• 7 พ.ค. 2561

ซิลิโคน ที่ไม่ใช่ ซิลิโคน

เราไม่ได้กำลังพูดถึงเทคโนโลยีการศัลยกรรม แต่กำลังจะพูดถึงวัสดุอุดรอยรั่วยอดนิยมในวงการก่อสร้างที่ถูกเรียกว่า “ซิลิโคน”

 “ซิลิโคน”
ที่เราได้ยินกันบ่อย ๆ ในงานก่อสร้าง มักบรรจุมาในหลอดทรงกระบอก โดยมีปากปลายแหลม ใช้คู่กับ “ปืน” ยิงซิลิโคน เอาไว้อุดรอยต่อเฟอร์นิเจอร์ ประตูหน้าต่าง หรือแม้แต่ รอยรั่วตามผนัง แต่ท่านทราบหรือไม่ว่า “ซิลิโคน” ที่เราเรียกกันติดปากนั้น บางชนิดไม่ใช่ “ซิลิโคน”??

เพราะเจ้าสารเคมีที่เอาไว้ใช้ยาแนวที่ว่ามีหลายชนิด ผลิตจากสารเคมีคนละตัว และมีอิทธิฤทธิ์ที่แตกต่างกันไป

ซิลิโคน ที่ทำมาจากซิลิโคนแท้ ๆ นั้น มีชื่อทางเทคนิคช่างว่า Silicone Sealant (ใช้สำหรับอุดยาแนว) หรือ Structural Silicone (ชนิดนี้มีแรงยึดเกาะแน่นหนามาก) มักใช้กับงานก่อสร้างจริงจัง มีความแข็งแรงสูง เช่น ใช้ยึดกระจกหรือแผ่นวัสดุบนตึกสูง หรือยาแนวรอยต่อโครงสร้างที่มีโอกาสเคลื่อนตัวมาก ๆ เป็นต้น

ซิลิโคนจะไม่แข็งแรงได้อย่างไร เพราะซิลิโคนมีสารประกอบเป็นซิลิกอนและออกซิเจน ซึ่งซิลิกอนเองเป็นสารประกอบกึ่งโลหะ ตัวเดียวที่เป็นสารประกอบของ แก้ว ทราย กระจก ซึ่งเป็นสารส่วนใหญ่ภายในเปลือกโลกของเรา

นอกจากความคงทนแล้วซิลิโคนยังมีการยึดเกาะที่แข็งแรง แต่มีข้อเสียคือทาสีไม่ติด และมีรายละเอียดการใช้งานซับซ้อน เช่น บางชนิดมีฤทธิ์เป็นกรดเมื่อแห้ง ทำให้ไม่เหมาะที่จะใช้กับโลหะ เพราะจะทำให้เกิดสนิม รวมถึงไม่เหมาะที่จะใช้กับหินอ่อน ปูนซีเมนต์ หินแกรนิต เพราะหินพวกนี้มีความเป็นด่าง จะทำให้คุณสมบัติของซิลิโคนไม่ได้ดังใจ ซิลิโคนชนิดที่เป็นกรดนี้จึงมักใช้กับงานกระจกเป็นหลัก แต่หากจะยาแนวผนังปูน รอยต่อหินแกรนิต หินอ่อน ควรเลือกใช้ซิลิโคนที่เมื่อแห้งแล้วมีฤทธิ์เป็นกลาง 

การใช้กาวยาแนวซิลิโคนข้างต้นยังมีลักษณะการใช้เฉพาะตัวอีกอย่างคือ ควรใช้ยาแนวเป็นแผ่นฟิล์มปิดรอยต่อที่ใหญ่พอประมาณ (4-6 มม.) ไม่ควรใช้อุดหรืออัดเข้าไปในรอยต่อ ซึ่งการตะบี้ตะบันอุดรอยต่อจะทำให้เสียคุณสมบัติการยึดเกาะและการป้องกันการรั่วซึม เรียกได้ว่าหากใช้มากเกิน ทุ่มทุนมากไป จะกลายเป็นเสียของ

ส่วนสารอีกสองประเภทที่ถูกเรียกว่า “ซิลิโคน” ที่เรามักใช้อุดรอยรั่ว ยาแนวปิดรอยต่อกันประจำกลับไม่ใช่ซิลิโคน แต่เป็นสารประเภท อะคริลิค หรือไม่ก็ โพลียูรีเทน ก่อนอื่นต้องขอคืนชื่อจริงให้กับสารทั้งสองก่อนว่าควรเรียกว่า “Acrylic Sealant” และ “Polyurethane Sealant” หรือกาวยาแนวอะคริลิค และกาวยาแนวโพลียูรีเทน

  • กาวยาแนวอะคริลิค มีสารประกอบตัวเดียวกับสีอะคริลิคทาบ้าน จึงมีความยืดหยุ่นทนทานพอประมาณ ทาสีทับได้
  • กาวยาแนวโพลียูรีเทน ก็มีคุณสมบัติคล้ายกัน แต่จะมีแรงยึดเกาะหนาแน่นกว่า แข็งแรงกว่ากาวยาแนวอะคริลิค จึงมักใช้กับรอยแตกร้าวที่มีโอกาสขยับขยายตัวมากกว่า

ทั้งกาวยาแนวอะคริลิคและกาวยาแนวโพลิยูรีเทนเหมาะสำหรับงานอุด ยาแนว และมีประเภทให้เลือกใช้ไม่มาก รายละเอียดการใช้งานไม่ซับซ้อน ไม่ต้องการมืออาชีพขนาดกาวยาแนวซิลิโคน เรียกว่าอุดเข้าไปให้สนิทเป็นใช้ได้ ฉะนั้นสำหรับงานซ่อมรอยร้าวผนัง ยาแนวรอยต่อเฟอร์นิเจอร์ DIY ทั่วไปจึงแนะนำให้ใช้มากกว่า เพราะแม้จะทนทานน้อยกว่า แต่ก็มีโอกาสใช้ผิดพลาดจนเสียของน้อยกว่าเช่นกัน

อย่างไรก็ตาม ความเคยชินทั่วไปของผู้คนมักเรียกวัสดุยาแนวทรงกระบอกพร้อมปืนยิงทั้งหมดว่าซิลิโคนจนติดปาก แต่หากจะถามหาให้ถูกหลักวิชาการ ก็ควรถามหา “กาวยาแนวอะคริลิค” หรือ “กาวยาแนวโพลิยูรีเทน” แทนจะถูกต้องและชัดเจนกว่า


จากใจ
ZmyHome
ฝากกดแชร์เป็นกำลังใจให้ด้วยครับ

บทความอื่นๆ
  • ค้นหาบ้านคอนโด

    ต้องการซื้อ หรือเช่า บ้าน คอนโด ตรวจ สอบราคา เช็คค่าเช่า ติดต่อตรงกับเจ้า ของตัวจริง ทุกทำเล ทั่วประเทศ

    ค้นหา
  • ลงประกาศ

    ต้องการขาย หรือปล่อยเช่า บ้าน คอนโด เพียงคุณเป็นเจ้าของตัวจริง และพร้อมที่จะลงประกาศอย่างมีคุณภาพ เพื่อให้ผู้ซื้อศึกษา อย่างสะดวกที่สุด ก็ลงประกาศ ได้เลย

    ลงประกาศ