หน้าแล้งใกล้เข้ามา ต้องเตรียมน้ำประปาไว้กี่ลิตร?
การมีถังเก็บน้ำช่วยลดความเสี่ยงเวลาน้ำประปาจากท่อขาดช่วง และยังช่วยให้แรงดันน้ำภายในบ้านใช้ได้ดี เพราะแรงดันน้ำจากท่อประปามักไม่สม่ำเสมอและไม่เพียงพอ หากมีถังเก็บน้ำที่ต่อพ่วงด้วยปั๊มน้ำ แรงดันน้ำก็อยู่ในความควบคุมของปั๊มในบ้านเรา
ก่อนอื่นคงต้องขออธิบายตรงนี้ก่อนว่า การต่อปั๊มน้ำเข้ากับท่อประปาโดยตรงเป็นเรื่องผิดกฎหมาย เพราะจะทำให้แรงดันน้ำในท่อประปาสาธารณะลดลง (แย่งแรงดันบ้านอื่นใช้) และยังเป็นอันตรายต่อปั๊มน้ำของตน เช่นในกรณีที่น้ำประปาขาด ปั๊มน้ำจะทำงานผิดปกติ หรือในกรณีมีเศษดินปนมาในน้ำประปา (อาจเกิดจากท่อแตกหรือระหว่างซ่อมท่อ) ขี้ดินทั้งหลายจะถูกดูดเข้าสู่ปั๊มน้ำโดยตรง แต่ถ้าน้ำประปาไหลเข้าถังเก็บน้ำก่อน ขี้ดินจะตกตะกอนลงก้นถังไปส่วนหนึ่งก่อน ไม่เข้าไปในปั๊มน้ำ ฉะนั้นจึงขอแนะนำว่า ไม่ควรต่อปั๊มน้ำเข้ากับท่อประปาโดยตรงไม่ว่ากรณีใด ๆ)
กลไกพื้นฐานของการเก็บน้ำเข้าถังจึงเป็นการเปิดน้ำประปาให้เข้าถังเก็บตลอดเวลา และหากถังน้ำเต็มเมื่อไหร่ กลไกลูกลอยในถังจะปิดก๊อกน้ำประปาอัตโนมัติ และน้ำจะไหลเข้าถังอีกครั้งเมื่อปริมาณน้ำในถังพร่องไป เพราะฉะนั้นหากน้ำประปาไหลแรงปกติ น้ำในถังเก็บน้ำก็ควรเต็มเกือบตลอดเวลา
คำถามที่ตามมาคือ ถังเก็บน้ำควรมีขนาดเท่าไหร่ ซึ่งเรื่องนี้มีสูตรคำนวณให้ แต่ต้องบวกกับการสังเกตสถานการณ์น้ำประปาในละแวกบ้านด้วยเช่นกัน
สำหรับบ้านพักอาศัยทั่วไป การใช้น้ำต่อคนต่อวันจะตกอยู่ที่ปริมาณ 200 ลิตร ตัวเลข 200 ลิตรนี้เพียงพอต่อการกิน (ต้ม)ดื่ม ทำความสะอาดร่างกาย ซักล้างและทำความสะอาดบ้านประจำวันทั่วไป เพราะฉะนั้นหากบ้านเรามีสมาชิกทั้งหมด 5 คน ก็จะใช้น้ำประมาณ 1,000 ลิตรต่อวัน
ทีนี้ก็ต้องกลับมาดูว่าโดยปกติ แถวบ้านที่เราอยู่จะมีโอกาสที่ท่อประปาขาดน้ำได้กี่วัน (โดยดูจากสถิติปีที่แล้ว ๆ มา) หากมีโอกาสขาดน้ำประปา 1 วันก็ให้เผื่อถังเก็บน้ำไว้ประมาณ 1,000 ลิตรเป็นอย่างน้อย ส่วนถ้าจะเผื่อไว้ 2 วัน ก็ 2,000 ลิตร
แต่ถ้าหากมีกิจกรรมการใช้น้ำเพิ่มเติมจากชีวิตประจำวัน เช่น การรดน้ำต้นไม้จำนวนมาก หรือการล้างรถ ในวันที่น้ำประปาขาดช่วง ตัวเลขปริมาณน้ำสำรองที่เตรียมไว้อาจไม่เพียงพอ และจากระบบการเก็บน้ำประปาในถังเก็บน้ำที่อธิบายไปข้างต้น เราจะไม่มีโอกาสรู้เลยว่าน้ำประปาหยุดไหลไปเมื่อไหร่ (เพราะน้ำในบ้านมีให้ใช้ตลอดเวลาถ้าถังน้ำยังมีน้ำอยู่) หากเผลอล้างรถ รดต้นไม้ไป น้ำที่เตรียมไว้อาจไม่พอใช้
ฉะนั้นในหน้าแล้ง หรือช่วงที่น้ำประปามีโอกาสขาดช่วง จึงควรหาโอกาสตรวจสอบว่าน้ำในถังเก็บน้ำพร่องไปหรือไม่ หากเป็นถังเก็บน้ำที่อยู่ใกล้ตัวก็ตรวจสอบง่ายหน่อย แค่เคาะดูว่าน้ำเต็มหรือไม่ (เพราะถ้าน้ำไม่ขาด น้ำควรเกือบเต็มถังตลอดเวลา) หรือฟังเสียงดูว่ามีน้ำไหลเติมเวลาใช้น้ำออกไปไหม เท่านี้ ก็เป็นการตรวจสอบเบื้องต้นว่าเรายังมีน้ำสำรองเพียงพอหรือเปล่า
แต่หากถังเก็บน้ำอยู่ไกลตัวก็ยังมีวิธีตรวจสอบอีกแบบ คือในกรณีที่เราใช้น้ำจำนวนมากออกไปจากถังเก็บน้ำสักพัก น้ำประปาจะต้องเติมเข้าถังอัตโนมัติ ในเวลานั้นมิเตอร์น้ำก็ควรจะต้องหมุนตามไปด้วย หากน้ำประปาไหลปกติ มิเตอร์น้ำก็จะต้องทำงานด้วยเช่นกัน
จากการสังเกตและการคำนวณที่ว่า เราก็จะมีน้ำสำรองไว้เพียงพอต่อการใช้งานผ่านช่วงที่มีโอกาสขาดน้ำประปาได้อย่างไม่ขาดแคลน
จากใจ
ZmyHome
ฝากแชร์เป็นกำลังใจด้วยนะครับ