“เดินลอย” ตกลงจะเดินหรือจะลอยกันแน่?
คำว่า “เดิน” ในคำว่าเดินลอยนั้น จึงมีความหมายถึงการเดินสายไฟ เดินเส้นท่อ ซึ่งเดินในที่นี้เท่ากับการติดตั้งอุปกรณ์เป็นเส้นเป็นแนว คำว่าเดินลอยจึงหมายถึง การติดตั้งที่ลอยออกมาจากผนัง ซึ่งคำตรงข้ามก็คือคำว่า “เดินฝัง” นั่นเอง
โดยทั่วไปแล้วงานระบบทั้งไฟทั้งประปา มักจะถูกเดินฝังผนังไว้อย่างเรียบร้อย สบายตา แต่การฝังผนังนั้นเป็นงานที่ต้องใช้ทั้งแรงงานและความร่วมมือระหว่างช่างที่ก่อผนังและช่างที่ทำงานระบบ ต้องให้ช่างงานระบบวางแนวท่อให้เรียบร้อยก่อนที่จะเริ่มให้ช่างก่อฉาบ ก่อผนัง ซึ่งบางครั้งหากมีการเปลี่ยนแปลง หรือเกิดความผิดพลาด อาจจะต้องมีการกรีด สกัดหรือทุบผนังออก แล้วเดินท่องานระบบเพิ่มเติม ซึ่งจะทำให้ผนังมีตำหนิ แม้ฉาบทับได้เรียบร้อยแต่ก็อาจจะแตกร้าวภายหลัง บางครั้งท่อใหญ่หรือเยอะไป ผนังมีความหนาไม่พอให้ท่อหลบหลีกกัน หรือวันดีคืนดีจะเจาะรูผนัง อาจจะดันไปเจาะในแนวท่อไฟท่อประปา ทำให้เกิดไฟช็อต น้ำรั่ว ก็มี
นอกจากนี้ การเดินงานระบบในผนังนั้นตรวจสอบและแก้ไขยาก หากเกิดความผิดพลาด ก็ต้องทุบผนังออก หรือแม้แต่การหาจุดผิดพลาดยังอาจจะยากเย็นเพราะไม่เห็นว่าความผิดพลาดอยู่ตรงไหน เช่น เมื่อท่อน้ำในผนังรั่ว น้ำอาจจะไหลอยู่ภายในจนมานองอยู่ตรงฐานผนัง โดยจุดที่แตกนั้นไม่มีน้ำซึมออกมาแม้แต่น้อย
การเดินฝังงานระบบแม้สุดท้ายจะดูเรียบร้อยจึงมีความยุ่งยากต่อการจัดการมากมาย ซึ่งแม้จะพอจัดการได้ แต่อย่างน้อยการเดินลอยก็ยุ่งยากน้อยกว่า
การตัดสินใจเดินลอยช่วยประหยัดเวลา เพราะช่างงานระบบและช่างก่อฉาบไม่จำเป็นต้องรอกัน การตรวจสอบ ซ่อมแซมแก้ไขก็ทำได้ง่าย หรือในการปรับปรุงอาคารเก่าขึ้นมาใหม่ การเดินลอยก็เป็นทางเลือกที่น่าสนใจ เพราะไม่ต้องไปวุ่นวายกับการรื้อและตรวจสอบงานระบบเดิม ซึ่งเราไม่สามารถแน่ใจได้เลยว่ายังใช้งานได้ดีอยู่หรือเปล่า
และสำหรับการตกแต่งในยุคนี้ การเดินงานระบบลอย ๆ กลายเป็นรูปแบบที่นิยม หลายคนชอบลุคการตกแต่งแบบเดินงานระบบลอย ๆ มากกว่าแบบเรียบกริบ ซึ่งถ้าจะให้สวย ก็ต้องใส่ใจในการเลือกวัสดุของท่อต่าง ๆ ว่าเหมาะกับสไตล์ที่เราฝันไว้หรือไม่ (บางสไตล์อาจจะต้องใช้งบเพิ่มมากกว่าปกติ เช่น ต้องใช้ท่อกัลวาไนซ์ เป็นต้น) และต้องออกแบบวางแนวเดินท่อให้เรียบร้อยสวยงาม
ส่วนข้อคิดที่สำคัญอีกเรื่อง คือต้องคอยระวังไม่ให้ท่อที่เดินลอยเป็นอุปสรรคต่อการจัดวางเฟอร์นิเจอร์ชิดผนัง เพราะท่อหรือสวิตซ์ที่เดินลอยมีความหนาออกมา ทำให้เฟอร์นิเจอร์ไม่สามารถวางชิดผนังในตำแหน่งนั้นๆ ได้ (สไตล์การตกแต่งที่ให้งานระบบเดิน “ลอย” ส่วนใหญ่ จึงมักอยู่คู่กับการวางเฟอร์นิเจอร์ “ลอย” ตัว)
จากใจ
ZmyHome
ฝากกดแชร์เป็นกำลังใจด้วยนะครับ