ติดเหล็กดัดกันโจรได้ แต่จะติดจนไม่มีทางหนีไฟไม่ได้
แต่เหล็กดัดที่เป็นเครื่องป้องกันความปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สินของคนในบ้านเองนี่แหละ ที่บ่อยครั้งกลายเป็นกรงขังสร้างอันตรายให้กับคนภายในบ้านเช่นกัน โดยเฉพาะในยามที่เกิดเพลิงไหม้ อย่างเมื่อสักยี่สิบสามสิบปีก่อนก็มักจะพบข่าวหนาตา ว่าเกิดเพลิงไหม้ที่นั่นที่นี่แล้วผู้ประสบภัยหนีออกจากบ้านไม่ได้เนื่องจากติดเหล็กดัด
ฉะนั้นกฎหมายอาคารจึงมีมาตรฐานความปลอดภัยในการติดตั้งเหล็กดัดออกมาเมื่อปี พ.ศ.2532 กำหนดว่า อาคารในชั้นสองขึ้นไปทุกชั้นทุกคูหา จะต้องมีช่องเปิดของเหล็กดัดที่เปิดจากภายในได้ โดยมีช่องขนาดไม่ต่ำกว่า 60 ซม.x 80 ซ.ม.อย่างน้อยหนึ่งทางเพื่อเป็นทางหนีไฟ และเป็นช่องทางเข้าช่วยเหลือคนที่ติดอยู่ข้างในเมื่อเกิดเพลิงไหม้ได้ (จากกฎกระทรวงฉบับที่ 4 พ.ศ.2526 ข้อ 21 ทวิ ซึ่งข้อนี้เพิ่งถูกเพิ่มเติมขึ้นมาโดยกฎกระทรวงฉบับที่ 21 ในปี พ.ศ.2532)
กฎหมายข้อนี้ยังแตกต่างจากกฎหมายส่วนใหญ่ที่ออกมาแล้วไม่มีผลบังคับใช้ย้อนหลัง แต่กฎหมายฉบับนี้มีผลบังคับใช้ย้อนหลัง ซึ่งก็หมายความว่า หากเจ้าหน้าที่รัฐพบว่าอาคารใดก็ตามที่มีเหล็กดัดแล้วไม่ทำตามกฎหมายนี้ เจ้าหน้าที่มีสิทธิ์บังคับให้แก้ไขให้เป็นไปตามกฎนี้ได้ทันที (หรือรอได้อย่างมากก็ 90 วัน) โดยเจ้าของอาคารไม่มีสิทธิ์อ้างว่าเหล็กดัดที่ติดตั้งทำมาตั้งแต่ก่อนหน้ากฎหมายออกแล้วนานโข
ปัญหาส่วนใหญ่ที่เกิดขึ้นจึงย้อนไปสู่สถานการณ์ที่อธิบายข้างต้น คือ การติดตั้งเหล็กดัดในทุกวันนี้ส่วนใหญ่ทำกันเองโดยเจ้าของบ้าน ไม่ได้ทำโดยเจ้าของโครงการ และไม่ได้ถูกระบุไว้ในแบบขออนุญาตก่อสร้างอาคารแน่ ๆ เจ้าของบ้านส่วนใหญ่ที่ไม่ได้รับรู้ว่ามีกฎหมายข้อนี้อยู่ จึงอาจพลั้งเผลอไม่ได้เอะใจเตรียมช่องให้เหล็กดัดมีทางหนีไฟได้ ซึ่งอาจนำมาสู่ปัญหาในภายหลัง
ซึ่งกรณีที่เจ้าหน้าที่มาเจอะเจอแล้วสั่งให้ทำช่องเพิ่มเติมนั้นเป็นปัญหาเล็กน้อยมาก และถ้าเจ้าหน้าที่ทำเช่นนั้นจริง ก็นับว่ามีความห่วงใยกังวลในชีวิตเราอย่างดียิ่ง แต่ปัญหาที่หนักหน่วงและอันตรายที่สุดคือ เมื่อเกิดเพลิงไหม้ขึ้น จะทำให้เกิดอันตรายถึงชีวิตต่างหาก
อันที่จริงถึงไม่มีกฎหมายกำหนดก็ควรคิดถึงเรื่องนี้กันไว้ก่อนด้วยซ้ำ วันนี้จึงขอนำกฎหมายมาบอกย้ำว่า นอกจากความปลอดภัยที่ต้องการป้องกันบุคคลไม่พึงประสงค์เข้ามาภายในบ้าน ก็อย่าลืมความปลอดภัยอีกด้านที่เหลือทางหนีทีไล่ให้เราหนีออกจากบ้านได้เมื่อเกิดอัคคีภัยด้วยอีกทาง
อย่างที่โบราณว่าไว้ "โจรปล้นสิบครั้ง ไม่เท่าไฟไหม้ครั้งเดียว"
จากใจ
ZmyHome
ฝากกดแชร์เป็นกำลังใจด้วยนะครับ
อ่านเพิ่มเติมเรื่องอัคคีภัย >>
- Smoke, Heat Detector เตือนก่อนวายวอด
- ระยะร่น 6 เมตรรอบตึกนั้นสำคัญไฉน ไฟไหม้แล้วจะรู้
- ไฟไหม้บนตึกสูง ควรทำอย่างไร?