ประตูไม้บวมปิดไม่ได้ ก็แค่ไสออก.. แต่ไสออกอย่างไรให้ถูกวิธี?
อาการบวมของประตูหน้าต่างไม้นี้เป็นได้ตั้งแต่ระดับไม่ถึงมิลลิเมตร จนถึงระดับสองสามมิลลิเมตร ขึ้นอยู่กับคุณภาพของไม้ และการเผื่อระยะตั้งแต่เริ่มติดตั้งบาน ซึ่งหากเกิดขึ้นพร้อมกับการโก่งตัวของไม้อาจทำให้ประตูหน้าต่างขยายตัวขึ้นมาก อันเนื่องมาจากบานกรอบไม้ (โดยเฉพาะตรงกลางบาน) โก่งตัวแยกออกมาจากบาน
อาการนี้ดูเหมือนแก้ได้ไม่ยาก ซึ่งอาจต้องใช้เครื่องมือช่างเล็กน้อย เช่นกบไสไม้หรือสิ่ว สกัดบานไม้ส่วนที่บวมติดวงกบออกไป เท่านี้ก็เหมือนว่าบานไม้ก็น่าจะกลับมาใช้งานได้ดังเดิม
แต่... เรื่องอาจไม่ง่ายขนาดนั้น โดยเฉพาะสำหรับบานที่บวมมาก (เช่นบวมออกมาระยะประมาณ 1-3 มิลลิเมตรตลอดแนว) และเป็นบานประตู ซึ่งการไสที่ดูเหมือนง่ายที่สุดคือไสมันตรงสันประตูฝั่งที่ปิดเปิดหรือมีลูกบิดติดตั้งอยู่ได้โดยตรง ซึ่งเหตุเนื่องมาจากการติดตั้งลูกบิดบานประตู ต้องการความกว้างของกรอบบานมาเป็นระยะติดตั้งลูกบิด การไสประตูด้านที่ติดตั้งลูกบิดออกไป จะทำให้กรอบบานฝั่งลูกบิดเหลือน้อยลง ระยะการติดตั้งลูกบิดที่คลาดเคลื่อนไป 2-3 มิลลิเมตร อาจจะทำให้เกิดปัญหาการเปิดปิดได้ ฉะนั้นหากประตูมีอาการบวมปิดไม่ลงทั้งบาน จึงแนะนำว่าควรจะไสบานกรอบฝั่งที่ติดบานพับจะดีกว่า
แน่นอนว่าการไสปรับขนาดบานฝั่งบานพับนั้นยุ่งยาก เพราะต้องถอดประตูทั้งบานออกมา ไสปรับระดับทั้งบาน อีกทั้งต้องใช้สิ่วบากร่องบานพับใหม่ ช่างที่มักง่ายจึงอาจจะไสกรอบบานฝั่งลูกบิดเอาดื้อ ๆ เพราะประหยัดแรง ประหยัดขั้นตอน แต่อาจทำให้บานประตูบานนั้นไม่สมบูรณ์
อย่างไรก็ตาม ถ้าเกิดบานประตูบวมและปิดไม่สนิทเพียงบางส่วนของบาน หรือในกรณีที่เป็นบานหน้าต่างที่ไม่ต้องมีการติดตั้งลูกบิดหรืออุปกรณ์ล็อกที่ต้องการระยะบานกรอบเอาไว้ติดตั้ง การใช้สิ่วหรือกบไสแต่งเพียงบางส่วนของบานกรอบฝั่งลูกบิดหรือมือจับเปิดปิดก็พอรับได้ครับ
แน่นอนว่าการแก้ไขที่ถูกที่ควร มักต้องลงมือลงแรงมากกว่าปกติ แต่ก็เป็นสิ่งที่ควรทำและเป็นสิ่งที่พิสูจน์ได้ว่าช่างมีประสบการณ์และมีจิตวิญญาณของช่างหรือไม่
จากใจ
ZmyHome
ฝากกดแชร์เป็นกำลังใจด้วยนะครับ