่ทำหน้าที่เป็นฉนวนกันความร้อนเข้ามาในอาคาร ส่วนแผ่นกระจกทั้ง 2 แผ่นที่นำมาประกอบกันก็ใช้กระจกได้หลากหลายชนิด โดยคุณสมบัติของกระจกและก๊าซตัวกลางที่เลือกใช้ทำให้กระจก Insulation Glass มีคุณสมบัติในการกันความร้อนได้ดีต่างๆกันไป ประสิทธิภาพการสะท้อนความร้อนของกระจกประเภทนี้ อาจสามารถสะท้อนความร้อนได้ถึงประมาณ 80% และสามารถกันรังสี UV ได้มากกว่า 90% (ขึ้นอยู่กับประเภทกระจกและก๊าซ) จุดเด่นของ Insulation Glass คือ กันความร้อนได้ดี และแสงยังเข้ามาได้มาก เมื่อเทียบกับกระจกที่ป้องกันความร้อนโดยการปรับปรุงผิวหรือเนื้อกระจกอย่างเดียว

นอกจากนั้นยังสามารถกันเสียงรบกวนจากภายนอกได้ดีมากอีกด้วย และเนื่องจากกระจกประเภทนี้จะต้องเก็บรักษาอากาศตรงกลางไว้อย่างดี จึงต้องมีขอบกักอากาศชัดเจน โดยทำมาจากโครงอลูมิเนียมเล็กๆกั้นรอบแผ่นกระจก กระจก Insulation Glass จึงต้องทำในขนาดเพื่อการใช้งานนั้นๆโดยเฉพาะ ไม่สามารถนำมาตัดแต่งให้เข้ากับสภาพหน้างาน หรือนำกลับไปตัดแบ่งใช้ใหม่ได้ แน่นอนครับ

กระจกประเภทนี้ต้องสั่งทำและมีราคาสูง ลำพังตัวกระจกอาจจะสูงไม่มากนัก แต่เนื่องจากกระจกชนิดนี้ต้องการกรอบที่มีลักษณะเฉพาะ จึงทำให้ราคาโดยรวมสูงขึ้น (ราคากระจกระบบนี้รวมกรอบสำหรับตึกสูงมีราคาประมาณ 14,000 บาทต่อตารางเมตร) มักใช้กับอาคารที่ต้องการการควบคุมอุณหภูมิภายในอาคารมากๆ เช่น พิพิธภัณฑ์ อาคารเก็บอาหาร สำนักงานหรือโรงแรมหรูที่เน้นการประหยัดพลังงานอย่างยิ่ง และหลีกเลี่ยงแสงแดดไม่ได้ กระจก Insulation Glass จึงกลายเป็นอีกตัวเลือกหนึ่งของการอนุรักษ์พลังงาน สู้แดดร้อน และยังได้แสงธรรมชาติเข้ามาใช้งานอาคารได้ในตัวเลือกเดียวกัน

จากใจ
ZmyHome
กดแชร์เป็นกำลังใจให้ทีมงานด้วยครับ
บทความอื่นๆ
  • ค้นหาบ้านคอนโด

    ต้องการซื้อ หรือเช่า บ้าน คอนโด ตรวจ สอบราคา เช็คค่าเช่า ติดต่อตรงกับเจ้า ของตัวจริง ทุกทำเล ทั่วประเทศ

    ค้นหา
  • ลงประกาศ

    ต้องการขาย หรือปล่อยเช่า บ้าน คอนโด เพียงคุณเป็นเจ้าของตัวจริง และพร้อมที่จะลงประกาศอย่างมีคุณภาพ เพื่อให้ผู้ซื้อศึกษา อย่างสะดวกที่สุด ก็ลงประกาศ ได้เลย

    ลงประกาศ