'ซีพี'พลิกมักกะสัน ปั้นซุปเปอร์ทาวเวอร์ 120 ชั้นสูงสุดในไทย
ที่ดินมักกะสัน 140 ไร่ ของการรถไฟแห่งประเทศไทย(รฟท.) กำลังพลิกโฉม กลายเป็นเมืองไฮสปีดเทรน ประตูบานแรกเปิดรับคนทั่วโลกเข้าพื้นที่ โดยใช้เส้นทางรถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบิน (ดอนเมือง-สุวรรณภูมิ-อู่ตะเภา) แม่เหล็กสำคัญเชื่อมระหว่างเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออกหรืออีอีซี และพื้นที่ชั้นในกรุงเทพมหานครเข้าด้วยกัน ภายหลัง เครือเจริญโภคภัณฑ์หรือกลุ่มซีพี ผู้รับสัมปทานคู่สัญญา รฟท.รับมอบพื้นที่ทั้ง 3 ส่วนและเข้าพื้นที่ภายในวันที่ 24 ตุลาคมนี้ ประกอบด้วยพื้นที่ ไฮสปีดฯ, แอร์พอร์ตลิงค์และที่ดินมักกะสัน ติดสถานีแอร์พอร์ตลิงค์ ขุมทรัพย์ขนาดใหญ่ของ รฟท.ที่จะสร้างมูลค่ามหาศาลให้ทั้งสองฝ่ายและกระจายความเจริญไปยังชุมชนรอบข้าง
รายงานข่าวจากรฟท.ระบุว่า นอกจากบริษัท เอเชีย เอรา วัน จำกัด บริษัทในเครือเจริญโภคภัณฑ์หรือกลุ่มซีพี จะมีภารกิจหลักพัฒนารถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบิน แล้วยังต้องพัฒนาที่ดินมักกะสัน ตามสัญญาเช่า 50 ปี มูลค่า 50,000 ล้านบาท ที่กลุ่มซีพีจะต้องชำระค่าเช่าทั้งหมดให้ รฟท.ทันทีภายหลังจากส่งมอบพื้นที่
แผนพัฒนา กลุ่มซีพี ต้องการสร้างอัตลักษณ์บนที่ดินมักกะสันตามที่เคยประกาศไว้ รูปแบบซุปเปอร์ทาวเวอร์ ตึกสูงที่สุดในประเทศไทย ที่ความสูง 550 เมตร หรือ 120 ชั้น พื้นที่ใช้สอยไม่ต่ำกว่า 1-2 ล้านตารางเมตร ขณะเดียวกันยังต้องกันพื้นที่เป็นพื้นที่สีเขียวปอดขนาดใหญ่ไม่ต่ำกว่า 50 ไร่ ก่อสร้างทางเชื่อมจากทางสาธารณะเข้าโครงการบริเวณถนนอโศก ก่อสร้างอาคารผู้โดยสารเชื่อมสถานีไฮสปีด เจาะอุโมงค์เชื่อมต่อรถไฟฟ้าสายสีน้ำเงิน สถานีเพชรบุรี และสถานีไฮสปีดฯ
แหล่งข่าวจากกทม. ระบุว่า ทราบว่า กลุ่มซีพีจะพัฒนาซุปเปอร์ทาวเวอร์ตึกสูงที่สุดในไทย แลนด์มาร์คใหม่ที่จะดึงคนเข้าตัวอาคารด้วยไฮสปีดฯ ซึ่งจะมีการยื่นขออนุญาตสิ่งแวดล้อมหรืออีไอเอ ก่อนขออนุญาตปลูกสร้างอาคาร เมืองมักกะสันจะมีทั้งโรงแรม อาคารสำนักงาน ค้าปลีก เซอร์วิสอพาร์ตเมนต์ มีพื้นที่สีเขียวขนาดใหญ่ มีความทันสมัยด้านเทคโนโลยี ไม่ต่างจากโครงการวัน แบงค็อก บนถนนพระราม 4 ของเจ้าสัวเจริญ สิริวัฒนภักดี
ย้อนไปช่วงเซ็นสัญญาไฮสปีดกับ รฟท. (24 ต.ค.62) นายศุภชัย เจียรวนนท์ ประธานคณะผู้บริหาร กลุ่มซีพียืนยันว่าจะเนรมิตพื้นที่นี้ให้มีพื้นที่ใช้สอยมากถึง 2 ล้านตารางเมตร มากกว่าที่รฟท.กำหนด ถึง 2 เท่าตัว มูลค่าลงทุน 1.4 แสนล้านบาท โดยเน้นเป็นศูนย์กลางช็อปปิ้งโลก สถานพยาบาลที่มีความเป็นเลิศทั้งด้านการบริการและเทคโนโลยีชั้นสูง อีกทั้งยังเป็นแหล่งรวมของความบันเทิง ศูนย์การประชุมระดับนานาชาติ เป็นจุดหมายปลายทางของนักท่องเที่ยว นักธุรกิจ แน่นอนว่าต้องลงทุนสูงเพื่อออกแบบสถาปัตยกรรมเพื่อเป็นแม่เหล็กสะกดคนทั้งโลก
คนในแวดวงอสังหาริมทรัพย์ระบุว่า ที่ดินแปลงมักกะสัน เป็นลีสโฮลด์เช่าระยะยาว ตั้งอยู่กลางใจเมืองล้อมรอบด้วยรถไฟฟ้า มีคอนโดมิเนียม แหล่งงาน เกิดขึ้นหนาแน่น จึงต้องพัฒนาเป็นเมืองช็อปปิ้ง ศูนย์การประชุม โรงแรม รองรับนักท่องเที่ยว ที่สามารถเดินทางถึงสนามบินได้อย่างสะดวกรวดเร็วโดยรถไฟความเร็วสูง อีกทั้งคนทำงานและนักธุรกิจที่เดินทางไปกลับยังเมืองอีอีซี ขณะราคาที่ดินทะลุ 1 ล้านบาทต่อตารางวา เพราะมีเมืองขนาดใหญ่ มีไฮสปีดฯ รถไฟฟ้า และการพัฒนาพื้นที่โดยรอบอย่างต่อเนื่องได้แก่ อโศก-เพชรบุรีตัดใหม่-รัชดาฯ-พระราม 9 เป็นต้น
“ฐานเศรษฐกิจ”สำรวจตึกที่สูงในประเทศไทยซึ่งบริษัทอสังหาริมทรัพย์ขนาดใหญ่มักใช้เป็นกลยุทธ์สร้างจุดหมายปลายทางเข้าพื้นที่ ปัจจุบันพบว่าตึกสูงที่สุดในไทย ได้แก่ แมกโนเลียส์ วอเตอร์ฟรอนท์ เรสซิเดนเซส แอท ไอคอนสยาม ถนนเจริญนคร เขตคลองสาน ที่ความสูง 317.95 ม. 70 ชั้น แซงหน้าตึกมหานคร (คิงเพาเวอร์มหานคร) ย่านบางรักที่ 314 เมตร
ตึกที่ประกาศตามมาว่าจะเป็นตึกที่สูงที่สุดอยู่ระหว่างก่อสร้าง คือ โครงการ แอสเซ็ทเวิลด์ทาวเวอร์ แอท เอเชียทีค เดอะริเวอร์ฟร้อนท์ ถนนเจริญกรุง โรงแรมสูง 450 ม. 100 ชั้น เริ่มสร้างปี 2565 และ เดอะซิกเนเจอร์ทาวเวอร์แอทวันแบงค็อก พระราม 4 ที่ความสูง 437.03 ม. 92 ชั้น เปิดปี 2566 ซึ่งทั้ง 2 โครงการเป็นของเจ้าสัวเจริญ
สุดท้ายมักกะสันคอมเพล็กซ์ที่ดินรถไฟฯของกลุ่มซีพี ก็ล้มแชม์จนได้ที่ความสูง 550 เมตร 120 ชั้น แต่หากโครงการซุปเปอร์ทาวเวอร์ แอท เดอะแกรนด์ พระราม 9 ของ บริษัท จี แลนด์ พร็อพเพอร์ตี้ จำกัด ที่กลุ่ม เช็นทรัลถือหุ้นใหญ่ ไม่พับแผนเสียก่อน ตึกนี้จะสูงที่สุดในไทยที่ 615 เมตร 125 ชั้นทันที ขณะบริษัท สหพัฒนาอินเตอร์โฮลดิ้ง จำกัด (มหาชน) ที่ประกาศเมื่อไม่นานมานี้ว่า จะสร้างตึกคิงบริดจ์ทาวเวอร์ บนถนนพระราม 3 สูงที่สุดในไทยอีกราย แต่เมื่อตรวจสอบแล้วพบว่า ความสูงอยู่ที่เพียง 236.8 เมตรเท่านั้น
ที่มา : หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ
ภาพประกอบ : โครงการ Life Asoke Hype