รอยร้าวริมประตูหน้าต่าง เกิดจากอะไร ป้องกันได้หรือไม่?
รอยร้าวขนานตามแนววงกบรอบประตู เกิดจากการแยกตัวระหว่างผิววงกบและผิวปูนหรือผนัง พูดแบบโลกไม่สวย อาการนี้จัดเป็นอาการตามธรรมชาติ มีโอกาสเกิดขึ้นได้เสมอ สาเหตุเพราะเมื่อวัสดุก่อ ฉาบ แห้งตัว อัตราการหดตัวของผนังและปูนฉาบจะไม่เท่ากับวงกบ ย่อมจะทำให้เกิดรอยแยกออกจากกันได้ ปูนจึงแตกแยกออกจากวงกบไม้
แต่อาการที่เกิดขึ้นตามธรรมชาติ แก้ไขหรือลดปัญหาได้ด้วยการปฏิบัติตามวิชาช่างที่เหมาะสม เช่นผสมปูนได้ถูกสัดส่วน ไม่รีบร้อนทำให้ปูน (ก่อ ฉาบ) แห้งเร็วเกินไป ฉาบปูนได้ความหนาพอดี รวมถึงฝังเหล็ก (ส่วนใหญ่มักใช้ตะปู) ยึดระหว่างวงกบไม้ทุกระยะ 20-30 ซม. แล้วจึงหล่อคานเอ็นเสาเอ็นรอบวงกบ วงกบก็จะยึดติดกับผนังได้อย่างแน่นหนา
หากทำตามหลักข้างต้นทั้งหมดได้ จะทำให้อัตราการยึดหดตัวระหว่างปูนกับวงกบไม้กระจายตัวมากขึ้น สามารถ “ลด” ปัญหารอยแตกร้าวได้ อย่างไรก็ดี เมื่อมีการใช้งานเปิดปิดประตูหน้าต่างนานๆ ไป ประตูหน้าต่างที่มีแรงกระแทกจากการเปิดปิด หรือการยึดหดตัวของวงกบเมื่อผ่านฤดูกาลนานๆ ไป ก็อาจทำให้เกิดรอยร้าวขึ้นได้บ้าง ซึ่งหากร้าวเพียงเล็กน้อยก็ซ่อมแซมได้ด้วยการใช้สีทาผนังทาอุดรอยร้าว หากร้าวมากหน่อยก็ใช้วัสดุยาแนวอุด
แต่หากรอยร้าวมีขนาดใหญ่มาก เช่นร้าวเข้าไปลึกเกินกว่าปูนฉาบ ก็สันนิษฐานได้ว่าช่างไม่ได้ปฏิบัติตามวิชาช่างข้างต้น
ส่วนอาการรอยร้าวตามมุมวงกบ จะเกิดได้สองระดับ หากเป็นระดับปูนฉาบ มักเป็นรอยร้าวเฉียงๆ เส้นบางๆ ออกจากมุมวงกบ ซึ่งเกิดเพราะการหดตัวของปูนฉาบอีกเช่นกัน ซึ่งในกรณีนี้ การหดตัวของผืนผนังข้างวงกบและผืนผนังบนวงกบที่หดไปคนละทิศคนละทางทำให้เกิดรอยร้าวฉีกออกจากกันตามแนวเฉียง ซึ่งหากตอนก่อสร้างใช้ลวดกรงไก่ติดฝังไว้ในปูนฉาบบริเวณมุมวงกบก็จะช่วยยึดให้ปูนฉาบไม่แตกร้าวได้
แต่หากเป็นรอยร้าวที่มุมวงกบ และร้าวลึกเข้าไปเนื้อผนัง ไม่ว่าเป็นเส้นตั้ง เส้นนอน หรือเส้นทแยง มักเกิดจากการละเลยไม่ทำเสาเอ็นคานเอ็นรอบประตูหน้าต่างให้ครบถ้วน ซึ่งโดยปกติแล้ว รอบวงกบประตูหน้าต่าง ควรต้องทำเสาเอ็นคานเอ็นล้อมกรอบเอาไว้ภายในผนัง เสาเอ็นคานเอ็นก็คือโครงเสาและคานขนาดเล็กที่ฝังไว้ในผนัง ซึ่งมีการเสริมเหล็กเพิ่มความแข็งแรงมากกว่าผนังก่ออิฐ
หากประตูหน้าต่างของท่านไร้ซึ่งเสาเอ็นและคานเอ็นรัดรอบไว้ ผนังจะแข็งแรงไม่เพียงพอ ผนังอิฐก่อจะทิ้งน้ำหนักลงบนวงกบ (ซึ่งไม่ได้แข็งแรงพอจะรับน้ำหนักผนังโดยตรง) และเนื่องจากประตูหน้าต่างเป็นช่องโล่งทะลุ บริเวณมุมกรอบประตูหน้าต่างซึ่งเป็นจุดอ่อนของผนังก็จะฟ้องตัวเองขึ้นมาเกิดเป็นรอยร้าว กรณีที่มีแค่คานเอ็นแต่ไม่มีเสาเอ็น รอยร้าวมักจะปรากฏตามแนวนอน หากมีแต่เสาเอ็นไม่มีคานเอ็น รอยร้าวจะปรากฏตามแนวตั้ง หากไม่มีทั้งเสาเอ็นและคานเอ็น ก็จะร้าวเป็นรอยเฉียง และทั้งหมดจะร้าวถึงเนื้อในผนัง ซึ่งวิธีป้องกันร้อยร้าวประเภทนี้ ก็คือการทำเสาเอ็นทับหลังให้ถูกต้องตั้งแต่ตอนก่อสร้างเท่านั้น
จากใจ
ZmyHome
ฝากกดแชร์เป็นกำลังใจให้ด้วยครับ