ตกท้องช้าง คืออะไร? ตกลงมาแล้วเจ็บมั้ย?
ตกท้องช้าง หมายถึง อาการโค้งที่แอ่นตัวลง เหมือนท้องช้างที่ทนแรงดึงดูดของโลกไม่อยู่ แม้ว่าจะมีขาช้างค้ำยันไว้ทั้งสี่ด้าน แต่น้ำหนักที่มากก็ยังกระทำให้ท้องแอ่นลงตรงกลางจนได้ อาการตกท้องช้างมีโอกาสเกิดขึ้นกับการก่อสร้างหลายจุด ที่ตอนแรกตั้งใจจะให้มันเรียบตรงขนานกับพื้นโลก แต่ด้วยระยะเวลาและน้ำหนัก สิ่งที่ขนานเป็นระนาบอยู่ ก็ถูกแรงดึงดูดกระทำจนส่วนกลางระหว่างจุดค้ำมันก็ค่อย ๆ โค้งลง
ยกตัวอย่างเช่น ชั้นไม้ที่ใช้วางของ หากแผ่นไม้ที่ใช้บางไป หรือจุดที่ค้ำแผ่นไม้เอาไว้มีระยะพาดกว้างเกิน หรือของที่วางมีน้ำหนักมาก ชั้นก็จะเกิดอาการแอ่นตัว ซึ่งเรียกว่าชั้นตกท้องช้างได้ ทางแก้ดูเหมือนจะมีสามทาง หนึ่งคือใช้ชั้นที่มีความหนามากขึ้น หรือสองคือเพิ่มจุดค้ำมากขึ้น สามคือเอาน้ำหนักออกไป แล้วอย่างไรจะดีกว่ากัน?
คำตอบไม่ตายตัว สมมติในกรณีนี้ การใช้ชั้นที่มีความหนามากขึ้น ก็มีโอกาสที่จะทำให้น้ำหนักของตัวชั้นเอง (ไม่ได้หมายถึงผู้เขียนนะ) มากขึ้นตามไปด้วย ยิ่งเร่งให้แอ่นกว่าเดิมเข้าไปใหญ่ การเพิ่มจุดค้ำ จึงเพลย์เซฟกว่า ส่วนการเอาน้ำหนักออก ก็ดูเหมือนจะผิดวัตถุประสงค์ของชั้นวางของไป
ยังมีอีกกรณีเช่น การใช้แผ่นไม้หรือคอนกรีตปูเป็นแผ่นพื้น ตัวแผ่นไม้เองมักจะต้องวางพาดอยู่บนตง ส่วนแผ่นคอนกรีตมักวางพาดระหว่างคาน กรณีนี้หากเลือกใช้ความหนาไม่เหมาะสมกับระยะพาดและน้ำหนัก แผ่นไม้ แผ่นคอนกรีตก็จะตกท้องช้างเช่นกัน ซึ่งทางแก้ก็คือซอยตงหรือซอยคานเพิ่ม หรือหาแผ่นไม้แผ่นคอนกรีตที่มีความหนาและความแข็งแรงเพิ่มขึ้นเพียงพอมาแทนที่
อีกกรณีตกท้องช้างที่พบได้คือ การเลือกใช้แผ่นยิปซั่ม โดยทั่วไปแผ่นยิปซั่มที่แนะนำให้ใช้ทำเป็นฝ้าจะบางกว่าแผ่นยิปซั่มที่ใช้ทำผนัง โดยแผ่นยิปซั่มที่ใช้กับฝ้าจะหนา 9 มม. ส่วนแผ่นยิปซั่มที่ใช้กับผนังจะหนา 12 มม. ผนังต้องใช้ยิปซั่มแผ่นหนากว่าก็เพราะเรื่องความทนทานกับการใช้งาน ส่วนฝ้าที่บังคับใช้แผ่นบางกว่า ก็เพื่อที่แผ่นฝ้าจะได้ไม่หนักเกินไปจนตกท้องช้างนั่นเอง ซึ่งจะเห็นได้ว่ากรณีนี้ ยิ่งหนาไม่ได้แปลว่ายิ่งดียิ่งทนแต่อย่างใด
ทั้งหมดคือคำอธิบายและวิธีแก้การ “ตกท้องช้าง” ในวงการก่อสร้าง เผื่อได้ยินจากช่างหรือคนรอบข้าง จะได้ไม่งงครับ
จากใจ
ZmyHome
ฝากกดแชร์เป็นกำลังใจด้วยนะครับ