UPS ไฟฉุกเฉินเสีย อย่าเพิ่งทิ้ง!?!?
ทั้งคู่มีส่วนประกอบหลักที่สำคัญเหมือนกัน ซึ่งนั่นคือ ตัวแบตเตอร์รี่เก็บสำรองไฟ ท่านที่คุ้นเคยกับการใช้เครื่องใช้ไฟฟ้าที่มีแบตเตอร์รี่ติดเครื่องย่อมรู้ดี ว่าตัวแบตเตอร์รี่นั้น เมื่อใช้งานไปแล้วมีการชาร์จไฟเข้าออกบ่อยๆ ครั้ง ตัวแบตเตอร์รี่ก็จะเสื่อมสภาพไป จะเสื่อมสภาพเร็วหรือช้าก็ขึ้นอยู่กับคุณสมบัติพื้นฐานและคุณภาพของแบตเตอร์รี่แต่ละประเภท รวมถึงการบำรุงรักษา เช่น แบตเตอร์รี่มือถือรุ่นใหม่ ๆ จะดีหน่อย เพราะทำมาจากวัสดุและเทคโนโลยีไฮโซ (ลิเธียมไอออน) แบตเตอร์รี่จึงทั้งเบา ทั้งอึด ทั้งทน ไม่สนว่าจะชาร์จบ่อยไม่บ่อยอย่างไร
แต่กับอุปกรณ์บ้านๆ อย่าง UPS และไฟฉุกเฉิน ที่แข่งขันกันที่ราคา และต้องเสียบชาร์จไว้ตลอดเพื่อจะทำหน้าที่เฉพาะกิจในบางเวลาเท่านั้น เทคโนโลยีที่ใช้จึงเป็นประเภทแบตเตอร์รี่แห้งซึ่งไม่ได้มีความเบาหรือทนทานมากมาย แบตเตอร์รี่ของ UPS และไฟฉุกเฉินทั่วไปจึงทั้งหนัก และมักจะหมดอายุไขการใช้งานในระยะเวลาไม่นาน โดยทั่วไปหากใช้งานสัก 2 ปี คุณภาพของแบตเตอร์รี่จะลดลงไม่เหมือนตอนเริ่มใช้งาน เช่น UPS ที่เคยสำรองไฟไว้ได้ 20 นาที ก็เหลือแค่ 5 นาที จากไฟฉุกเฉินที่ติดค้างได้ 10 ชม. ก็เหลือแค่ 2-3 ชั่วโมง และยิ่งเวลาผ่านเลยไป ก็อาจถึงขั้น “แบตเสื่อม” หรือ “แบตหมดอายุ” ซึ่งโดยทั่วไปจะฟ้องด้วยอาการไฟกระพริบถี่ ๆ ร้องเตือนว่าไฟชาร์จไม่เข้า แล้วแต่รุ่นกันไป และอุปกรณ์ก็จะใช้ไม่ได้อีกต่อไป เรียกง่าย ๆ ว่า “เสีย” เมื่อเกิดอาการนี้บางท่านอาจตัดสินใจทิ้งไป ซึ่งเท่ากับว่า อีกส่วนหนึ่งของอุปกรณ์ ซึ่งก็คือวงจรที่ยังใช้ได้ ก็ต้องถูกทำให้กลายเป็นขยะไปอย่างน่าเสียดาย
อันที่จริงหากมีไขควงและความเข้าใจพื้นฐานในการต่อวงจรง่าย ๆ เราสามารถสั่งซื้อแบตเตอร์รี่รุ่นที่เทียบเท่ากันมาเปลี่ยนใหม่ได้ ซึ่งการเปลี่ยนแบตเตอร์รี่นี่ไม่ได้มีอะไรซับซ้อนเลย แค่รู้จักใช้ไขควง (บางรุ่นไม่ต้องใช้ไขควงด้วยซ้ำ แค่ถอดแบตเตอร์รี่ออกมาเท่านั้น) แล้วต่อสายไฟขั้วบวกขั้วลบได้เท่านั้นเอง (ขออนุญาตไม่อธิบายขั้นตอนเพราะอุปกรณ์แต่ละชิ้นมีชิ้นส่วนและการประกอบต่างกัน แต่รับรองได้ว่าง่ายมาก ลองเสิร์ชหาทางเน็ตก็มีคนทำไว้แล้วบ้างครับ)
อุปสรรคอีกอย่างคือจะไปหาซื้อแบตเตอร์รี่อย่างไร รุ่นไหนดี ซึ่งคำแนะนำที่ง่ายที่สุดก็คือ ถอดแบตเตอร์รี่ที่เสียแล้วออกมา แล้วดูที่ตัวแบตเตอร์รี่ว่าระบุไว้ว่าเป็นรุ่นจุไฟกี่แอมป์ (Ah) แรงดันกี่โวลต์ (V) และมีขนาดกว้างยาวสูงเท่าไหร่ โดยทั่วไปแบตเตอร์รี่ที่ใช้ในอุปกรณ์เหล่านี้ในคุณสมบัติเหมือนกันจะมีให้เลือกได้มากมาย เพราะถูกผลิตขึ้นมาด้วยวัตถุประสงค์ให้เปลี่ยนกันได้อยู่แล้ว สั่งซื้อทางออนไลน์ได้เลย ส่วนใหญ่ราคาหลักร้อย ไม่ถึงพันเท่านั้นเอง
การเปลี่ยนแบตเตอร์รี่ใหม่ช่วยทำให้ UPS และไฟสำรองเรากลับมาใช้ได้เหมือนเดิม ไม่ต้องทิ้งให้ส่วนที่ยังใช้ได้กลายเป็นขยะ นอกจากนั้นยังประหยัดสตางค์ได้ เพราะค่าแบตเตอร์รี่ที่จะซื้อมาเปลี่ยนใหม่นั้น ถูกกว่าไปหาซื้ออุปกรณ์ทั้งชิ้นใหม่นับพัน
หากใครไม่ถนัดที่จะเปลี่ยนเอง ก็อาจจะหาร้านซ่อมเครื่องไฟฟ้าช่วยเปลี่ยนให้ ก็ยังนับว่าประหยัดกว่าซื้อใหม่แน่นอน ยิ่งถ้าเป็นร้านที่มีแบตเตอร์รี่ขาย แล้วเราซื้อกับเขา มักจะมีบริการเปลี่ยนให้ฟรี แต่อาจจะต้องขนอุปกรณ์ไปมากันหน่อย แถมแบตเตอร์รี่ที่หมดอายุแล้ว ร้านซ่อมเครื่องใช้ไฟฟ้าบางร้าน ยังรับซื้อในราคา 50-80 บาท อีกด้วย
ส่วนในกรณีที่แบตเตอร์รี่ยังใช้ได้ แต่วงจรเสีย ส่วนใหญ่เมื่อเสียบปลั๊กจะไม่เกิดไฟกระพริบหรืออาการใด ๆ หรือในกรณีไฟฉุกเฉิน ถ้ามีอาการโคมไฟไม่ติดบางดวง แสดงว่าหลอดไฟเสีย ไม่ได้เป็นที่แบตเตอร์รี่ ก็พิจารณาว่ายังพอใช้ได้หรือไม่ ซึ่งก็อาจจะส่งซ่อมได้ (แต่คงต้องพึ่งฝีมือช่าง) โดยไม่ต้องรีบทิ้งเช่นกัน (หรือถ้าซ่อมไม่ได้แล้วแบตเตอร์รี่ยังดีอยู่ ก็สามารถถอดแบตเตอร์รี่ออกมาใช้กับเครื่องอื่น แต่แบตเตอร์รี่ที่ถูกเก็บไว้นาน ๆ ก็จะเสื่อมสภาพไปตามระยะเวลาได้)
จากใจ
ZmyHome
ฝากกดแชร์เป็นกำลังใจด้วยนะครับ