• 29 มี.ค. 2562

กะ เก็ง เล็ง วัด ด้วยส่วนสัดในร่างกาย

          เคยหรือไม่ครับ ขณะที่ดูบ้าน ดูห้อง ดูเฟอร์นิเจอร์ แล้วอยู่ดี ๆ ก็อยากรู้ว่าเจ้าห้องนี้หรือตู้นี้มันขนาดประมาณเท่าไหร่ แต่หันไปรอบตัว ล้วงกระเป๋ากางเกงก็แล้ว กระเป๋าอุปกรณ์ก็แล้ว ดันไม่เจอไม้บรรทัดหรือตลับเมตรสักอัน ปัญหานี้แก้ได้ไม่ยากหากเป็นผู้ชำนาญการกะขนาด จากประสบการณ์บางคนสามารถคาดเดาได้ว่าขนาดที่ต้องการวัดเป็นเท่าใด แต่วันนี้ ZmyHome มีเคล็ดลับมาฝาก นั่นก็คือ การเทียบวัดจากขนาดของอวัยวะและร่างกายเราเอง

          เนื่องจากเป็นการใช้ส่วนของร่างกายเป็นสายวัด อย่างแรกเลยเราต้องเก็บสถิติว่าร่างกายเราขนาดเท่าไหน ซึ่งอวัยวะส่วนที่จะใช้วัดนั้นควรจะมีขนาดที่แน่นอน มิใช่ยืดได้หดได้ แน่นอนว่าคนส่วนใหญ่ย่อมรู้ความสูงของตัวเอง ฉะนั้นถ้าอยากรู้ว่าห้องกว้างเท่าไหร่ ก็ให้เอาตัวเรานอนทาบพื้นลงไป....ม่ายช่ายยยย

          อันที่จริงธรรมชาติสร้างสรรค์วิธีวัดที่ง่ายกว่านั้น เพราะ ระยะปลายนิ้วฝั่งหนึ่งถึงอีกฝั่งเมื่อเรากางแขนออกสุด จะใกล้เคียงกับระยะความสูงของตัวเรา ฉะนั้นถ้าสงสัยว่าห้องด้านนี้ด้านนั้นกว้างเท่าไหร่ ก็กางแขนออกไปแล้วทาบโดยประมาณไปเรื่อยๆ ก็จะได้ความกว้างความยาวของห้องโดยประมาณว่าเป็นตัวเรากี่คนหรือกี่คนครึ่ง

          แต่ถ้าระยะที่จะวัดมันย่อยกว่า หากรู้ว่าระยะ 1 คืบของเรามีขนาดประมาณเท่าไหร่ก็ช่วยได้เช่นกัน อย่างกรณีผู้เขียนมีระยะ 1 คืบกางประมาณ 20 ซม. อยากรู้ว่าอะไรขนาดเท่าไหร่ ก็กางกระดึ๊บกระดึ๊บแล้วนับไป วิธีนี้ยังอาจให้ระยะได้อย่างแม่นยำ ถ้าประกอบกับความรู้เรื่องวัสดุก่อสร้างไปด้วย เช่นเมื่อห้องปูด้วยพื้นกระเบื้อง ก็ให้เอาคืบวัดขนาดกระเบื้องไป และเนื่องจากกระเบื้องมักมีขนาดมาตรฐาน ไม่ 10, 20, 25, 30, 40 ก็ 60 ซม. พอวัดขนาดกระเบื้องได้ ก็ต่อไปที่การนับจำนวนกระเบื้อง

          สำหรับคนทำงานก่อสร้างจริงจัง อาจจะจำสถิติขนาดร่างกายมากกว่านั้นอีก (คนไม่ได้ทำจริงจังก็รู้ไว้ใช่ว่า) เช่นการรู้ระยะก้าวของเราว่า 1 ก้าวมีระยะประมาณเท่าไหร่ ก็สามารถนำไปใช้วัดที่ดินผืนย่อมๆ ได้เลย เรื่องนับก้าวมีเคล็ดลับอยู่นิดหน่อย นั่นก็คือเวลาอยากรู้ว่า 1 ก้าวของเรามีระยะเท่าไหร่ จะไม่ใช้วิธีก้าว 1 ก้าวแล้ววัดเอาเป็นเซนติเมตร แต่จะให้ใช้ระยะมากหน่อยขึ้นมาตั้ง เช่น ตั้งระยะไว้สัก 20 เมตร แล้วดูว่าในระยะ 20 เมตร เราใช้ระยะก้าว “ปกติ” กี่ก้าวกัน ทดลองแบบนี้สัก 3-4 ครั้ง จากนั้นก็จำค่าเฉลี่ยเก็บไว้ในใจ เน้นย้ำว่า ต้องเป็นก้าวปกติ อย่าฝืนก้าว เพราะในสภาพหน้างานและสภาพความเกร็งต่างกัน ระยะก้าวปกติจะแม่นยำกว่าระยะฝืนก้าว


          อันที่จริงเดี๋ยวนี้มี application ในมือถือมากมาย ที่ช่วยให้เราวัดพื้นที่ได้ง่ายดายขึ้น แต่จากประสบการณ์ผู้เขียน ยังไม่มี application ไหนที่มีความแม่นยำจนเชื่อถือได้แน่นอน 100% และหากวัดระยะสั้นๆ ระดับ 10 เซนติเมตรก็ยิ่งมีแนวโน้มผิดพลาดมาก ฉะนั้นเทคนิคใช้ร่างกายเทียบวัดยังคงเป็นเทคนิคที่ดีที่สุดเมื่อเราไม่มีอุปกรณ์ ที่สำคัญคือ เทคนิคนี้ยิ่งหัดใช้มาก ก็จะยิ่งเพิ่มเซนส์ของการกะระยะขนาดด้วยสายตาของเราไปด้วยในตัว ยิ่งใช้ก็ยิ่งชำนาญ ยิ่งชำนาญก็ยิ่งแม่น แถมยังดูดี มีทักษะแฝงเร้นติดตัวอีกต่างหาก



จากใจ
ZmyHome
ฝากแชร์เป็นกำลังใจด้วยนะครับ
บทความอื่นๆ
  • ค้นหาบ้านคอนโด

    ต้องการซื้อ หรือเช่า บ้าน คอนโด ตรวจ สอบราคา เช็คค่าเช่า ติดต่อตรงกับเจ้า ของตัวจริง ทุกทำเล ทั่วประเทศ

    ค้นหา
  • ลงประกาศ

    ต้องการขาย หรือปล่อยเช่า บ้าน คอนโด เพียงคุณเป็นเจ้าของตัวจริง และพร้อมที่จะลงประกาศอย่างมีคุณภาพ เพื่อให้ผู้ซื้อศึกษา อย่างสะดวกที่สุด ก็ลงประกาศ ได้เลย

    ลงประกาศ